เอ๊ะ ยังไง! เศรษฐกิจไทยฟื้น แต่ขาดแรงงานต่างด้าว?

อย่างที่ผมเขียนเกริ่นไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เศรษฐกิจโลกที่คาดกันว่าทรุดหนักเหลือเกินจากผลพวงการระบาดของเจ้าโควิด-19 อาจจะฟื้นได้เร็วกว่าที่คิดไว้

เพราะเริ่มส่อแววการฟื้นตัวขึ้นมาแล้วที่สหรัฐอเมริกาจนถึงขนาดธนาคารกลางสหรัฐฯ มั่นใจว่าของเขาฟื้นแน่ จึงตัดสินใจชะลอโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการเงินลงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ในขณะที่ของบ้านเราพอลุงตู่ตัดสินใจเปิดประเทศก็เริ่มมีข่าวดีด้านเศรษฐกิจตามมา…โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างๆ เริ่มกระเตื้องขึ้นจากการสำรวจของหอการค้าไทย

แต่ในขณะที่กำลังจะรู้สึกดีใจว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวนั่นเอง ผมก็อ่านเจอข่าวใหญ่ข่าวหนึ่งจากหน้าเศรษฐกิจ ไทยรัฐ ซึ่งอ่านจบแล้วก็รู้สึกฉงนฉงายจนต้องอุทานคำว่า “อ้าว! ไหงงั้น” ออกมาหลายครั้ง

เพราะแทนที่ผลของการฟื้นตัวจะเป็นผลดีแก่คนงานไทย หรือแรงงานไทยโดยทั่วไป…กลับจะเป็นผลดีแก่แรงงานต่างด้าวไปเสียนี่

หน้าเศรษฐกิจไทยรัฐรายงานถึง “ปัจจัยเสี่ยง” หรือข้อห่วงใยของการเปิดประเทศ และการที่เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัว จากการสัมภาษณ์ท่านรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คุณ เกรียงไกร เธียรนุกุล สรุปข้อใหญ่ใจความได้ว่า

ท่านมีความห่วงใย หรือกังวลใจใน 3 เรื่องด้วยกัน! ได้แก่ เรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นมาก เรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนลงอีก และเรื่องการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่ค่อนข้างรุนแรง

ที่ผมอ่านแล้วติดใจเป็นพิเศษจนอดมิได้ที่จะนำมาเขียนถึง และปรารภกับท่านผู้อ่านในวันนี้คือ หัวข้อที่ว่าด้วยเรื่องการ ขาดแคลนแรงงานต่างด้าว นั่นแหละครับ

ท่านรองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า จากผลกระทบโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศตนเองเป็นจำนวนมาก และบางส่วนยังไม่กลับมา

ในขณะที่ภาคส่งออกที่กำลังจะฟื้นตัวที่ใช้แรงงานมากๆ ในกระบวน การผลิต เช่น อุตสาหกรรมอาหาร ล้วนต้องการแรงงาน (ต่างด้าว) เพิ่มขึ้น…ควบคู่ไปกับการเปิดประเทศ ก็เป็นผลทำให้ความต้องการแรงงาน (ต่างด้าว) ในธุรกิจท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ท่านประมาณการว่า ประเทศไทยขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในขณะนี้ ถึงประมาณ 800,000 คน แบ่งเป็นภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรมประมาณ 500,000 คน และภาคธุรกิจท่องเที่ยวอีกประมาณ 300,000 คน

หากแรงงานต่างด้าวกลับเข้ามาทำงานไม่ทันกับความต้องการจ้างงาน ก็จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจที่กำลังฟื้นตัว…ท่านรองประธานฯสรุป

จะไม่ให้ผมน้อยใจแทนแรงงานไทยได้อย่างไรล่ะครับ…เพราะแทนที่การฟื้นตัวจะเป็นประโยชน์โพดผลแก่แรงงานไทย ซึ่งก็ตกงานเป็นอันมาก…กลายเป็นว่ากลับเป็นผลดีแก่แรงงานต่างด้าวไปเสียนี่

ต่างกับเหตุการณ์เมื่อปี 2528-2529 ยุค “ป๋าเปรม” กับ “ปู่สมหมาย” ลดค่าเงินบาทที่ ดร.โกร่ง ช่วยวางฤกษ์ให้อย่างที่เราคุยกันไปเมื่อวันก่อน

ทันทีที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวใน พ.ศ.โน้น แรงงานไทยจากชนบท ทั่วประเทศต่างก็ได้งานทำและหลั่งไหลมาทำงานในโรงงานต่างๆ เต็มไปหมด

รวมทั้งอีกหลายๆ หมู่บ้านที่ต่างจังหวัดต่างก็หันมาระดมรับจ้างเย็บผ้าส่งออกที่มีออเดอร์มาจากต่างประเทศ จนโรงงานใน กทม.เย็บไม่ไหวต้องไปจ้างชาวบ้านที่ ตจว.ช่วยเย็บเป็นกำลังเสริม

เห็นแล้วก็ชื่นใจว่าการลดค่าเงินบาทครั้งนั้นเกิดผลประโยชน์กระจายไปถึงประชาชนชาวไทยในทุกระดับจริงๆ

แต่ยุคนี้พอโควิดจะซาลง เศรษฐกิจไทยจะฟื้นแต่พี่น้องแรงงานต่างด้าวกลับจะได้รับประโยชน์ซะงั้น

ผมก็ได้แต่หวังว่างานเหล่านี้เป็นงานส่วนเกินที่คนไทยเราไม่ยอมทำแล้วจริงๆ…และยอมจะตกงานต่อไป หากไม่ได้งานอย่างที่หวังไว้

อย่าให้ทิศทางการพัฒนาประเทศยุคใหม่กลายเป็นว่า “คนไทยตกงาน” แต่ “คนต่างด้าว” ได้งานเสียก็แล้วกัน

หมายถึงว่าพวกงานดีๆ หรืองาน “ไฮเทค” ต่างๆ คนไทยเราก็ไม่สามารถทำได้ กลายเป็นคนต่างด้าวระดับมันสมองมาทำซะหมด

ในขณะที่งาน “โลว์เทค” คนไทยก็ทำไม่ได้ซะอีก ต้องยกให้แรงงานต่างด้าวไปถึง 8 แสนตำแหน่งอย่างที่เป็นข่าว

ตกลงแรงงานไทยจะทำอะไรกันล่ะครับ? เนี่ย?

“ซูม”

ข่าว, เศรษฐกิจไทย, แรงงาน, ต่างด้าว, ตกงาน, เปิดประเทศ, ซูมซอกแซก