คนไทยกับ “นายกรัฐมนตรี” ไฉนรักกันแค่ “8 ปี” เท่านั้น?

ตลอดสัปดาห์ที่แล้วมีรายงานข่าวว่าฝ่ายค้านกำลังวางแผนจะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความมาตรา 158 วรรคสี่ของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าด้วยการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบิ๊กตู่

เพราะหลายๆ คนบอกว่าอ่านมาตราและวรรคที่ว่านี้แล้วไม่ค่อยชัดเจนว่าการดำรงตำแหน่งรวมกันที่กำหนดไว้ “ไม่เกิน 8 ปี” นั้นจะเริ่มนับของบิ๊กตู่ตั้งแต่เมื่อไรดี? เนื่องจากที่เขียนไว้อ่านแล้วยังมีปัญหา

ถ้านับย้อนไปถึงวันที่บิ๊กตู่เป็นนายกฯ ตั้งแต่ 2557 ในยุค คสช. ละก็ท่านจะครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม ปีหน้า 2565 นี่แหละ…และจะไปต่ออีกไม่ได้

แต่ถ้านับตั้งแต่วันเลือกตั้งใหม่หลังใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งบิ๊กตู่ได้รับเลือกจากรัฐสภาให้เป็นนายกฯ เมื่อ 9 มิถุนายน 2562 ท่านก็ยังมีเวลาเหลืออีกเยอะ ครบวาระ 4 ปี แล้วก็ยังมาเป็นต่อได้อีก

ไม่ว่าการตีความทางกฎหมายจะเป็นอย่างไร แต่ข้อเท็จจริงของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบิ๊กตู่นั้นก็คือ 8 ปีแน่นอน ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ดังกล่าว เพราะต้องนับตั้งแต่วันที่ท่านเป็นครั้งแรก

ซึ่งเมื่อพิจารณาตาม ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น ทฤษฎีหนึ่งที่ผมเองก็เคยหยิบมาเขียนถึงอยู่เสมอ เพื่อเตือนรัฐบาลไทยที่อยู่ในตำแหน่งนานๆ ให้ระวังกันไว้ให้มากๆ ก็รู้สึกเป็นห่วงท่านไม่น้อยเลย

ทฤษฎีว่าด้วย “อรรถประโยชน์ถดถอย” หรือ Law of Dimi nishing Utility ในภาษาอังกฤษนั่นเองครับ

เป็นทฤษฎีที่นำมาอธิบายให้เห็นว่า “อรรถประโยชน์” หรือพูดง่ายๆ ว่า “ประโยชน์” หรือ “ความพึงพอใจที่จะใช้ประโยชน์” ในสินค้าหรือบริการใดๆ ก็ตาม จะค่อยๆ ลดลงเมื่อใช้ไปนานๆเข้า

ทฤษฎีนี้บอกว่า ในการบริโภคสินค้าชิ้นแรก หรือใช้บริการครั้งแรก อรรถประโยชน์จะสูงปรี๊ดมาก…แต่พอเริ่มบริโภคหรือใช้บริการครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ไปเรื่อยๆ ความพึงใจก็จะลดลงตามลำดับ

จนถึงที่สุดหากยังใช้ไปเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่เราไม่อยากจะกินหรือไม่อยากจะใช้สินค้าชิ้นนั้นเท่านั้น…ยังอยากจะขว้างปาหรือโยนทิ้งไปเสียไกลๆ ด้วยความไม่พอใจ เพราะ “ประโยชน์” หรือความ “พึงใจ” ทั้งหลายเข้าสู่โหมด “ติดลบ” ไปเรียบร้อยแล้ว

ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือผู้นำของชาติใดๆ ก็ตามก็เหมือนสินค้าและบริการชิ้นใหม่…ชิ้นหนึ่งนั่นเอง

ตอนท่านมาเป็นใหม่ๆ จะด้วยวิธีไหนก็เถอะ มักจะเป็นที่รักที่ชอบของประชาชนทุกๆ ชาติไปน่ะแหละ เรียกว่า อรรถประโยชน์หรือความพึงใจ “สูงปรี๊ด”

แต่พอปี 2 ปี 3 ปี 4 อรรถประโยชน์ก็จะค่อยๆ ลดลงตามทฤษฎี

แม้จะยังไม่เคยมีการคำนวณว่าระยะเวลาเบื่อหน่ายสูงสุดจนถึงขั้นติดลบนั้นจะเป็นเวลากี่ปี…แต่หลายประเทศมักจะใช้ 8 ปี สมัยละ 4 ปี เป็นได้ 2 สมัย คือ 8 ปี เป็นต้น

ของเราเองก็รับช่วงเวลา 8 ปีของเขามาใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งผมเองก็เห็นด้วย เพราะเท่าที่สังเกต หรือติดตามทิศทางการเมืองของประเทศไทย โดยมิได้ทำวิจัยอะไรมากนัก

ผมพบว่าพอถึงปีที่ 5 ที่ 6 คนจะเริ่มเบื่อแล้ว และจะเบื่อมากๆ ตอนใกล้ 8 ปี หรือเกิน 8 ปี

ตอนผมเด็กๆ จำได้ว่า จอมพล ป. ท่านเป็นนายกฯ หลายหน รวมแล้ว 9 ปีกว่า…ปรากฏว่าปีสุดท้ายของท่านคือ พ.ศ.2500 ผู้คนเบื่อมากหันมาเชียร์จอมพลสฤษดิ์ยกใหญ่…ทำให้จอมพล ป. ต้องถูกปฏิวัติจนต้องหนีออกนอกประเทศ

ผมโตขึ้นมาเป็นหนุ่มในยุคของ จอมพลถนอม กิตติขจร ปรากฏว่า ท่านยื้อจนเกิน 8 ปีมาจนเกือบ 9 ปี ในที่สุดก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516…จนท่านต้องถูกขับไล่ไปต่างประเทศเช่นกัน

ดังนั้น มาถึงยุค ป๋าเปรม แม้จะมีผลงานดี แก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมได้ดี รวมทั้งยังวางรากฐานไว้หลายอย่าง แต่ท่านรู้แกวพอเกิน 8 ปีมาได้ 154 วัน ท่านก็ประกาศล้างมือในอ่างทองคำทันที

ผมเองความจริงก็เอาใจช่วยบิ๊กตู่ เพราะยังมองไม่เห็น ณ นาทีนี้ว่าจะมีใครขึ้นมาแทนท่าน…แต่พอมานึกว่าระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรี ตามข้อเท็จจริงของท่านจะครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคมปีหน้า ผมก็ชัก ไม่สบายใจเสียแล้วซี

ผลการตีความจะออกมาอย่างไรก็ช่างเถอะ…แต่ตามทฤษฎีอรรถประโยชน์ถดถอยนั้น 8 ปีเนี่ย ติดลบเยอะแล้วนะครับลุง.

“ซูม”

ข่าว, นายกรัฐมนตรี, รัฐธรรมนูญ, ดำรง, ตำแหน่ง, ไม่เกิน 8 ปี, ซูมซอกแซก