เสียดายคำว่า “ประชารัฐ” ไม่เป็นเช่น “แผน 8” วาดหวัง

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐฉบับล่วงหน้าวันจันทร์ที่ 13 กันยายน พาดหัวตัวยักษ์ไว้ว่า “เด็ก พปชร. ระส่ำระสาย”

สะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับพรรคพลังประชารัฐหรือ พปชร. หลังจากที่มีข่าวใหญ่ “บิ๊กตู่” สั่งปลดเลขาธิการพรรคและเหรัญญิกพรรคออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยกระทรวงสำคัญเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

เหตุการณ์ของพรรคพลังประชารัฐจะเป็นอย่างไร? จะจบลงแบบไหน? โปรดติดตามข่าวกันเอาเองนะครับ

ที่ผมจะเขียนวันนี้ไม่เกี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐโดยตรงหรอกครับ แต่เกี่ยวกับคำว่า “ประชารัฐ” ที่ผมเคยเขียนไว้แล้วว่าเป็นคำที่ผมมีส่วนเล็กๆ น้อยๆ ในการช่วยทำคลอดให้เกิดใหม่…จึงรู้สึกรักและชื่นชมในคำนี้มาตลอด

คำว่า “ประชารัฐ” ได้รับการกล่าวขวัญถึงครั้งแรกในการอภิปรายของการประชุมเพื่อจัดเตรียมนโยบายสำหรับ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 พ.ศ.2540-2544”

โดยที่ประชุมได้เสนอให้แผน 8 กำหนดวิธีการพัฒนาประเทศเสียใหม่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศอย่างเต็มที่ไม่ใช่ปล่อยให้รัฐทำไปเพียงฝ่ายเดียวและประชาชนก็คอยเป็นฝ่ายรับอยู่ฝ่ายเดียว รัฐจะยัดอะไรมาให้ก็ต้องรับไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบ

ต่อไปนี้ให้ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมคิดร่วมทำไปด้วยกันตั้งแต่เริ่มแรกและให้เรียกวิธีการหรือกระบวนการนี้ว่า “ประชารัฐ” ซึ่งเป็นคำที่มีอยู่ในเนื้อร้องเพลง ชาติไทย มานานแล้ว นั่นก็คือเนื้อร้องท่อนที่ว่า…“เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน” ที่เราร้องกันจนคุ้นเคยนั่นเอง

ผมจำได้ว่า ท่าน ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการสภาพัฒน์ใน พ.ศ.ดังกล่าว ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมสัมมนาครั้งนั้น หันมาสั่งการผม ซึ่งเป็นเลขานุการของที่ประชุมให้จดไว้ทันทีที่การอภิปรายจบลง

ที่ผมบอกว่าผมมีส่วนในการทำคลอดคำว่า “ประชารัฐ” อยู่บ้าง ก็เพราะเป็นคนจดบันทึกการประชุมนี่แหละ

แต่ก็น่าเสียดายที่ปี พ.ศ.2540 ซึ่งเป็นปีแรกของการใช้แผน 8 นั้นเองได้เกิด “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ขึ้นก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยอย่างมหาศาล ทำให้รัฐบาลในช่วงนั้นต้องหันไปแก้ปัญหาเศรษฐกิจจนไม่ค่อยได้แก้ปัญหาสังคมตามข้อเสนอของแผน 8 สักเท่าไรนัก

การพัฒนาคนหรือทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นคนเก่ง คนดี เพื่อเป็นกำลังสำคัญของชาติ และนโยบายประชารัฐ หรือการพัฒนาแบบรัฐจับมือกับประชาชน ชุมชน และภาคเอกชนต่างๆ จึงแน่นิ่งอยู่ในแผน มิได้มีการนำมาปฏิบัติแต่อย่างใด

จนกระทั่งเกือบ 20 ปีต่อมาในช่วงปลายๆ ของยุครัฐบาล คสช. ของ “บิ๊กตู่” (ประมาณปี 2560) คำนี้จึงกลับมาฮิตอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลบิ๊กตู่กำหนดให้มีนโยบายและ โครงการประชารัฐ ขึ้น

ให้ภาครัฐ-ภาคเอกชน และภาคประชาชนหรือชุมชนจับมือกันพัฒนาในด้านต่างๆ รวม 12 ด้าน

ผมติดตามข่าวอยู่ทางนี้ก็รู้สึกดีใจที่ทราบว่าเด็กที่ผู้ช่วยหมอตำแยอย่างผมเคยช่วยทำคลอดยังไม่ตาย…และทำท่าจะเติบโตอย่างเข้มแข็ง แถมรัฐบาลบิ๊กตู่เองก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ ถึงขนาดให้เตรียมจัดตั้งพรรคที่นำคำว่าประชารัฐไปใช้โดยตรงเรียกว่า “พรรคพลังประชารัฐ”

ตอนตั้งใหม่ๆ ก็ไม่เลวนะครับ มีทีม 4 กุมาร ไปเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงเต็มที่และหลายท่านก็เป็นนักวิชาการเต็มตัว มีความรู้ความเข้าใจในคำว่า “ประชารัฐ” อย่างถ่องแท้

บางท่านทันสมัยมากเป็นผู้นำนโยบาย 4.0 มาใช้จนคำว่า 4.0 กลายเป็นคำฮิตของประเทศไทยอยู่หลายปี

ต่อมาก็มีการเลือกตั้งและมีพรรคหลายๆพรรคมาร่วมกันเป็นรัฐบาล โดยมี “พรรคพลังประชารัฐ” เป็นแกนกลาง

แรกๆ ก็ดูดี เพราะทั้ง 4 กุมาร ที่เข้าใจเรื่องประชารัฐและ 4.0 ยังอยู่ครบ แต่แผล็บเดียวเกิดการเปลี่ยนแปลง กลุ่มนี้หลุดจากอำนาจไปหมด ทำให้พรรค พปชร. ยุคหลังๆ แทบไม่เหลือนโยบายดีๆ เอาไว้เลย

คำว่า 4.0 น่าจะตายสนิท เพราะไม่ได้ยินผู้คนพูดถึง…ส่วนคำว่าประชารัฐ ผมไม่แน่ใจว่ามีอะไรเหลืออยู่บ้าง ว่างๆจะลองไปตรวจสอบอีกสักครั้ง

สรุปก็คือ…ในที่สุดคำว่า “ประชารัฐ” ก็ยังเป็นคำที่น่าเสียดายอยู่ดี ทำท่าจะได้เกิดในแผน 8 ก็ไม่ได้เกิด…ทำท่าจะเกิดใหม่และโตในยุค “บิ๊กตู่” ถึงขนาดมีนโยบายใหญ่และเอาไปตั้งเป็นชื่อพรรค

แต่ลงท้ายก็ทำท่าจะไปไม่รอดซะอีกจนได้เพราะการเลือกตั้งคราวหน้า “พลังประชารัฐ” จะกลายเป็นพรรคเล็กหรือเปล่าก็ไม่รู้ซี?

“ซูม”

ข่าว, การเมือง, ประชารัฐ, บิ๊กตู่, นโยบาย, ซูมซอกแซก