เปิดใจ “เจ้าสัวน้อย” ซีพี ร่วม “ฟื้นฟู” ประเทศหลังโควิด

เมื่อวานนี้ ผมเขียนถึงความเคลื่อนไหวทั้งของภาคราชการ และภาคธุรกิจเอกชนที่เตรียมตัว เตรียมการ รวมไปถึงการคิดโครงการเอาไว้ล่วงหน้าว่าเมื่อสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลงแล้วจะฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างไรบ้าง

ผมค้างเอาไว้โครงการหนึ่ง…ได้แก่ โครงการของ เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ซึ่งแถลงโดยคุณ ศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอใหญ่ของเครือ ซึ่งให้สัมภาษณ์คุณ วานิชหนุ่ม ไว้ในคอลัมน์ ตลาดนัดหัวเขียว ในไทยรัฐ เมื่อวันเสาร์ที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา

คุณศุภชัยย้ำว่า เครือซีพีในฐานะผู้ประกอบการที่มีความหลากหลายทางธุรกิจมากที่สุดในประเทศไทย และมีพนักงานกว่า 400,000 คน ได้เตรียมกลยุทธ์พร้อมเดินหน้าการลงทุนอย่างเต็มที่หลังวิกฤติโควิด

โดยจะเร่งขยายธุรกิจในต่างประเทศ และจับมือเป็นพันธมิตรกับผู้ประกอบการและธุรกิจอื่นๆในประเทศอย่างใกล้ชิด ใน 4 กลยุทธ์ที่สำคัญ

ได้แก่ 1.เร่งเครื่องการลงทุน 2.เร่งเครื่องการเดินหน้าบนเวทีโลก 3.ลดความซับซ้อนของโครงสร้างธุรกิจของเครือ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและความรวดเร็วในการดำเนินธุรกิจ และ 4.สร้าง แพลตฟอร์มทางธุรกิจ เพื่อขยายความร่วมมือกับธุรกิจประกอบการอื่นๆ ของไทย รวมถึงเกษตรกรจำนวน มากในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยดังกล่าวเข้าถึงตลาดต่างประเทศ

ในข้อที่ 4 นั้นเองที่คุณศุภชัยขยายความว่า จะเป็น “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” ในการส่งเสริมให้ เอสเอ็มอี และผู้ประกอบการธุรกิจอื่นๆพัฒนาศักยภาพไปพร้อมกับการเปิดประตูไปสู่โอกาสใหม่ๆเพื่อการเติบโตทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศในอนาคต

ผมขออนุญาตนำคำพูดของคุณศุภชัยมาลงอีกครั้งหนึ่งดังนี้

“เมื่อบริษัทใดก็ตามในเครือซีพีประสบความสำเร็จในต่างประเทศได้แล้วก็จะช่วยกลุ่มเอสเอ็มอีไทย ตลอดจนเกษตรกรและผู้ผลิตต่างๆให้ สามารถเข้าถึงตลาดต่างประเทศเหล่านั้นได้ด้วยเช่นเดียวกัน เป็นการเพิ่มศักยภาพและช่วยให้เข้าถึงตลาดซึ่งปกติแล้วจะมีแต่บริษัทใหญ่ๆที่สุดของไทยเท่านั้น ที่จะสามารถเข้าได้ (ดังนั้น แพลตฟอร์มแห่งโอกาส) จึงเป็นการปลดล็อกศักยภาพทางเศรษฐกิจใหม่อย่างมหาศาล”

แม้ผมจะยังนึกภาพไม่ออกว่าแพลตฟอร์มของท่านจะออกมาในรูปใด มีหน้ามีตา หรือรูปร่างลักษณะเป็นอย่างไร?

แต่เมื่ออ่านในรายละเอียดว่าแพลตฟอร์มที่ว่านี้จะเป็นการ เปิดโอกาส ให้แก่ เอสเอ็มอี นับหมื่นๆร าย และ ผู้ประกอบการไทย และ เกษตรกรไทย หลายแสนรายในการเข้าถึงตลาดสากล…ผมก็ขอให้กำลังใจล่วงหน้าและขอให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ

ผมดีใจที่คุณ ศุภชัย เจียรวนนท์ ในฐานะทายาทของท่านเจ้าสัว ธนินท์ เจียรวนนท์ ออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยตัวเองผ่านหน้าเศรษฐกิจไทยรัฐ ซึ่งมีผู้ติดตามอ่านจำนวนมหาศาลทั่วประเทศ

การให้สัมภาษณ์ของคุณศุภชัยจึงเท่ากับเป็นการประกาศ “สัญญาประชาคม” หรือการให้สัญญาไว้กับผู้อ่านไทยรัฐของเราดังกล่าว

แน่นอนในสังคมไทยเรานั้น บุคคลที่ประสบความสำเร็จหรือนักธุรกิจที่มีกิจการใหญ่โต หรือแม้แต่บุคคลที่มีชื่อเสียงใดๆก็ตามย่อมจะเข้าทำนอง คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ อยู่เสมอ

ในความสำเร็จของซีพีก็เช่นกัน ย่อมจะมีทั้งคนรักและคนไม่รัก… ดังจะเห็นได้จากการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงขัดแย้ง หรือบางครั้งก็ต่อต้านหลายครั้งหลายหน

ดังนั้นการให้สัมภาษณ์อย่างตรงไปตรงมาและการยืนยันอย่างมั่นเหมาะของคุณศุภชัยในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเป็นการให้สัญญาประชาคมว่า ซีพีพร้อมจะลงทุนและดำเนินการต่างๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย และช่วยเหลือนักธุรกิจรายเล็กรายน้อยของไทย

โดยส่วนตัวผมเองได้เขียนมาหลายครั้งแล้วว่าความเสียหายทางเศรษฐกิจของประเทศไทยจากการระบาดของโควิด-19 นั้นใหญ่หลวงนักจำต้องร่วมมือร่วมใจกันทุกฝ่ายในการแก้ไข

ถ้าจำไม่ผิดผมเองก็เคยเขียนขอร้อง “มหาเศรษฐี” ทั้งหลาย โดยเฉพาะท่านที่อยู่ในอันดับต้นๆ ที่นิตยสาร ฟอร์บส์ ประกาศชื่อเอาไว้จะต้องลงมาช่วยทั้งกายและใจและเงินลงทุนอย่างเต็มที่

เพราะนี่คือโอกาสในการตอบแทนพระคุณแผ่นดินไทยที่ดีที่สุด

ผมขอขอบคุณในเจตนาอันดีงามของเครือซีพีอีกครั้ง…และขอให้ “แพลตฟอร์มแห่งโอกาส” จงบังเกิดขึ้นและบรรลุผลอย่างจริงจังในที่สุดนะครับ.

“ซูม”

ข่าว, ซีพี, ฟื้นฟู, เศรษฐกิจ, ไทย, โควิก 19, มหาเศรษฐี, ซูมซอกแซก