ร้องเพลง “ผู้แพ้” ปลอบใจ ในวันยอด “โควิด” ทะลุล้าน

ขณะผมนั่งเขียนต้นฉบับวันนี้ ในช่วงบ่ายๆ ของวันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม 2564 นั้น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กรอบเช้าประจำวันพาดหัวข่าวว่า ยอดป่วยโควิด-19 สะสมของประเทศไทยเราทะลุ 1 ล้านอย่างเป็นทางการวันแรกแล้ว

โดยมียอดผู้ติดเชื้อใหม่ประจำวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม รวม 19,851 ราย ทำให้ยอดติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 นับแต่มีการพบผู้ติดเชื้อวันแรกมาจนถึงบัดนี้ (ศุกร์ 20 ส.ค.) เท่ากับ 1,009,710 ราย ทะลุหลัก 1 ล้านราย เป็นที่เรียบร้อย และเป็นอันดับที่ 34 ของโลก

ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตประจำวันศุกร์เท่ากับ 240 ราย ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตนับตั้งแต่มีการระบาดเป็นต้นมา ขึ้นไปอยู่ที่ 8,826 ราย เป็นอันดับที่ 51 ของโลก เมื่อนับจำนวนผู้เสียชีวิตรวมกัน

ผมจำได้ว่าเมื่อวันที่เราผ่านทะลุหลัก 1 หมื่นราย ผมได้หยิบมาเขียนเป็นเชิงปลอบใจและให้กำลังใจพี่น้องชาวไทยตลอดจนบุคลากรทางการแพทย์ หรือนักรบเสื้อขาวทั้งหลายให้สู้ต่อ

ครั้นเมื่อผ่านหลัก 1 แสนราย ผมก็หยิบมาเขียนอีก…และสาระก็คล้ายๆ กับตอนทะลุหมื่นรายนั่นแหละคือ ปลอบใจ ให้กำลังใจ และขอให้สู้ต่อไป โอกาสชนะอยู่ไม่ไกลนัก

ดังนั้น เมื่อเรายังไม่ชนะเพราะการติดเชื้อยังไม่หยุดและกลายเป็นว่า วันนี้เราทะลุ “หลักล้าน” ซะแล้ว ผมก็คงต้องทำหน้าที่บันทึกไว้อีกครั้ง

ทำให้ผมอดที่จะนึกย้อนหลังไปเมื่อ 30-40 ปีก่อนโน้นเสียมิได้…มีดาราตลกที่มาเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ท่านหนึ่ง ชื่อคุณ ดอกดิน กัญญามาลย์ เวลาที่ภาพยนตร์ของท่านสามารถโกยเกินได้ทะลุ 1 ล้านบาท วันแรก ท่านจะเหมาหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

เพื่อลงรูปของท่านขณะสวมวิก “หัวล้าน” แบบลิเก พร้อมกับตะโกนว่า ภาพยนตร์ของท่านได้ “1 ล้านแล้วจ้า” เรียกรอยยิ้มได้จากแฟนๆ หนังไทยทั่วประเทศ

แต่ยุคนี้…ล้านแล้ว จ้า…ในกรณีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมดังกล่าว คงไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีหรือสมควรที่จะเรียกรอยยิ้มแต่อย่างใด

มีแต่ความรู้สึกเศร้าใจสลดใจและเสียใจอย่างยิ่ง สำหรับญาติมิตรของผู้ที่ต้องเสียชีวิตไปเกือบ 9,000 ราย จาก 1 ล้านราย ที่ติดเชื้อ

เมื่อย้อนกลับไปดู ไทม์ไลน์…ก็ยิ่งรู้สึกใจหายมากขึ้น

เราเจอเชื้อโควิด-19 ครั้งแรกและประกาศอย่างเป็นทางการ เมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2563 เริ่มต้นด้วยเชื้อสะสม 35 ราย เป็นอันดับร้อยกว่ามากๆ ของโลก

ซึ่งเราก็รักษาอันดับร้อยกว่าๆ ไว้ได้ในอีก 8 เดือนต่อมา โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ยอดสะสมอยู่ที่ 3,569 รายเท่านั้น

ทว่าในช่วงปลายปี เราเริ่มมีการระบาดรอบ 2 ที่มาจากแรงงานต่างด้าวสมุทรสาคร ทำให้ในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ยอดติดเชื้อสะสมพุ่งขึ้นไปที่ 6,884 ราย และเริ่มจะมีเสียงบ่นกันแล้วว่า…หนักกว่าระลอกแรก

จากนั้นการติดเชื้อก็พุ่งไม่หยุด และเริ่มมีข่าวว่าเราเจอกับสายพันธุ์ใหม่ “เดลตา” ที่ในขณะนั้นเรียกกันว่าสายพันธุ์อินเดีย

ทำให้เราพุ่งจากประมาณ 7,000 ราย ในวันที่ 1 มกราคม 2564 เป็น 101,447 ราย หรือทะลุ 1 แสนราย เมื่อ 16 พฤษภาคม 2564 ดังที่ ผมบันทึกไว้ โดยใช้เวลาแค่ 4 เดือนครึ่งเท่านั้นเอง

จากนั้นยอดก็ยังกระฉูดจากทะลุ 1 แสนเป็นทะลุ 1 ล้าน โดยใช้เวลา 3 เดือนกับ 4 วัน…รวดเร็วหนักข้อเข้าไปอีก

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ความวุ่นวายต่างๆ ทั้งในด้านการสาธารณสุข, การเมือง, การสังคม และสารพัดเหตุการณ์ที่อยู่บนข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ทุกฉบับวันนี้ (กรุณาอ่านและสรุปกันเอาเองนะครับ)

ก็ไม่รู้จะปลอบใจหรือให้กำลังใจซึ่งกันและกันอย่างไรดี เพราะตอนเชื้อทะลุแสนเขียนปลุกปลอบและให้กำลังใจเอาไว้เสียดิบดี คิดว่าเราจะเอาชนะได้ กลับกลายเป็นติด “ทะลุล้าน” อย่างรวดเร็วซะงั้น

นึกถึงเพลงเก่าๆ ที่เคยร้องปลอบใจยามอกหัก หรือสิ้นหวังขึ้นมาได้ ชื่อเพลง “ผู้แพ้” ครับ ขับร้องโดยคุณ นริศ อารีย์ แต่งโดยท่าน โพธิรักษ์ แห่งสำนักสันติอโศก ตอนยังไม่ได้บวชเชียวนะเนี่ย

มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า “แพ้ไปทุกสิ่งอกเอ๋ย ไม่เหลืออันใดเลย ชะตาเอ๋ยช่างเลวทราม”

นี่ประเทศไทยเราจะแพ้ไปทุกสิ่งอกเอ๋ย–จริงๆ หรือเนี่ย…แพ้โควิด แพ้เศรษฐกิจ แล้วก็แพ้เด็กๆ “กาเหว่า” นั่นด้วย ปล่อยให้เขาป่วนเมืองกันอยู่ได้ทุกวัน–เฮ้อ!

“ซูม”

ข่าว, โควิด 19, เศรษฐกิจ, ยอดป่วย, เดลตา, ล้านแล้วจ้า, ซูมซอกแซก