คลาสสิก “ไพบูลย์ บุตรขัน” บันทึก “ลูกทุ่ง” สุด “คลาสสิก”

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อนหัวหน้าทีมซอกแซกเขียนไว้ในคอลัมน์วันเสาร์ “เสาร์สารพัน” ว่า ระหว่างเวิร์กฟรอมโฮมตามนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ” ของรัฐบาลนั้น หัวหน้าทีมเข้ายูทูบแก้เหงา ปรากฏว่าไปเจอวิดีโอบันทึกรายการที่ถูกใจอย่างมาก 2 รายการ

เป็นเพลงไทยๆ แต่บรรเลงโดยวงดนตรีคลาสสิก…ควบคุมวงเรียบเรียงเสียงประสานและ ขับร้องเองด้วยในบางเพลง โดย รศ.ดร.นรอรรถ จันทร์กล่ำ อาจารย์ประจำภาควิชาดุริยางค์ศิลป์ตะวันตก คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้ง 2 ชุด

ชุดแรก BSO : PLAY SUNTARAPORN นำเพลงเอกหลายเพลงของ วงสุนทราภรณ์ มาบรรเลงและขับร้องในสไตล์คลาสสิกโดยวง BSO หรือ Bangkok Symphony Orchestra ที่แฟนเพลงคลาสสิกรู้จักอย่างดียิ่งอยู่แล้ว

ชุดที่สอง เป็นบันทึกการแสดงสดคอนเสิร์ต “คลาสสิก ไพบูลย์ บุตรขัน” ณ หอแสดงดนตรี อาคารศิลปวัฒนธรรม สำนักบริหารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2563 หรือเมื่อประมาณปีเศษๆที่ผ่านมานี้เอง

ซึ่งหัวหน้าทีมก็ได้เขียนแนะนำไว้ในคอลัมน์ “เสาร์สารพัน” ว่า ถ้ามีเวลาอยากให้เข้าไปเปิดฟังกันบ้าง…รับรองถูกใจพวกเราชาว สว.ทั้งหลายแน่นอนทั้ง 2 ชุด

สำหรับชุดแรก BSO : PLAY SUNTARAPORN นั้น เป็นเพลงบรรเลงและขับร้องทั้งชุด บันทึกไว้ในลักษณะแผ่นเสียงหรือเทปจึงไม่มีภาพเคลื่อนไหวของนักร้องหรือการบรรเลงของวงดนตรีมาให้เราเห็นหน้าตา แต่ก็เป็นชุดที่โด่งดังมากเมื่อ 4-5 ปีก่อน หลังจากมีการเผยแพร่ CD เป็นครั้งแรก…หัวหน้าทีมซอกแซกจึงขออนุญาตข้ามไป ไม่นำมากล่าวถึงในรายละเอียดมากนัก

ที่จะนำมาขยายความวันนี้ได้แก่ ชุดที่ 2 บันทึกการแสดงสดคอนเสิร์ต “คลาสสิก ไพบูลย์บุตรขัน” นั่นเอง…เพราะไม่เคยรู้ข่าวมาก่อนว่ามีการแสดงชุดนี้ เมื่อค้นเจอเองอย่างไม่คาดฝันในยูทูบจึงตื่นเต้นมาก

ตื่นเต้นเพราะนึกไม่ถึงว่า รศ.ดร.นรอรรถ จันทร์กล่ำ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “วาทยกร” หรือผู้ควบคุมวงดนตรีคลาสสิกมือหนึ่งของ BSO และอีกหลายๆ วงจะสนใจเพลงลูกทุ่งและนำเพลงลูกทุ่งมาเรียบเรียงใหม่ สามารถบรรเลงในสไตล์คลาสสิกได้อย่างสุดไพเราะ

ยิ่งเมื่อได้ดูบันทึกการแสดงชุดนี้ ที่อาจารย์นรอรรถเป็นทั้งผู้ควบคุมวง และเป็นพิธีกรบรรยายความเป็นมาของแต่ละเพลงที่ครูไพบูลย์แต่งไว้…หัวหน้าทีมต้องขออนุญาตปรบมือให้ ดังๆกราวใหญ่เลยทีเดียวอาจารย์เล่าถึงประวัติความเป็นมาของแต่ละเพลงได้อย่างแคล่วคล่องและขึ้นใจแสดงถึงความรอบรู้และคุ้นเคยกับเพลงนั้นๆ…มิใช่เพิ่งจะมาท่องบท หรืออ่านบทที่เตรียมไว้แต่อย่างใดทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็นเพลง “มนต์เมืองเหนือ” ที่ครูไพบูลย์แต่งขึ้นเป็นเพลงแรกในชีวิตของท่านแล้วมอบให้ สมยศ ทัศนพันธ์ ขับร้องบันทึกแผ่นเสียงจนโด่งดัง เมื่อ พ.ศ.2494-2495 หรือแม้แต่เพลงรุ่นหลังๆ อย่าง “ขี้เหร่ก็รัก” ที่ครูไพบูลย์แต่งให้ ศรคีรี ศรีประจวบ ขับร้องล่าสุด

เพลงอื่นๆ ที่บรรเลงในคอนเสิร์ตครั้งนี้ มี “ค่าน้ำนม”, “ขวัญใจคนจน”, “สามหัวใจ”, “น้ำตาเทียน”, “แม่ศรีเรือน”, “แม้พี่จะขี้เมา”,“โลกนี้คือละคร”, “ยมบาลเจ้าขา” ฯลฯ ล้วนแต่ไพเราะเพราะพริ้งทั้งสิ้น และอาจารย์นรอรรถก็จะเล่าที่มาที่ไปเล็กๆ น้อยๆ ให้ทราบก่อนบรรเลงทุกๆ เพลงเช่นกัน

นักร้องมีทั้งรับเชิญและนักร้องประจำวงที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาของอาจารย์…เช่น สุเมธ องอาจ, พิจิกา จิตตะปุตตะ, ศรัณย์ คุ้งบรรพต, รัฐพงศ์ ปิติชาญ, ภัทราภา ภูมิภักดิ์ ฯลฯ เป็นต้น ร้องได้ดีทุกคน

มองย้อนกลับไป 80 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของการเริ่มนำดนตรีสากลมาขับกล่อมคนไทยทั้งบันทึกแผ่นเสียงและยกวงขึ้นแสดงบนเวทีอย่างเป็นเรื่องเป็นราวนั้น…ต้องยอมรับว่า… มีการแบ่งวงการเพลงออกเป็นชั้นๆ ตามชนชั้นของสังคมไทยใน พ.ศ.ดังกล่าวอย่างไม่เป็นทางการเอาไว้ด้วย

เพลง ตลาด ซึ่งต่อมาได้รับการเรียกให้ดูไพเราะหน่อยว่า เพลงลูกทุ่ง คือเพลงยอดนิยมของคนไทยในต่างจังหวัดทั่วประเทศและคนกรุงที่มีรายได้น้อยและอยู่อาศัยตามชุมชน แออัดต่างๆ

เพลง สุเทพ–ชรินทร์–นริศ อารีย์–สวลี ผกาพันธุ์ ฯลฯ ถือว่าเป็นเพลงของ คนชั้นกลาง มีรายได้สูงขึ้นมาหน่อย มีการศึกษาสูงขึ้นอีกหน่อยเรียกเพลงประเภทนี้ว่า “เพลงลูกกรุง”

จากนั้นจึงจะเป็นเพลง “สุนทราภรณ์” ซึ่งถือว่าเป็นเพลงของชนชั้นมีรายได้สูง มีการศึกษาสูง ร่ำเรียนระดับมหาวิทยาลัย ชอบเต้นรำ และชอบจัดงานบอลฉลองปริญญา ฯลฯ ถือว่าเพลงสุนทราภรณ์อยู่ในชั้นสูงสุดในบรรดาเพลงไทยยุคก่อน

เป็นที่น่ายินดีที่ต่อมาได้มีการหล่อหลอมเพลงทุกระดับในบ้านเราเข้าหากัน ไม่มีการรังเกียจเดียดฉันท์ซึ่งกันและกัน ลูกกรุงร้องลูกทุ่งได้ ลูกทุ่งก็ร้องลูกกรุงและสุนทราภรณ์ได้

มาถึงวันนี้ได้ชมบันทึกการแสดงคลาสสิกครูไพบูลย์ บุตรขัน ของวงออเคสตราจุฬาฯ ภายใต้การควบคุมของ รศ.ดร.นรอรรถ จันทร์กล่ำ ศิลปินศิลปาธรก็รู้สึกปลื้มใจขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งเมื่อได้ประจักษ์แล้วว่าเพลงไทยทั้งลูกกรุง ลูกทุ่งและสุนทราภรณ์สามารถนำมาบรรเลงในแบบคลาสสิกได้ทั้งสิ้น

ขอแสดงความชื่นชมย้อนหลังนะครับอาจารย์ เพราะเพิ่งมีโอกาสได้ชมบันทึกการแสดงเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่แล้วนี่เอง

ยังไงๆ ปีหน้าปีโน้นโควิดซาลงแล้ว…อย่าลืมจัดอีกนะครับ––“ลูกกรุงคลาสสิก” บ้างก็ได้จะรอชม รอฟัง และรอปรบมือนะครับอาจารย์.

“ซูม”

ข่าว, เพลง, คลาสสิก, BSO,  ไพบูลย์ บุตรขัน, สุนทราภรณ์, เพลงลูกกรุง, เพลงลูกทุ่ง, ซูมซอกแซก