บทบาท “เจ้าสัวน้อย” กับ “อนาคต” ของประเทศ

เมื่อวานนี้ผมเขียนขอร้องมหาเศรษฐีของประเทศไทย 15 ท่าน ที่เคยตอบจดหมาย “บิ๊กตู่” เอาไว้ตั้งแต่ปีกลายว่า ยินดีจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19…โดยยํ้าขอให้ท่านเดินหน้าช่วยต่อไป เพราะปัญหาการระบาดยังคงรุนแรงมาจนถึงระลอก 3 แล้ว ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงแต่อย่างใด

ความเสียหายทางเศรษฐกิจจึงมากกว่าและหนักหนาสาหัสกว่า เมื่อตอนที่ท่านทั้งหลายรับปากบิ๊กตู่ไว้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 หลายเท่า…และมีความจำเป็นที่ทุกๆ ท่านซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งอยู่ในอันดับต้นๆ ของประเทศจะต้องช่วยกันฟื้นฟูประเทศไทยอย่างสุดความสามารถต่อไปอีก

ถือเป็นโอกาสในการที่จะตอบแทนพระคุณของแผ่นดินที่ท่านได้เติบโตได้อาศัยมาด้วยความร่มเย็นเป็นสุข และประสบความสำเร็จในการประกอบสัมมาอาชีวะ จนได้ชื่อว่าเป็นผู้มีรายได้สูงระดับต้นๆ ของประเทศ

หลังจากส่งต้นฉบับไปเรียงพิมพ์แล้ว…ผมก็นึกขึ้นมาได้ว่า ประเทศไทยของเรายังจะต้องเดินหน้าต่อไปอีกยาวไกล อีกนานแสนนานในอนาคตข้างหน้า ภาครัฐ ภาคเอกชนยังจะต้องจับมือกันพัฒนาประเทศต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง…ไม่ใช่เพียงแค่จับมือกันฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ทรุดลงเพราะโควิด-19 เท่านั้น

ที่สำคัญ…หากเราดูแนวโน้มของประเทศที่เจริญแล้วทั่วโลก…เราจะพบว่าบทบาทในการพัฒนาประเทศของภาคเอกชนจะมากกว่าภาครัฐด้วยซํ้าเมื่อความเจริญเติบโตของประเทศมาถึงจุดจุดหนึ่ง

แม้บ้านเราก็เห็นได้ชัดเจน…จากการเริ่มต้นพัฒนาโดยมี “ภาครัฐ” เป็นแกนนำในช่วงต้นๆ ที่เริ่มมีแผนพัฒนาประเทศฉบับที่ 1 พ.ศ.2504 เป็นต้นมา แต่พอมาถึงแผนพัฒนาฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525-2529) ภาคเอกชนเริ่มเข้ามามีบทบาทร่วมและก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงยุคนี้ที่ สภาพัฒน์ กำลังเริ่มจะจัดเตรียมแผนพัฒนาฉบับที่ 13 (พ.ศ.2566-2570) และมีการระดมความคิดกันบ้างแล้ว

เป็นที่ชัดเจนว่าภาคเอกชนจะต้องเข้ามามีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติมากกว่ายุคใดๆนับแต่นี้เป็นต้นไป เมื่อนึกขึ้นมาได้เช่นนี้ ผมก็อยากจะขอร้องมหาเศรษฐีทั้งหลาย เพิ่มเติมไปจากที่ขอไว้เมื่อวาน…คือไม่ใช่เพียงแต่มาร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เท่านั้น

อยากจะขอร้องให้ท่านเข้ามาร่วมในการพัฒนาประเทศไทยของเราตลอดไปในอนาคตอันยาวไกลข้างหน้า เมื่อเกิดความคิดเช่นนี้แล้ว ผมก็ถือโอกาสวิเคราะห์อย่างคร่าวๆเท่าที่ผมหาข้อมูลได้ และจากการติดตามประวัติของท่านเศรษฐีเหล่านั้นว่า…แต่ละท่านมีแนวคิดหรือมุมมองต่อ “สังคมไทย” โดยรวมอย่างไร

เข้าใจในบริบทของความเป็นไทยแค่ไหน? พร้อมหรือไม่ที่จะใช้ความสามารถของท่าน ทั้งพลังสมองและพลังทรัพยากรต่างๆ รวมทั้ง ทรัพยากรการเงินด้วย เพื่อเข้าช่วยในการพัฒนา?…โดยเฉพาะในจุดที่ยังเป็นปัญหาของประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือมากกว่าจุดอื่นๆ

แน่นอนการเป็นมหาเศรษฐี การเป็นนักธุรกิจระดับต้นๆ ของประเทศย่อมเป็นที่ชัดเจนว่า ท่านจะต้องเก่งในการค้า เก่งในการทำกำไร …ท่านจึงมีเงินมีทองก้าวขึ้นมาถึงจุดนี้ได้

แต่เท่าที่ติดตามอย่างห่างๆ ด้วยการอ่านข่าวคราวหรือเรื่องราวที่เกี่ยวข้องของทุกท่านจากสื่อมวลชนต่างๆ ผมพบว่าในภาพรวมทุกเศรษฐีล้วนมีจิตใจที่เป็นกุศล…รู้จักแบ่งปัน มีการทำบุญและช่วยเหลือสังคมเป็นระยะๆ ทั้งสิ้น

รวมทั้งการแสดงเจตนารมณ์ที่จะช่วยในการฟื้นฟู กรณีโควิด-19 ครั้งนี้ ก็แสดงถึงความห่วงหาอาทร…มีจิตใจเพื่อพี่น้องชาวไทยที่ประสบทุกข์…ถือว่ามีคุณสมบัติในการช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างแน่นอน

แต่ที่ผมประทับใจและเชื่อว่าน่าจะมีส่วนในการ “เติมเต็ม” การพัฒนาประเทศในอนาคตได้อย่างดียิ่ง เพราะได้มาเรียนรู้กับภาคราชการแล้วอย่างใกล้ชิดที่ผมอยากจะเขียนถึงเป็นพิเศษมีอยู่ 2-3 ท่านครับ

แม้ไม่ใช่ตัว “มหาเศรษฐี” ที่มีชื่ออยู่ใน 15 รายชื่อเมื่อวานนี้โดยตรง แต่ก็เป็น “ทายาท” หรือ “เจ้าสัวน้อย” ที่จะขึ้นมารับบทบาททางธุรกิจแทน “เจ้าสัว” และหลายรายเริ่มมีบทบาทชัดเจนแล้ว

อันหมายถึงว่า ในการพัฒนาประเทศจากนี้เป็นต้นไปนั้น “ทายาทเจ้าสัว” เหล่านี้คงจะเข้ามามีส่วนร่วมไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

พรุ่งนี้…ผมขออนุญาตเปิดตัว “เจ้าสัวน้อย” ความหวังของประเทศ…คนแรกนะครับ.

“ซูม”

ข่าว, โควิด 19, เศรษบกิจ, ไทย, เจ้าสัว, เศรษฐี, ช่วยชาติ, ทายาทเจ้าสัว, ซูมซอกแซก