ต้องยิงให้ “เข้าเป้า” ทุกนัด สำหรับ “กระสุน” 5 แสนล้านบาท

ในที่สุด “เลขที่ออก” สำหรับวงเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด–19 งวดที่ 2 หรืองวดเพิ่มเติม ที่เป็นข่าวอย่างไม่เป็นทางการ และซุบซิบมาตลอดสัปดาห์ที่แล้วก็คือ เลข 5 แสนล้านบาทถ้วนๆ ครับ

หลังจากที่มีข่าวในตอนแรกว่ายอดรวมในร่าง พ.ร.ก.ฉบับซุบซิบจะอยู่ที่ 7 แสนล้านบาท พร้อมรายละเอียดในหมวดต่างๆ 3 หมวด

แต่เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ มีข้อเสนอแนะ มีข้อติติงโน่นนี่ในหลายๆ ประเด็น หลายๆ ข้อ ก็ปรากฏว่า เลขที่ออกตาม พ.ร.ก.กู้เงินที่ประกาศในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาก็คือ 5 แสนล้านบาทถ้วน ตัดทอนลงไป 2 แสนล้านบาท

โดยเป็นวงเงินสำหรับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้ในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ สาธารณสุข ยารักษาโรค วัคซีน และ ฯลฯ ร่วม 30,000 ล้านบาทตามเดิม

ในขณะที่หมวดช่วยเหลือเยียวยาหรือชดเชยลดไป 1 แสนล้านล้านบาท เหลือ 300,000 ล้านบาท และหมวดแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมก็เหลือ 170,000 ล้านบาท ลดไป 1 แสนล้านบาท เช่นกัน

สรุปได้ว่า ที่ลดไป 2 แสนล้านบาท ทำให้ตัวเลข 7 แสนล้านบาท เหลือ 5 แสนล้านบาท ก็อยู่ที่ 2 หมวดหลัง ซึ่งก็สมควรแล้ว เพราะเป็นหมวดที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดจากการกู้เงินครั้งที่แล้ว

แต่กระนั้นภาระหนี้ที่จะเกิดขึ้นอีก 5 แสนล้านบาท ก็ต้องถือว่าเป็นภาระที่ประชาชนจะต้องช่วยกันแบกรับในอนาคต แม้จะลดลงบ้างจากข่าวในตอนแรก แต่ก็ยังคงเป็นจำนวนที่มากพอสมควรอยู่ดี

ดังนั้น ในการนำไปใช้จ่ายตามหมวดต่างๆ จึงยังต้องยึดหลักการที่หลายๆ ฝ่ายเสนอแนะ รวมทั้งผมเองก็ฝากความเห็นไว้แล้วเช่นกัน

นั่นก็คือ ทุกบาททุกสตางค์จะต้องเกิดประโยชน์โพดผล เหมือนสำนวนที่ว่า “ต้องยิงกระสุนให้เข้าเป้าทุกนัด” อย่ายิงทิ้งยิงขว้าง หรือ อีลุ่ยฉุยแฉก…และที่ต้องห้ามเด็ดขาดคือ การฉ้อฉลกลโกงในทุกๆ กรณี

ในการแถลงข่าวเมื่อวานนี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังย้ำว่า การกู้เงินครั้งนี้ได้พิจารณาตามกรอบวินัยการคลังทุกประการ

คาดว่าภายในปีงบประมาณ 2564 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพี น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 58.56 เพราะจะมีการนำเงินกู้ 500,000 ล้านบาทนี้ มาใช้ด้วยจำนวนหนึ่ง ส่วนในปีงบประมาณ 2565 ต้องรอข้อมูลตัวเลขอีกครั้ง แต่ก็คาดว่าจะยังคงใกล้เคียงกับร้อยละ 60 ตามกรอบ

นอกจากนี้ การใส่เงินกู้ลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจอีก 5 แสนล้านบาทนี้ จะมีผลทำให้จีดีพีในระหว่าง 2564-2565 ปรับตัวขึ้นประมาณ 1.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี หรือ 0.75 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

แปลความง่ายๆ ว่า เมื่อจีดีพีขยายตัวขึ้น สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีก็ย่อมจะดีขึ้นด้วยเป็นเงาตามตัว

ครับ! ผมก็ขอภาวนาให้การใส่เงินกู้ทั้ง 2 ก้อนนี้มีผลต่อการขยายตัวของจีดีพีตามเป้าหมายที่กระทรวงการคลังตั้งไว้…ซึ่งหนทางที่จะเป็นไปได้ตามนั้นก็จะต้องมาจากประโยคคำพูดที่ผมกล่าวไว้ตอนต้น

นั่นก็คือ “กระสุนทุกนัดจะต้องเข้าเป้า” นั่นเอง

หากกลายเป็น “กระสุนด้าน” หรือ “แป้ก” เสียในจุดใดจุดหนึ่ง หรือหลายๆจุด ก็อาจจะทำให้จีดีพีพลอยแป้กไปด้วยเช่นกัน

โดยส่วนตัวผมไม่มองโลกในแง่ดีเหมือนรัฐบาลที่บอกว่าขณะนี้เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นในหลายๆอย่าง…เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงที่ผมสัมผัสอยู่ และจากการพูดคุยจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการและนักธุรกิจจำนวนมาก…โควิด-19 ระลอก 3 หนักหนาสาหัสกว่าที่คิดไว้

ต้องรีบหยุดการระบาดให้เร็วที่สุด จากนั้นขอให้ใช้งบฟื้นฟูทั้งเงินกู้และงบประมาณโดยตรงให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด…และสำคัญเหลือเกิน ภาคเอกชนใหญ่ยักษ์ทั้งหลายจะต้องให้ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดด้วยการตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้น เมื่อโควิด-19 ซาลง

ประชาชนทุกหมู่เหล่าก็ต้องร่วมมือ หันมาสมัครสมานสามัคคี เลิกขัดแย้ง เพื่อสร้างบรรยากาศของการฟื้นฟูประเทศร่วมกัน

ถ้าไม่ทำและไม่ทุ่มเทกันถึงขนาดนั้น ผมว่ายากครับที่เศรษฐกิจของเราจะฟื้นกลับมาได้อย่างรวดเร็ว ดังที่ภาครัฐคาดหวังเอาไว้

เพราะอย่างที่ผมเคยพูดไว้หลายครั้งแล้วว่า…ในช่วงอายุของ สว. วัย 80 ปี อย่างผม นี่คือการตกตํ่า หรือการถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดทั้งของโลกและของประเทศไทย.

“ซูม”

ข่าว, โควิด 19, กู้เงิน, เศรษฐกิจ, ไทย, งบประมาณ, จีดีพี, พ.ร.ก.กู้เงิน, ซูมซอกแซก