ชัยวัฒน์ “เดอะปุ๊” วิบูลย์สวัสดิ์ อีกหนึ่ง “คนเก่ง” ช่วยพัฒนาไทย

ผมเขียนถึงการพัฒนาประเทศแบบไทยๆ หรือ “ไทยโมเดล” คือการดึง “คนเก่ง” ลงไปช่วย “คนไม่เก่ง” จนประเทศของเราเจริญก้าวหน้า จากประเทศรายได้ต่ำก้าวขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูงอยู่ในขณะนี้

โชคร้ายมาเจอโควิด-19 น็อกเข้าให้เสียก่อน อาจจะต้องรอต่อไปอีกหลายปีกว่าจะก้าวขึ้นไปเป็นประเทศรายได้สูงขั้นต้นกับเขาได้

แต่ก็ถือว่าดีพอสมควรแล้วครับ ดีกว่าเพื่อนในอาเซียนของเราเกือบทุกประเทศ ยกเว้นสิงคโปร์กับมาเลเซียเท่านั้นเอง (ไม่นับบรูไน ที่ธรรมชาติช่วย มีรายได้ดีจากการขายนํ้ามันทำให้ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวมากกว่าเรา)

ซึ่งผมก็ยกความสำเร็จ (อันพอสมควร) ของเราที่ว่านี้ให้กับคนไทยที่เรียนเก่งสมองดีทั้งหลายที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งลงไปช่วย “คนไม่เก่ง” อันได้แก่คนยากจนทั้งในชนบทและตัวเมืองจำนวนมาก ทำให้เราสามารถยกระดับการพัฒนามาได้เรื่อยๆ

เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมเมื่อมองย้อนหลังกลับไปแล้วต้องขออนุญาตเขียนขอบคุณ “คนเก่ง” ในอดีตหลายๆ แสนคนที่จะกระจายกันออกไปช่วยพัฒนาประเทศไทยของเราอย่างเข้มแข็งอย่างเสียสละ

ผมตั้งใจจะจบเรื่องนี้ตั้งแต่เมื่อฉบับวันศุกร์เพราะได้เขียนรวบยอดขอบคุณคนเก่งของประเทศในอดีตที่มีส่วนอย่างสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยเอาไว้แล้วเต็มคอลัมน์

ก็พอดีได้รับหนังสือพ็อกเกตบุ๊กเล่มหนึ่งตั้งชื่อเรื่องว่า “สิบชื่อของชัยวัฒน์” เขียนโดย ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ และประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน

ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ว่า ดร.ชัยวัฒน์ก็เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่สมควรจะนำมาเขียนถึงในฐานะ “ตัวอย่าง” ของ “คนเก่ง” ที่มีส่วนในการช่วยเหลือ “คนไม่เก่ง” ของประเทศไทยเราในช่วงเวลาที่ผ่านมา

หนังสือเล่มนี้เอาไว้เล่าถึงสาเหตุที่ผู้คนเรียกขานท่าน รวมทั้งสิ้นถึง 10 ชื่อ ตั้งแต่ “อาจารย์” “ท่านผู้ว่าการ” “ท่านประธานฯ” “ท่านรัฐมนตรี” “ท่าน….” ไปจนถึง “พี่ปุ๊” “ลุงหมีปุ๊” ฯลฯ

แต่ละคำเฉลยก็คือที่มาที่ไปของคำเรียกนั้นๆ อ่านแล้วก็ได้ความรู้ทั้งที่เกี่ยวกับตัวท่านเองและผลงานของท่าน ตลอดจนงานอดิเรกของท่าน คือการเป็นนักเขียนในนามปากกา “วินนี่ เดอะปุ๊” ที่นักอ่านรู้จักมากกว่าผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเสียอีกด้วยซ้ำ

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลงทำให้เราทราบอย่างชัดเจนขึ้นไปอีกว่า “ดร.ปุ๊” นั้น เป็นคนเก่งมากๆคนหนึ่งของประเทศไทย

ท่านเป็นศิษย์เก่า โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่นที่เท่าไรไม่ได้ระบุไว้ในหนังสือเล่มนี้ แต่ระบุไว้ชัดเจนว่า ท่านสอบได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ แผนกวิทยาศาสตร์ในปีที่ท่านเรียนจบ

จากนั้นท่านก็สอบชิงทุนแบงก์ชาติไปเรียนระดับปริญญาตรีที่ William College แล้วไปต่อปริญญาโทและเอกทางเศรษฐกิจศาสตร์รวดเดียวที่ MIT มหาวิทยาลัยชั้นยอดของสหรัฐอเมริกา

ช่วงที่คุณชัยวัฒน์เป็นหัวหน้าฝ่ายของแบงก์ชาติ ประมาณ พ.ศ. 2523 คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ และผมเคยเชิญท่านพร้อมด้วยนักวิชาการชั้นนำของประเทศอีกเกือบ 100 คน ไปนอนโรงแรมที่ดีที่สุดของจังหวัด ศรีสะเกษ แต่น่าจะแย่ที่สุดเมื่อเทียบกับโรงแรมในพัทยาหรือภูเก็ต (เพราะมีห้องแอร์ไม่กี่ห้อง และค่อนข้างเหม็นอับ)

จังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดที่จนที่สุดของประเทศไทยใน พ.ศ.ดังกล่าว…พวกเราที่สภาพัฒน์ตั้งใจจะให้นักวิชาการชั้นยอดจากหน่วยงานต่างๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยดังๆได้รู้รสชาติและสัมผัสของจริงว่าจังหวัดที่ยากจนที่สุดนั้นเป็นอย่างไร

เรากำลังจะร่างแผนพัฒนาฉบับที่ 5 ซึ่งตั้งใจจะให้เป็นแผนที่มุ่งเน้นการกระจายรายได้ไปสู่ภูมิภาคและชนบทเป็นหลัก จึงต้องไประดมความคิดกันที่จังหวัดนี้แทนที่จะเป็นพัทยาดังเช่นการสัมมนาอื่นๆ

ขอบคุณ ดร.ชัยวัฒน์ย้อนหลังที่ไปช่วยระดมสมองในวันนั้น จนมีส่วนทำให้เมืองไทยของเรามีวันนี้ และขอบคุณสำหรับหนังสือเล่มใหม่ของท่านที่ส่งมาให้ผม ทำให้ผมได้จังหวะเขียนถึงเรื่อง “คนเก่ง” ช่วย “คนไม่เก่ง” ตามโมเดลพัฒนาแบบไทยๆอีก 1 วัน

สำหรับหนังสือเล่มนี้ผมคงไม่ต้องแนะนำอะไรมากนัก เพราะลีลาการเขียนระดับ “วินนี่ เดอะปุ๊” นั้นการันตีอยู่แล้ว…เห็นหนังสือเล่มนี้วางขายที่ไหนซื้อไปอ่านกันได้เลยครับ.

“ซูม”

แบงก์ชาติ, ไทย, พัฒนาประเทศ, ชนบท, ซูมซอกแซก