ตัวเลข “คนจน” ลดลง อย่าด่วน “ดีใจ” ล่วงหน้า

มีข่าวที่ผมได้ยิน ได้ฟังและได้อ่านรายละเอียดแล้วก็รู้สึกดีใจขึ้นมาแว่บหนึ่ง แต่ก็แว่บเดียวเท่านั้นเองครับ เพราะหลังจากนั้นความดีใจก็ค่อยๆ คลายลง กลายเป็นความห่วงใยกลับมาเหมือนเดิม เมื่ออ่านมาถึงท่อนจบ ข่าวที่ “สภาพัฒน์” หรือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานสถานการณ์ความยากจนของประเทศไทย ในปี 2562 ว่าปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้นนั่นแหละครับ
สภาพัฒน์ระบุว่า สัดส่วนคนจนลดลงจากร้อยละ 9.85 ในปี 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.24 ในปี 2562 หรือมีจำนวนคนจน 4.3 ล้าน ลดลงจาก 6.7 ล้านคน ในปีก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ เป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการขยายมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ อาทิ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวทางประชารัฐ เป็นต้น

ส่งผลให้ภาพรวมคนไทยทั่วไปมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 9,847 บาทต่อเดือนต่อคน จากปี 2560 ที่มีรายได้ 9,614 บาทต่อเดือนต่อคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.42 ในขณะที่ดูเฉพาะครัวเรือนยากจน ปรากฏว่ามีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 2,823 บาทต่อเดือนต่อคนในปี 2560 เป็น 3,016 บาทต่อเดือนต่อคน ในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.81

จากการที่คนจนมีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของประเทศ ตามตัวเลขข้างต้นนี้ สภาพัฒน์อธิบายว่า “แสดงว่าในช่วงเวลาดังกล่าวผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี 2562 ตกอยู่กับคนยากจนมากขึ้น”

นอกจากนี้ สัดส่วนคนจนในปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.24 ยังทำให้ประเทศไทยบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายการแก้ปัญหาความยากจนตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 12 อีกด้วย

เนื่องจากในแผนฯ กำหนดเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 6.5 ในปี 2564 ซึ่งเป็นปีสุดท้าย แต่ปรากฏว่าเพียงปี 2562 ก็ทำได้ร้อยละ 6.24 แล้ว ดีกว่าเป้าหมายพอสมควรทีเดียว

สภาพัฒน์ทิ้งท้ายไว้ว่า “แม้สัดส่วนคนจนในภาพรวมจะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาระดับต่อไปจนสิ้นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 ยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากปี 2563 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤติโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานโดยตรง”

จากย่อหน้าทิ้งท้ายย่อหน้านี้ทำให้เรากลับมาสู่ความเป็นจริงที่ว่าตัวเลขที่ดูดีมากตัวเลขนี้ เป็นตัวเลขจากการวัดในปี 2562 ซึ่งผ่านไปเรียบร้อยนั่นเอง

แต่ปี 2563 ซึ่งเกิดวิกฤติโควิด-19 อันหนักหนาสาหัส ทำให้เศรษฐกิจทรุดอย่างหนัก ทำให้ผู้คนตกงานมากมาย และทุกวันนี้ แม้จะดูเหมือนฟื้นขึ้นบ้าง แต่ก็ยังไม่ฟื้นกลับมาถึงจุดที่เคยเป็นอยู่ในปีปกติและที่สำคัญตัวเลขเกี่ยวกับคนจนยังไม่ออกมานะครับ

ขณะเดียวกัน สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกก็ยังไม่ดีขึ้น แม้บ้านเราจะควบคุมการระบาดได้ แต่เมื่อประเทศอื่นส่วนมากเขายังคุมไม่ได้ การติดต่อค้าขาย การเชิญชวนผู้คนมาเที่ยว ก็ยังไม่สามารถจะทำได้อย่างที่ควรทำได้ในอดีต

แถมบ้านเรายังมี “ม็อบ” มีความขัดแย้งทางการเมืองแทรกซ้อนเข้ามาอีก น่าจะทำให้ผลกระทบที่เกิดขึ้นในปี 2563 รุนแรงขึ้นไปอีก

ทำให้ผมชักไม่แน่ใจว่าเราจะรักษาอัตราส่วนและปริมาณ “คนยากจน” ของเราที่บอกว่าทะลุเป้าหมายแล้ว…เอาไว้ได้หรือไม่?

ผมถึงได้บอกไงว่าข่าวนี้เป็นข่าวดีแค่แว่บเดียว…จากนี้ไปต้องช่วยกันลุ้นอย่างหนัก ขออย่าให้ปี 2563 และปี 2564 ถึงขั้นแย่ลงจนทำให้อัตราความยากจนของประเทศไทยที่อุตส่าห์ลดลงมาอย่างน่าชื่นใจในปี 2562 นั้น กระเด้งกลับไปที่ปี 2560 หรือ 2561 หรือก่อนหน้านี้คือกลับไปยากจนเยอะเหมือนเดิมซะก็แล้วกัน

ฝาก ศูนย์บริหารสถานการเศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่เรียกกันย่อๆ ว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ เอาไว้ด้วยนะครับ ให้ช่วยดูเรื่องนี้ให้ด้วย

ว่าแต่ว่าเรายังมี “ศูนย์บริหารสถานการเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากโควิด-19” กันอยู่หรือเปล่าเนี่ย…หมู่นี้เห็นข่าวคราวเงียบๆ ไปยังไงก็ไม่รู้ซีแฮะ!

“ซูม”

สภาพัฒน์, เศรษฐกิจ, ไทย, โควิด 19, คนจน, ซูมซอกแซก