เส้นทาง “ม็อบมือถือ” จาก “2535” ถึง “2563”

ภาพหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับในช่วงนี้ มักจะเป็นภาพเกี่ยวกับม็อบ หรือมวลชนที่เรียกตัวเองว่า แนวร่วมกลุ่มราษฎรที่หลั่งไหลออกมาชุมนุมตามจุดนัดพบต่างๆ เช่น สถานีรถไฟฟ้า หรือห้างใหญ่ๆ ทั่วกรุง

เนื่องจากมวลชนมักจะมาตอนเย็นๆ และอยู่จนถึงคํ่า และสลายตัวเวลา 2 ทุ่มบ้าง 3 ทุ่มบ้าง จึงมีหลายๆ ครั้งที่ผู้ชุมนุมจะนัดหมายกันเปิดไฟแฟลชจากโทรศัพท์มือถือพร้อมๆ กัน เมื่อถ่ายภาพออกมาจึงมองคล้ายแสงดาวบนท้องฟ้าที่ระยิบระยับในคืนเดือนมืด

แกนนำผู้ชุมนุมเคยให้สัมภาษณ์ว่า แสงระยิบระยับที่ว่านี้เป็นสัญลักษณ์ของการส่องแสงสว่างเพื่อค้นหาระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ผมลองกางหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับประจำวันพุธที่ 21 ตุลาคม วันที่ผมกำลังเขียนต้นฉบับวันนี้ แล้วใช้ปากกาจิ้มนับไปทั่วภาพ…พบว่า 100 เปอร์เซ็นต์ของมวลชนเลยละครับที่ชูมือถือพร้อมกับเปิดแฟลชไฟ

นั่นแปลว่าผู้เข้าร่วมชุมนุมต่างพกโทรศัพท์มือถือกันมาทุกคน

ทำให้ผมอดมิได้ที่จะแว่บไปนึกถึงความหลังเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 ที่มีการชุมนุมใหญ่ทางการเมืองเกิดขึ้น และมีการปราบปรามโดยรัฐบาลในสมัยนั้น จนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง

ก่อนที่เหตุการณ์จะยุติลงได้ด้วยพระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงรับสั่งให้คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย ได้แก่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หัวหน้ารัฐบาล และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าผู้ชุมนุม เข้าเฝ้า และทรงมีพระราชดำรัสเตือนสติจนทำให้เหตุการณ์สงบลง และนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุจินดา ลาออกในวันรุ่งขึ้น

การชุมนุมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม จนมาถึงวันยุติ คือวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2535 นั้น ได้รับการเรียกขานหรือการตั้งฉายาจากสื่อมวลชนว่า “ม็อบมือถือ” เพราะผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งพกโทรศัพท์มือถือ และใช้ในการติดต่อส่งข่าวสารระหว่างการชุมนุม

ใน พ.ศ.2535 นั้น โทรศัพท์มือถือได้รับการพัฒนามาพอสมควรแล้ว จากเครื่องที่เคยใหญ่และหนักถึงกิโลกรัมเศษ ค่อยๆ ลดลงมา และเล็กลงมาจนสามารถถือไปไหนมาไหนได้ จึงเรียกกันว่าโทรศัพท์มือถือ และย่อสั้นๆ ว่า “มือถือ” ในที่สุด

แต่ก็ยังไม่เผยแพร่กว้างขวางนัก มีใช้เฉพาะในกลุ่มคนที่มีรายได้ดี ทำงานบริษัทระดับสูง หรือถ้าเป็นข้าราชการก็จะอยู่ในระดับหัวหน้าฝ่ายขึ้นไป โดยทางราชการให้ยืมใช้แบบโทรศัพท์ประจำตำแหน่ง เมื่อโยกย้ายหรือลาออกจะต้องคืนให้แก่หน่วยราชการนั้นๆ

ดังนั้น ในขบวนม็อบ เมื่อ พ.ศ.2535 จึงมีการใช้มือถือเฉพาะระดับหัวหน้าม็อบและผู้เข้าร่วมส่วนหนึ่งเท่านั้น มิได้ใช้หรือมีมือถือครบทุกคน หรือ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังปัจจุบัน

แต่ก็ต้องยอมรับว่า การใช้เพียงเท่านี้ก็มีประสิทธิภาพในการเคลื่อนม็อบ กำหนดทางเดินหรือสถานที่ที่ม็อบควรจะมุ่งไป หรือการใช้โทร.เรียกกำลังเสริม ฯลฯ มีประโยชน์ต่อการบริหารจัดการม็อบมากกว่าในสมัย 14 ตุลาคม ที่ต้องใช้การตะโกนผ่านไมโครโฟนอย่างเดียว

มาถึงวันนี้ 28 ปีผ่านไป โทรศัพท์มือถือได้รับการพัฒนาไปไกลมาก ไกลจนกลายเป็นเครื่องมือวิเศษที่มนุษย์ยุคนี้ขาดไม่ได้ไปเสียแล้ว

เพราะทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่หน้าที่หลักคือ โทรศัพท์ไปจนถึงถ่ายภาพ ดูหนัง ฟังเพลง บันทึกเสียง และส่งข้อความหรือภาพผ่านโซเชียลมีเดีย เพื่อนัดหมายการชุมนุมตามจุดต่างๆ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ

รวมทั้งใช้ทำเป็นแฟลชเปิดไฟเรียกร้องประชาธิปไตยในภาพหน้า 1 ดังกล่าว…กลายเป็นม็อบมือถือที่ทรงพลังมากกว่าเมื่อ 28 ปีก่อน

ม็อบมือถือ 2563 จะดำเนินการไปอย่างไร? และจะจบอย่างไร? คงต้องติดตามกันต่อไป

แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องข้อ 3 ว่าด้วยการปฏิรูปสถาบัน และขอย้ำว่าไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งยวด แต่ผมก็ภาวนาขอให้จบลงด้วยดี ผ่านการใช้เครื่องมือประชาธิปไตยคือ สภาผู้แทนราษฎร ดังที่กำลังมีความพยายามอยู่ในขณะนี้…อย่าไปจบแบบ “พฤษภาทมิฬ” หรือเหตุการณ์ “ม็อบมือถือ” ครั้งที่แล้วอย่างเด็ดขาด

แค่นี้ประเทศไทยเราก็บอบช้ำมากแล้วครับ เจอโควิด–19 ก็แทบโงศีรษะไม่ขึ้นอยู่แล้ว อย่าให้ทรุดลงไปอีก เพราะความ “รุนแรง” หรือการเสียเลือดเนื้อและเสียชีวิตกันอีกเลย.

“ซูม”

พฤษภาทมิฬ, ม็อบ, มือถือ, มวลชน, ซูมซอกแซก