ธุรกิจท่องเที่ยว “ทรุด” ภาพสะท้อนจากเชียงราย

ในคอลัมน์ซอกแซกวันอาทิตย์เมื่อวานนี้ ผมเขียนเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบถึงบรรยากาศที่เงียบเหงาอย่างน่าใจหายของ “ไนต์บาร์ซาร์” เชียงราย ที่เคยขึ้นชื่อลือชา มีนักท่องเที่ยวเดินขวักไขว่ถึง 4 ทุ่ม 5 ทุ่มในยุคก่อนๆ

แต่ในคืนที่ผมไปเดินวันอังคารที่ผ่านมา แค่ 3 ทุ่มเท่านั้นก็ไม่มีคนแล้ว รวมทั้งที่ลานกลางเวียง ซึ่งเป็นเวทีแสดงดนตรีและศิลปวัฒนธรรม ปกติจะมีผู้คนหนาแน่น…ก็เหลืออยู่แค่ประมาณ 7-8 คนเท่านั้นเอง

ขนาด “บัวลอยมือถือป้าอ้วน” ซึ่งเป็นบัวลอยระดับตำนานของ เชียงรายที่ผู้คนเข้าคิวยาวเหยียดในแต่ละคืน ยังเหลือแค่คิวสั้นๆ แม้จะ ขายหมด แต่ก็ไม่ร้อนแรงเหมือนในยุคนักท่องเที่ยวเฟื่องฟู

หรือแม้แต่ โรงแรมเวียงอินทร์ ที่มูลนิธิไทยรัฐนำคณะผู้บริหาร โรงเรียนไทยรัฐวิทยาทั้ง 111 แห่งไปพักและจัดสัมมนาใหญ่ ก็แน่นเฉพาะในช่วง 2-3 วันที่มีงานสัมมนานี่แหละ…ก่อนหน้านี้ได้ข่าวว่าเงียบสนิทมายาวนาน จะแน่นหรือพอมีคนพักหนาตาบ้างก็เฉพาะในช่วงเทศกาลหยุดยาวต่างๆเท่านั้น

ครับ! ได้เห็นภาพด้วยตาตนเอง และฟังเรื่องเล่าจากน้องๆ นักข่าวแล้วก็รู้สึกเห็นใจจังหวัดเชียงรายเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องเจอผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวที่เคยเฟื่องฟูและเป็นรายได้หลักของจังหวัดลดวูบลงไปอย่างน่าใจหาย

ระหว่างอยู่ที่โน่น ผมนั่งดูข่าวโทรทัศน์ เขาก็รายงานว่าธุรกิจท่องเที่ยว ที่จังหวัดเชียงใหม่ก็ตกอยู่ในสภาพหนักหนาสาหัสเช่นกัน

มีการขึ้นป้ายประกาศขายโรงแรมขนาดกลาง ขนาดเล็ก ไปจนถึงที่พักแรมต่างๆเป็นแถวๆ และผู้ประกอบการที่ยังไม่ขาย ต่างก็รอดูว่ารัฐบาลจะช่วยเหลืออย่างไรในขณะนี้

เท่าที่เราติดตามข่าวก็เห็นว่ารัฐบาลพยายามช่วยด้วยการจัดโครงการส่งเสริมท่องเที่ยวโน่นนี่ สนับสนุนห้องพักบ้าง ค่าเครื่องบินบ้าง รวมทั้งส่งเสริมให้ข้าราชการจัดสัมมนา หรือดูงานในประเทศบ้าง

ในแง่เงินกู้ดอกเบี้ยตํ่าเพื่อต่ออายุโรงแรมต่างๆ ก็ได้ยินท่านประกาศว่าให้ไปกู้ยืมที่โน่นที่นี่อยู่เนืองๆ

ก็คงจะช่วยได้เพียงเท่านี้กระมัง เพราะจะทุ่มเทอะไรมากไปกว่านี้ รัฐบาลก็ใช่ว่าจะรวยอะไรหนักหนา ทุกวันนี้ก็ต้องกู้เงินมาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจใหญ่อยู่แล้ว

ผมเคยเล่าแล้วว่าในยุคเศรษฐกิจไทยถดถอยเมื่อปี 2527 ในยุคป๋าเปรมจนต้องลดค่าเงินบาทขนานใหญ่นั้น ป๋าเปรมได้มอบให้ สภาพัฒน์ จัดโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ หลายโครงการ

ยังจำได้ว่าอาวุธสำคัญ หรือโครงการสำคัญโครงการหนึ่งที่สภาพัฒน์ หยิบมาใช้ก็คือ “การส่งเสริมการท่องเที่ยว” นี่แหละ

แทบไม่น่าเชื่อว่ารัฐบาลยุคนั้นท่านจัดงบกลางที่เหลือจ่ายอยู่ประมาณ 40-50 ล้านบาทเท่านั้น ให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยนำไปโปรโมตชวนคนมาเที่ยวประเทศไทย

ทาง ททท.ก็ใช้เงินก้อนที่ว่านี้ไปดำเนินการตามวิธีที่ ททท.ถนัด ไม่กี่เดือนให้หลัง นักท่องเที่ยวแห่เข้ามาเที่ยวจนล้นประเทศ

แต่มา พ.ศ.นี้ ด้วยสงครามเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่กว่าหลายต่อหลายเท่า หนักกว่าหลายต่อหลายเท่า แต่อาวุธสำคัญคือ “การท่องเที่ยว” กลายเป็นอาวุธด้านที่ไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างถนัดถนี่เหมือนเช่นเคย

เพราะจะเปิดประเทศชวนให้คนมาเที่ยวอย่างขนานใหญ่ก็ทำไม่ได้ เพราะเชื้อโควิด-19 และการระบาดทั่วโลกยังไม่มีวี่แววว่าจะลดลง และไม่มีใครคาดได้ว่าจะสงบเมื่อใด

ยังนึกภาพไม่ออกเหมือนกันว่า รัฐบาลไทยและทีมเศรษฐกิจของท่าน (ที่ยังไม่ครบทีมด้วยซํ้า เพราะขาดรัฐมนตรีคลัง) จะเอาชนะสงครามครั้งนี้ได้อย่างไร? และเมื่อใดแน่?

ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยจะซึมยาวขึ้น ฟื้นตัวช้าลง กว่าจะกลับมาเหมือนเดิมต้องใช้เวลาอีก 2 ปี

ระยะเวลา 2 ปีเนี่ย ถ้าคนไทยมีความสุขจะรู้สึกว่าแผล็บเดียวเอง ครับ…แต่ถ้ามีความทุกข์ละก็ จะรู้สึกว่าช่างยาวนานและทรมานเหลือเกิน

แต่จะทำยังไงได้ล่ะครับ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งโลก และยากจะหลีกเลี่ยง ก็ต้องอดทน อดกลั้น และสู้สู้…หาทางแก้ไขและฟื้นฟูกันต่อไป จนกว่าคุณหมอจะคิดวัคซีนสกัดโควิด–19 ได้สำเร็จ.

“ซูม”

การท่องเที่ยว, ททท., เศรษฐกิจไทย, มาตรการ กระตุ้น การ ท่องเที่ยว, ซูมซอกแซก