เที่ยวตามคำขวัญจังหวัด “ปราสาทผึ้ง”+”สาวภูไท”

ซอกแซกสัปดาห์นี้ เรายังคงอยู่กันที่จังหวัดสกลนครนะครับ…จังหวัดเล็กๆ แต่น่ารักจังหวัดหนึ่งของภาคอีสาน ที่ทีมงานซอกแซกติดตามคณะกรรมการบริหารมูลนิธิไทยรัฐไปประชุมประชาพิจารณ์เพื่อเตรียมก่อสร้างโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 110 (บ้านชมภูพาน) ดังที่เขียนเล่าไว้เมื่อสัปดาห์แล้ว

เราใช้วิธี “เล่าเรื่อง” ด้วยการหยิบ “คำขวัญ” ของจังหวัดขึ้นมาเกริ่นเสียก่อน เพื่อให้ท่านผู้อ่านทราบว่า “ของดี” ที่จังหวัดเชิดชูผ่านคำขวัญนั้นๆ ได้แก่อะไรบ้าง

จากคำขวัญที่ว่า “พระธาตุเชิงชุมคู่บ้าน พระตำหนักภูพานคู่เมือง งามลือเลื่องหนองหาน แลตระการปราสาทผึ้ง สวยสุดซึ้งสาวภูไทถิ่นมั่นในพุทธธรรม” นั้นไซร้ เราได้ขยายความกันไปแล้วสำหรับ 2 ประการแรก อันได้แก่ พระธาตุเชิงชุม และ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์

สัปดาห์นี้มาต่อกันที่อันดับ 3 “งามลือเลื่องหนองหาน” อันหมายถึง ทะเลสาบหนองหานกันเลยนะครับ ทะเลสาบนํ้าจืดขนาดใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน และเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย รองจาก บึงบอระเพ็ด ที่จังหวัดนครสวรรค์เท่านั้นเอง

หนองหานอยู่ในเขตอำเภอเมืองสกลนคร มีเนื้อที่กว่า 77,000 ไร่ หรือ 123 ตารางกิโลเมตร ความลึกเฉลี่ย 2.0-10.0 เมตร เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลานํ้าจืด แหล่งนกนํ้า และเป็นพื้นที่ชุ่มนํ้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่มากกว่า 30 เกาะ เกาะขนาดใหญ่ที่สุดคือ เกาะคอนสวรรค์ ซึ่งมีพุทธสถานโบราณอยู่ภายในเกาะด้วย นับเป็นจุดเด่นจุดหนึ่งของทะเลสาบนํ้าจืดแดนอีสานแห่งนี้

แม้ในการไปเยือนเที่ยวนี้ หัวหน้าทีมซอกแซกจะมิได้มีโอกาสไปเยือน หนองหาน แต่ในอดีตยุคที่มาสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดสกลนครได้เคยแว่บไปนั่งเรือลอยทะเลสาบมาแล้วหลายหน ยังจำความสดชื่นรื่นรมย์ได้ติดตาติดใจ

ข้อสังเกตของหัวหน้าทีมซอกแซกเกี่ยวกับชื่อ “หนองหาน” ก็เห็นจะมีอยู่เพียงว่าการเขียนชื่อที่ถูกต้องของ “หนอง” นี้คืออะไรแน่

เพราะใน วิกิพีเดีย ว่าด้วยจังหวัดสกลนครใช้คำว่า หนองหาน แต่ชาวบ้านทั่วๆ ไป รวมทั้งเอกสารนำเที่ยวต่างใช้ “หนองหาร” กันไปหมด…

แม้ในวิกิพีเดีย ตอนค้นไปที่ตัวหนองโดยเฉพาะก็ใช้คำว่า “หนองหาร” กดคำว่า “หนองหาน” กี่ทีก็ขึ้นมาเป็น “หนองหาร” อยู่นั่นแหละ ตกลงใช้อะไรกันแน่? ใครรู้ข้อเท็จจริงโปรดช่วยแจ้งให้ทราบด้วย จะขอบคุณอย่างยิ่งครับ

ไปต่อกันที่คำขวัญถัดไปเลยครับ “แลตระการปราสาทผึ้ง” ซึ่งก็คือประเพณีแห่ปราสาทผึ้งในวันขึ้น 14 คํ่า เดือน 11 ของทุกปี ก่อนวันออกพรรษา 1 วัน ที่ วัดพระธาตุเชิงชุมวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนครนั่นเอง โดยจะมีการนำขี้ผึ้งมาตกแต่งสลักเสลาเป็นปราสาทราชวังที่สวยงามมาก เพื่อจะแห่ไปบูชาพระธาตุเชิงชุม ที่ชาวสกลนครเคารพและศรัทธา เป็นประเพณีเก่าแก่มากของจังหวัด และทุกๆ ปีที่ผ่านมาจัดได้อย่างยิ่งใหญ่ มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปดูชมแน่นขนัด

ช่วงขึ้น 14-15 คํ่า เดือน 11 ของปีนี้ก็คือ วันที่ 1 และ 2 ตุลาคม ซึ่งนับจากนี้ไปประมาณเดือนเศษๆเท่านั้น จะจัดงานใหญ่หรือไม่อย่างไร? (เพราะเป็นปีโควิด-19) ประชาสัมพันธ์จังหวัดอย่าลืมส่งข่าวมาบ้างนะครับ

จากปราสาทผึ้งก็ไปว่ากันถึง “สาวภูไท” เลยครับ…แม้ว่าชาวภูไทซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งของภาคอีสานถิ่นกำเนิดดั้งเดิมก็คือ หลวงพระบาง สปป.ลาว แต่มีการอพยพมาสู่ประเทศไทย และตั้งรกรากอยู่ในหลายๆจังหวัดของภาคอีสานนับแต่สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีจนถึงสมัย ร.3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สำหรับที่ สกลนคร ส่วนใหญ่จะอพยพมาตั้งแต่ยุคสมัยรัชกาลที่ 3 และได้ตั้งถิ่นฐานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ในอำเภอต่างๆ เช่น อ.พรรณานิคม พังโคน บ้านม่วง วาริชภูมิ ฯลฯ ซึ่งจากรายงานที่เคยจัดทำไว้เมื่อปี 2513 หรือ 50 ปีที่แล้ว ระบุว่า ทั้งสกลนครมีชาวไทยเชื้อสายภูไทถึง 212 หมู่บ้าน 20,945 หลังคาเรือน ใน 9 อำเภอ คิดเป็นประชากร 128,658 คน

เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบันนี้จำนวนประชากรชาวภูไทก็คงจะเพิ่มขึ้น และก็คงจะมีสาวงามสืบทอดกันมาหลายรุ่นสมดังคำขวัญที่ว่า “สวยสุดซึ้งสาวภูไท” ด้วยประการฉะนี้

ก็มาถึงคำขวัญประการสุดท้าย “ถิ่นมั่นในพุทธธรรม” ซึ่งแปลความได้ตรงๆว่า เป็นจังหวัดที่ยึดมั่นในพุทธธรรม หรือเป็นแหล่งพุทธธรรมที่ขึ้นชื่อนั่นเอง

ในย่อหน้าแรกของเอกสารแนะนำจังหวัดบางฉบับเขียนไว้เลยว่า “สกลนครเป็นแหล่งธรรมะ (ดินแดนแห่งธรรม) มีปูชนียสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนาหลายแห่ง และมีพระเกจิอาจารย์ดังที่เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศ เช่น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต, พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร, หลวงปู่หลุย จันทสาโร, พระอาจารย์วัน อุตตโม และ หลวงปู่เทสก์ เทสก์รังสี เป็นต้น”

เห็นรายชื่อพระเกจิอาจารย์ทุกท่านแล้ว คงต้องยอมรับว่า สกลนครเป็นดินแดนแห่งธรรมะจริงๆ และทุกวันนี้แหล่งที่มีนักท่องเที่ยวไปเยือนมากที่สุดได้แก่ พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์มั่น ภูริ-ทัตโต ที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง ตรงข้ามศูนย์ราชการของจังหวัด และพิพิธภัณฑ์ อาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่วัดป่าอุดมสมพร ตำบลพรรณานิคม อำเภอพรรณานิคม จัดเป็นสถานที่ “เช็กอิน” ของนักท่องเที่ยวสายบุญที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียวในการไปเยือนสกลนคร

เป็นอันจบเรื่องราวเกี่ยวกับ “ของดี” ที่อยู่ในคำขวัญจังหวัดแต่เพียงเท่านี้–แต่ขอบอกว่าที่จังหวัดนี้ยังมีอะไรดีๆ ที่น่าเที่ยว น่าชมอีกมาก-แถมยังมีของอร่อยๆ ที่ขึ้นชื่อลือชาอีกด้วย

ด้วยเหตุฉะนี้ ข้อเขียนซอกแซกชุดไปรื้อฟื้นความหลังที่สกลนคร จึงยังจบในสัปดาห์นี้ไม่ได้ครับ…ขอแถมเป็นพิเศษให้อีก 1 สัปดาห์ก็แล้วกัน…รับรองสัปดาห์หน้าจบแน่นอน.

“ซูม”

จังหวัดสกลนคร, พระธาตุเชิงชุม, พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์, หนองหาน, ปราสาทผึ้ง, ซูมซอกแซก