ปิดตำนานห้าง “ญี่ปุ่น” จาก “ไดมารู” ถึง “อิเซตัน”

อีกเพียง 15 วัน จากวันนี้ไป หรือวันที่ 31 สิงหาคมที่จะถึง “อิเซตัน” ห้างญี่ปุ่นที่โด่งดังมากอีกห้างหนึ่งในประเทศไทย ก็จะปิดตัวลงพร้อมกับโบกมืออำลาประเทศไทยไปชั่วนิรันดร์ หลังจากเข้ามาเปิดห้างอยู่ ณ บริเวณราชประสงค์ ด้านเหนือสุดของเซ็นทรัลเวิลด์ ได้เพียง 28 ปี

ที่ใช้คำว่าอำลาไปชั่วนิรันดร์ ก็เพราะยังไม่มีรายงานข่าว หรือระแคะระคายว่า ห้างดังของญี่ปุ่นห้างนี้จะไปลงหลักปักฐานในพื้นที่ส่วนใดของ กทม. หรือแม้แต่ต่างจังหวัด

มีแต่ข่าวว่าจะกลับไปตั้งหลักที่ญี่ปุ่น หลังหมดสัญญาเช่ากับบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา ผู้ได้สิทธิการใช้พื้นที่ในบริเวณดังกล่าวรายล่าสุด จึงขอสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ด้วยสภาวะเศรษฐกิจทั้งของโลก ของญี่ปุ่นและของไทยเราด้วยในขณะนี้ น่าจะเป็นการอำลาแบบ “นิรันดร์” ค่อนข้างแน่นอน

กล่าวไปแล้วในบรรดาห้างญี่ปุ่นเท่าที่เคยมีมาในประเทศไทยเรานั้น ห้าง อิเซตัน นี่แหละที่มีความเป็น “ห้างญี่ปุ่น” มากกว่าห้างอื่นๆ

โดยเฉพาะอาณาบริเวณจำหน่าย “อาหารญี่ปุ่น” ของอิเซตัน ซึ่งอยู่บนชั้น 5 นั้น แทบจะจำลองแบบมาจากโซนอาหารในห้างญี่ปุ่นมาเลยทีเดียว ทั้งในเรื่องของอาหาร, การจัดร้าน, การวาง การทอดการอบและกลิ่นที่คละคลุ้งละม้ายคล้ายคลึงกับห้างที่เป็นสำนักงานใหญ่ของ อิเซตัน ที่ ชินจูกุ อย่างไรอย่างนั้น

การโบกมือลาแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ทั้งๆ เพิ่งจะลงทุน “รีโนเวต” หรือตกแต่งปรับปรุงใหม่ทั้งห้างไปร่วมๆ 1,000 ล้านบาท เมื่อปี 2558 และกิจการก็ยังพอไปได้ และมีกำไรอยู่ แม้จะไม่มากนักในช่วงหลังๆ จึงทำให้แฟนๆ ที่ชอบเดินห้างสไตล์ญี่ปุ่นรู้สึกช็อกไปพอสมควร

หัวหน้าทีมซอกแซกในฐานะนักเดินห้างตัวฉกาจ ก็พลอยช็อกไปด้วย เพราะคุ้นเคยกับ อิเซตัน มาตั้งแต่ยุคที่ยังเรียกกันว่า “เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์” มักจะแวะไปเดินที่นี่บ่อยๆ เพราะชอบอยู่ 3 จุด…คือ นอกจากชั้น 5 ที่เป็นชั้น อาหารญี่ปุ่น ที่ชอบเป็นพิเศษแล้ว ก็จะชอบชั้น 4 ซึ่งมีแผนกเครื่องเขียน ที่จัดร้านอย่างคิกขุอาโนเนะ เหมือนร้านเครื่องเขียนที่ญี่ปุ่น และมีดินสอปากกา ตลอดจนสมุดที่สั่งตรงจากญี่ปุ่นมาจำหน่ายจำนวนมาก

หัวหน้าทีมซอกแซกมีโอกาสได้ซื้อปากกา ลูกลื่นจากญี่ปุ่นมาใช้บ้างก็ที่นี่แหละ…

จุดที่ 3 ที่ชอบมาก ถือเป็นแฟนประจำอยู่พักหนึ่งเลย อยู่บนชั้น 6 ครับ นั่นก็คือร้านหนังสือ คิโนะ คุนิยะ แห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งหัวหน้าทีมจะแวะไปบ่อยมากตอนเปิดใหม่ๆ และทุกครั้งที่ไปก็จะใช้เวลาในการเดินดู เดินลูบคลำ (หนังสือ) และซื้อกลับบ้านบ้างสำหรับบางเล่ม

รวมความแล้ว โดยส่วนตัวของหัวหน้าทีมซอกแซกค่อนข้างมีความทรงจำที่ดีสำหรับห้าง อิเซตัน มากพอสมควรทีเดียว จึงรู้สึกใจหายและเสียดายไม่น้อย เมื่อทราบข่าวว่า อิเซตันตัดสินใจจะเลิกกิจการโดยประกาศล่วง หน้ามาตั้งแต่เดือนมีนาคม ก่อนโควิด-19 เริ่มระบาดหนักวันสองวันเห็นจะได้ และต้องปิดชั่วคราวหนีโควิด-19 อยู่ระยะหนึ่ง

ดังนั้น เมื่อกลับมาเปิดใหม่เมื่อไม่นานมานี้ หัวหน้าทีมซอกแซกจึงชวนลูกทีมแวะไปเดินสั่งลาอยู่หลายชั่วโมง ตระเวนไปทั่วทุกชั้นและอยู่นานหน่อยในชั้นอาหาร เพราะได้เวลาเที่ยงพอดิบพอดี ก็เลยแวะซื้อสารพันอาหารญี่ปุ่นไปนั่งรับประทานในฟู้ดคอร์ตจนอิ่มแปล้

ก็ต้องบอกว่าผู้คนแน่นขนัดเลยละครับ เพราะนอกจากลูกค้าเก่าๆ ที่มารำลึกความหลังแล้ว บรรดานักช็อปที่ชอบของถูกได้ข่าวว่าจะมีการขายของแบบ “เคลียร์แรนซ์” ที่คนไทยมักอ่านเป็น “เคลียร์ร้าน” ลดราคาขนานใหญ่แห่มาอุดหนุนจำนวนมาก

ท่านผู้อ่านที่เป็นแฟนห้างนี้ในด้านใดก็ตาม ยังมีเวลาแวะไปแสดงความอาลัยได้อีก 15 วันจนถึง 31 สิงหาคมอย่างที่ว่า

นับเป็นห้างญี่ปุ่นอีกห้างหนึ่งที่ต้องโบกมือลาประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีห้าง ไดมารู ที่เคยมาโด่งดังแต่ในที่สุดก็อำลาไปเช่นกัน

จริงๆ แล้ว ไดมารู ก็ถือกำเนิดในบริเวณเดียวกับ อิเซตัน นี่แหละ เกือบจะพื้นที่เดียวกันด้วยซํ้า ช่วงแรกๆ ประสบความสำเร็จสูงมาก ในฐานะห้างแรกของประเทศไทยที่นำ บันไดเลื่อน มาบริการลูกค้า เมื่อ พ.ศ.2504-2505 โดยประมาณ

ทำให้คนไทยแห่กันไปอุดหนุนแน่นขนัด เพื่อจะหาโอกาสตากแอร์และขึ้นบันไดเลื่อน ซึ่งถือว่าโก้มากในยุคดังกล่าว

ต่อมาห้าง ไดมารู ย้ายไปอยู่ที่ฝั่งตรงข้ามบริเวณราชดำริอาเขต ที่เป็น บิ๊กซี ในปัจจุบันนี้ แรกๆ ก็ประสบความสำเร็จสูงมาก ผู้คนไปอุดหนุนหนาแน่นจนกลายเป็นเป้าการโจมตีต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นของ ศูนย์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2514-2515

ถือเป็นการแจ้งเกิดของศูนย์นิสิตฯ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นกำลังหลักในการเรียกร้องประชาธิปไตย นำไปสู่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โค่นล้มรัฐบาลเผด็จการในยุคนั้นได้สำเร็จ

ห้างไดมารู หรือชื่อเต็มว่า ไทยไดมารู เปิดบริการมาจนถึงปี 2537 ที่ศูนย์การค้าราชดำริอาเขตเมื่อหมดสัญญาแล้ว ได้ย้ายไปที่ เสรีเซ็นเตอร์ ถนนศรีนครินทร์ (ปัจจุบันคือพาราไดซ์พาร์ค) แต่ไม่ประสบความสำเร็จเหมือนยุคแรกๆ

มาถึง พ.ศ.2540 ยุคฟองสบู่แตก เศรษฐกิจไทยอยู่ในฐานะยํ่าแย่ เป็นเหตุให้ไดมารู ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จที่ถนนศรีนครินทร์ ตัดสินใจอำลาประเทศไทย ซึ่งเข้าใจว่าจะชั่วนิรันดร์เช่นกัน เพราะไม่มีข่าวว่าจะกลับมาใหม่แต่อย่างใดนับมาถึงบัดนี้

ปัจจุบันนี้ ห้างญี่ปุ่นที่เป็นห้างแบบจำหน่ายสินค้าครบเครื่อง น่าจะมีหลักๆ อยู่แค่ 2 คือห้าง โตคิว ที่มาบุญครอง ซึ่งเท่าที่เคยไปเยือนล่าสุดน่าจะยังพออยู่ได้

กับห้างใหม่ถอดด้าม ทาคาชิมายะ ที่มาเปิดที่ ไอคอนสยาม เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ที่นี่เคยแวะไป 2-3 ครั้ง ห้องอาหารด้านล่างสุดแน่นมาก แต่ในตัวห้างสรรพสินค้ายังไม่คึกคักเท่าที่ควร

ครับ ก็เป็นตำนานเล็กๆ น้อยๆ ของห้างญี่ปุ่นไทยแลนด์ ซึ่งมีทั้งเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปตามแก่นธรรมของพุทธศาสนา

เมื่อเกิดขึ้นและตั้งอยู่ เราก็ดีใจ เมื่อถึงคราวจะต้องจากไป เราก็แสดงความอาลัยและ คิดถึง…ขอให้ไปดีมาดีและโชคดีนะครับ อิเซตัน!

“ซูม”

ห้างอิเซตัน, ห้างไดมารู, ห้างญี่ปุ่น, ซูมซอกแซก