เป็นห่วงคำว่า “ประชารัฐ” จาก “ลำไม้ไผ่” สู่ “บ้องกัญชา”

ท่านผู้อ่านคงจำได้ว่า ในช่วงที่รัฐบาล “บิ๊กตู่” ยุค คสช. ได้เสนอโมเดลพัฒนาประเทศ “ไทยแลนด์ 4.0” จนทำให้ตัวเลข 4.0 โด่งดังเป็นพลุแตก จนแทบจะกลายเป็นตัวเลขสามัญประจำบ้านดังที่ผมเขียนไว้เมื่อ 2 วันที่แล้วนั้น

อีกคำหนึ่งที่ฮิตมากคือ คำว่า “ประชารัฐ” ที่ทีมเศรษฐกิจของบิ๊กตู่เสนอว่าจะใช้เป็นขบวนการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 นั่นเอง

มีการจัดตั้ง กรรมการประชารัฐ หรืออะไรนี่แหละขึ้นโดยเชื้อเชิญภาคเอกชนระดับบิ๊กๆ มาร่วมจับมือกับรัฐบาลลงไปช่วยพัฒนาชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศอย่างคึกคัก

ผมก็เอามาเขียนในคอลัมน์นี้ว่า “ประชารัฐ” เป็นคำที่อยู่ในเพลง “ชาติไทย” ที่มีเนื้อร้องท่อนแรกว่า “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย…เป็นประชารัฐ…ไผทของไทยทุกส่วน” นั่นเอง

ผู้ที่หยิบคำนี้ออกจากเนื้อเพลงชาติออกมาใช้เป็นท่านแรกก็คือ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ในการประชุมสัมมนาเพื่อเตรียม แผนพัฒนา ฉบับที่ 8 พ.ศ.2540-2544 เมื่อประมาณปี 2538 หรือ 2539

ดร.ชัยอนันต์เสนอว่า แผนพัฒนาฉบับที่ 8 ที่มีจุดมุ่งหมายในการพัฒนาคนและใช้ “คน” เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาควรจะมีขบวนการการทำงานระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนและประชาชนอย่างชัดเจน ที่ท่านเรียกว่า ขบวนการประชารัฐ

จำได้ว่า ท่านยังร้องเพลงชาติท่อนดังกล่าวให้ที่ประชุมฟังเพื่อยืนยันว่า คำว่า “ประชารัฐ” มาจากเพลงชาติไทยโดยแท้

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ในยุคนั้น ซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมชอบคำนี้มาก สั่งให้ฝ่ายเลขานุการซึ่งมีผมเป็นหัวหน้าทีมจดไว้ และให้เขียนไว้ในแผนพัฒนาฉบับที่ 8 ด้วย

ผมรีบจดทันทีและนำไปเขียนลงแผน 8 ถ้าจำไม่ผิดน่าจะอยู่ในบทที่ว่าด้วย ขบวนการที่จะนำแผน 8 ไปสู่การปฏิบัติ โดยมี ขบวนการประชารัฐ อยู่ด้วยเป็นมาตรการสำคัญ

แต่พอแผน 8 ออกมาใช้เมื่อ พ.ศ.2540 ผมก็ลาออกจากราชการมาเขียนหนังสือที่ไทยรัฐเต็มตัว ท่านเลขาฯ สุเมธท่านก็โยกกลับไปดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการ กปร. ประสานงานโครงการในพระ ราชดำริต่างๆของในหลวง ร.9

แผนการที่จะใช้ขบวนการประชารัฐขับเคลื่อนประเทศจึงหายจ้อยไป กลายเป็น “แพลนนิ่ง” หรือแพลนที่นอนแน่นิ่งอยู่บนหิ้งนับตั้งแต่นั้น

จนมาถึงยุครัฐบาลบิ๊กตู่นี่แหละครับ ที่ทีมงานเศรษฐกิจของท่าน หยิบยกมาใช้อีกครั้ง จะโดยท่านคิดขึ้นมาเอง แต่บังเอิญไปพ้องกับแผน 8 หรืออย่างไรไม่ทราบได้

แต่พวกเราในฐานะผู้ยกร่างแผน 8 ต่างรู้สึกภูมิใจไปตามๆ กันที่สิ่งที่เราคิดกันไว้ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2540 ได้มีโอกาสกลับมาสู่การปฏิบัติอีกครั้ง แม้เวลาจะผ่านไปเกือบๆ 20 ปี

ผมเดาว่าผู้ที่นำคำว่า “ประชารัฐ” มาใช้ต้องเป็น 1 ใน 4 กุมารนี่แหละ เพราะในเอกสาร “ไทยแลนด์ 4.0 ทุกชิ้น” ที่พิมพ์เผยแพร่โดยรัฐบาลบิ๊กตู่ยุคนั้นจะเน้นคำว่ากลไก “ประชารัฐ” ไปด้วยตลอด

รวมทั้งเมื่อ 4 กุมารลาออกมาตั้งพรรคการเมือง ก็ยังเอาคำว่า “ประชารัฐ” มาใช้ โดยเติมคำว่า “พลัง” ไว้ข้างหน้า

ผมเองในฐานะเคยช่วยทำคลอดคำนี้ ก็พลอยภูมิใจไปด้วย ถึงแม้จะห่วงนิดๆ ที่ถ้อยคำคำนี้ได้กลายเป็นชื่อพรรคการเมืองไปแล้วก็ตาม

แต่ก็คิดเสียว่าท่านหัวหน้าพรรคคือ ดร.อุตตม สาวนายน ในขณะนั้นก็เป็นนักวิชาการเก่า เป็นนักบริหารภาคเอกชนที่มีชื่อเสียง มือสะอาดไม่ด่างพร้อย คงไม่ทำให้คำว่า “ประชารัฐ” มัวหมองละน่า

แต่พอมาถึงวันนี้ ผมไม่ค่อยแน่ใจเสียแล้ว เพราะหัวหน้าพรรคเปลี๊ยนไป๋ กรรมการบริหารพรรคก็เปลี๊ยนไป๋ กลายเป็นนักการเมือง

เขี้ยวลากดินบ้าง เป็นบุคคลที่ชาวบ้านได้ยินชื่อแล้วร้องยี้บ้าง

จะมีใครเข้าใจปรัชญาและอุดมคติของคำว่า “ประชารัฐ” ลึกซึ้ง แค่ไหนก็ไม่รู้…ผมละกลัวจริงๆ ว่าจะกลายเป็น “ประชาเละ” ในที่สุด

เขียนแล้วก็นึกถึงเพลงพื้นบ้านไทยที่ร้องกันว่า “ลาเอ๊ยลา…ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่…พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา” จริงๆ ครับ

คำว่า “ประชารัฐ” เป็นคำที่สวยงาม มีความหมายงดงามเหมือน ไม้ไผ่ลำสวยๆ…จากนี้ไปจะกลายเป็น “บ้องกัญชา” หรือไม่หนอ?

“ซูม”

ประชารัฐ, ไทยแลนด์ 4.0, 4 กุมาร, ซูมซอกแซก