“แก้มลิง” หนองใหญ่ หนึ่งในของดี “ชุมพร”

ซอกแซกสัปดาห์นี้ เรายังอยู่กันที่จังหวัดชุมพร “ประตูสู่แดนใต้” นะครับ เพราะได้ทิ้งท้ายไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ไปชุมพรหนนี้แม้จะมีเวลาไม่ถึง 12 ชั่วโมง แต่ก็ได้เที่ยว และทำในสิ่งที่ปรารถนาอย่างยิ่งคือ ได้ไปกราบ “เสด็จเตี่ย” ที่ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ เชิงเขาหัวถ่าน บริเวณหาดทรายรี

จึงเท่ากับได้เรียนรู้เรื่องราวของพระบิดาแห่งกองทัพเรือ ได้มีโอกาสเยี่ยมพระตำหนักที่พระองค์สิ้นพระชนม์ ได้ชมเรือรบหลวง “ชุมพร” 1 ในเรือตอร์ปิโดที่เคยรับใช้ประเทศชาติมาตั้งแต่สงครามอินโดจีน

อีกทั้งยังได้สัมผัสกับความงามของ “หาดทรายรี” หาดทรายที่สวยสุดแห่งหนึ่งของประเทศ เป็นของแถมอันทรงคุณค่าอีกด้วย

ก่อนจะกลับเข้ามานั่งรถชมเมืองตระเวนอยู่อย่างน้อย 1 รอบใหญ่ๆ แล้วก็ไปยังอีก 1 สถานที่ ท่องเที่ยว ซึ่งหัวหน้าทีมซอกแซกไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีความประทับใจอย่างมากมาย จนอยากจะใช้คำว่า “เป็นบุญ” เหลือเกินที่เราตัดสินใจไป ณ สถานที่แห่งนี้

อ่างเก็บนํ้าหนองใหญ่ ตำบลบางลึก อ.เมือง จังหวัดชุมพร หรือที่เรียกกันว่า “แก้มลิงหนองใหญ่” นั่นเอง

นี่คือหนึ่งในโครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์แก่จังหวัดชุมพรอย่างมากมายมหาศาลนับตั้งแต่มีการดำเนินการตามแนวพระราชดำริเมื่อปี 2540 มาจนถึงปัจจุบันนี้

นี่คือ “แก้มลิง” หรือแหล่งนํ้าใหญ่สำหรับป้องกันนํ้าท่วมเมืองในฤดูนํ้าหลาก และสามารถเก็บนํ้าไว้กินไว้ใช้ในฤดูแล้งแห่งแรกๆ ของประเทศ ไทย…ที่ทุกวันนี้ก็ยังคงประโยชน์ดังกล่าวอยู่ และได้รับการขยายประโยชน์เพิ่มเติมมากขึ้นไปอีก

เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นแหล่งนํ้าที่ช่วยมิให้นํ้าท่วมจังหวัดชุมพรเท่านั้น ปริมาณนํ้าที่เก็บไว้ในแก้มลิง หนองใหญ่ ยังนำไปใช้เพื่อการเกษตรสำหรับหมู่บ้านที่อยู่รอบๆ ถึง 6 หมู่บ้าน รวมแล้วกว่า 1 พันครัวเรือน เพื่อปลูกพืช ทำสวน เลี้ยงสัตว์และการประมงต่างๆ ตลอดจนใช้เป็นนํ้าดิบสำหรับ นํ้าประปาในหมู่บ้านเหล่านั้นไปด้วยพร้อมๆ กัน

ล่าสุดได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจทั้งของชาวชุมพรและนักท่องเที่ยวที่ไปเยือน เมื่อมีการพัฒนาเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายๆ ประการ

สะพานไม้เคี่ยม หรือสะพานที่ทำจาก ไม้เคี่ยม ไม้ดังของภาคใต้ที่มีความทนทานน้องๆ ไม้สัก ที่มีความยาวกว่า 1 กิโลเมตร ทอดยอดข้ามไปบนแหล่งนํ้าอันกว้างใหญ่ที่ชาวชุมพรชอบไปเดินในตอนบ่ายๆเย็นๆ…อยู่ที่นี่

สะพานชมกวาง สะพานไม้สั้นๆ อีก 1 สะพานที่สร้างเคียงคู่ไปกับบริเวณเกาะอันเขียวชอุ่มริมสระนํ้า…ซึ่งสามารถเดินชมกวางและให้อาหารกวางที่มีอยู่นับร้อยตัวในบริเวณนั้นก็อยู่ที่นี่

อีกทั้งยังมีบริการ นั่งแพ ไปตามแหล่งนํ้าเพื่อไปชมวิวทิวทัศน์ต่างๆ ก่อนจะถึงบริเวณที่อยู่อาศัยของฝูงกวางก็เป็นอีกหนึ่งความนิยมที่คนชุมพรเล่าให้ฟัง

ทีมงานซอกแซกมีเวลาไม่มากนัก ใช้วิธีขับรถไปจอดหน้า สะพานชมกวาง พร้อมกับแวะซื้อกล้วยนํ้าว้าเพื่อเป็นอาหารกวาง และซื้อ อาหารปลาที่บรรจุถุงไว้เรียบร้อยจำนวนหนึ่ง ก่อน เดินขึ้นสู่สะพานมุ่งหน้าไปสู่เกาะด้านหน้าที่มีกวางรออยู่กว่า 30 ตัว

แม้ช่วงเวลาที่ทีมงานซอกแซกเดินข้ามไปนั้นจะเกือบบ่าย 3 โมงแล้ว แดดเปรี้ยงมากๆ แต่กลับไม่รู้สึกร้อนเท่าไรนัก จากลมเย็นที่พัดโกรกตลอดเวลา

ทำให้บรรยากาศของการเลี้ยงกวางด้วยการโยนกล้วยไปให้ และการเลี้ยงปลาด้วยการโปรยอาหารปลาลงสู่แม่นํ้าของทีมงานซอกแซกรุ่นจิ๋วเป็นไปอย่างสนุกสนานและตื่นตาตื่นใจ

จากสะพานชมกวางจะมองเห็น “สะพานไม้เคี่ยม” ทอดยาวอยู่ข้างหน้าไม่ไกลเท่าไรนัก

เสียดายที่คณะของเราไม่มีเวลาพอที่จะไปเดินข้ามได้…แต่ก็ใช้กล้องที่มีซูมถ่ายภาพเอาไว้หลายๆภาพเพื่อเก็บไว้เตือนความทรงจำ

ทีมงานซอกแซกใช้เวลาอยู่ในบริเวณ แก้มลิง หนองใหญ่ เกือบๆ ชั่วโมงเห็นจะได้ เพราะเมื่อลงจากสะพานชมกวางแล้ว ก็ยังกลับไปที่บริเวณจุดเริ่มของโครงการที่มี “ลิงยักษ์” ตัวหนึ่งยืนเป็น จุดเด่นสำหรับให้นักท่องเที่ยวเช็กอินว่าได้มาเยือนโครงการแก้มลิงในพระราชดำริแห่งนี้แล้ว

เมื่อกลับมาถึง กทม. และกลับมาทำงาน ที่โรงพิมพ์แล้ว ก่อนเขียนต้นฉบับวันนี้ หัวหน้าทีมซอกแซกได้เข้ากูเกิลค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม

ทั้งข่าวและคลิปเมื่อครั้งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงกล่าวถึงแหล่งนํ้าหนองใหญ่ครั้งแรกแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีดังกล่าว เมื่อคํ่าวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2540 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา

มีพระราชดำรัสให้ผู้เข้าเฝ้าทราบถึงการเกิดภาวะนํ้าท่วมเมืองชุมพร และทรงกล่าวถึงแก้มลิงแห่งนี้ว่าจะช่วยแก้ปัญหานํ้าท่วมได้หากมีการพัฒนาเพิ่มเติม

ทรงอธิบายอย่างละเอียดทุกขั้นตอนราวกับเสด็จฯ มาทอดพระเนตรหลายครั้งแล้ว แสดงถึง ความสนพระทัยที่มีต่อความทุกข์ยากของราษฎรของพระองค์ท่านโดยแท้

พระองค์ได้พระราชทานงบประมาณจำนวนหนึ่งจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ร่วมกับงบประมาณของกรมชลประทานจัดบูรณะแก้มลิงหนองใหญ่และขุดคลองที่สำคัญในบริเวณใกล้ๆ เพื่อเปิดทางนํ้าให้ไหลสะดวกขึ้น

ต่อมาในปี 2541 ได้เสด็จฯ มาทอดพระเนตรโครงการที่สำเร็จลุล่วงแล้ว และทรงอธิบายถึง ความสำเร็จแก่ผู้เข้าเฝ้าในวันที่ 4 ธันวาคม ปี 2541 อีกครั้งหนึ่ง

นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวชุมพรอย่างล้นพ้นหาที่สุดมิได้

ที่น่าชื่นชมก็คือ พสกนิกรชาวชุมพรได้ต่อยอดสืบสานโครงการออกไปอีกจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โด่งดังของจังหวัดในปัจจุบันนี้

ขอยํ้าอีกครั้งนะครับ…ถ้าท่านผู้อ่านมีโอกาสไปชุมพรและมีเวลามากพอ…อย่าลืมแวะไป รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้าฯ ร.9 และถือโอกาสเดินทอดน่องไปบน “สะพานเคี่ยม” และ “สะพานชมกวาง” กันด้วย

จะทำให้การเยือนจังหวัดชุมพรของท่าน ผู้อ่านมีความหมาย ทรงคุณค่าและประทับใจจนยากที่จะลืมเลือนไปอีกนานแสนนาน.

“ซูม”