หัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่ ต้องเป็นคนที่ “สังคม” ยอมรับ

หัวข่าวหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ 2-3 วันนี้ เป็นไปในทำนองเดียวกันหมดว่า คงจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรัฐบาลอย่างแน่นอน ในช่วงเวลาที่ไม่นานเกินรอนับจากนี้

ไทยรัฐ กรอบล่วงหน้าประจำวันพุธที่ผมบอกรับเป็นประจำที่บ้าน พาดหัวใหญ่ว่า “สมคิดปลงวงการเมืองไทย…ครวญคนดีอยู่ไม่ได้” และพาดหัวเล็กลงมาหน่อยขยายความว่า “3 กุมารย้ำสปิริตไปทั้งทีม”

ส่วนของ มติชน ฉบับตรงวัน (อังคารที่ 9 มิ.ย.) พาดหัวใหญ่ว่า “สุวิทย์…ชี้ภารกิจจบ-จับเข่า-2 กุมาร วันนี้” ตามด้วยหัวขนาดเล็ก แต่ก็โดดเด่นพอสมควรว่า “ลั่น…มาด้วยกันไปด้วยกัน”

ซึ่งก็เป็นไปตามความคาดหมายก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เพราะทันทีที่มีข่าวว่า คณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐรวม 18 คน พร้อมใจกันยื่นใบลาออกเพื่อให้มีการเลือกกรรมการบริหารใหม่

สื่อทุกๆ ฉบับก็คาดหมายไว้แล้วว่า หัวหน้าพรรคคนใหม่จะชื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ใช่นายอุตตม สาวนายน อีกต่อไป รวมถึงเลขาธิการพรรคก็จะไม่ใช่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อีกต่อไป

ผลที่จะตามมาก็คือ คงต้องมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีให้สอดคล้องกับตำแหน่งใหม่ของพรรค ซึ่งแปลว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะไม่ใช่คุณอุตมะ และรัฐมนตรีพลังงานก็จะไม่ใช่คุณสนธิรัตน์ต่อไปอีก

ลงท้ายก็คงต้องเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจใหม่ทั้งยวง อันหมายถึงว่า ท่านรองฯ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็จะต้องหลุดไปด้วย

เพราะจะให้ท่านเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แต่ลูกน้องร่วมทีมไม่ใช่คนของท่าน หรือคนที่ท่านไว้วางใจ…การทำงานเป็นทีมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ผมเองก็เคยแสดงความเห็นไว้แล้วว่า ไม่เห็นด้วยเลยกับการเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มี “กาลเทศะ” ของบรรดากรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐที่ลงชื่อลาออกในครั้งนี้

เพราะเป็นห้วงเวลาที่จะต้องแสดงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สมัครสมานสามัคคีกัน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยที่ประสบความเสียหายอย่างใหญ่หลวงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

ภาครัฐในฐานะแกนนำจะต้องมีแผนการที่แน่นอน มีการทำงานที่น่าไว้วางใจน่าเชื่อถือเพื่อให้ภาคเอกชนที่เป็นกำลังหลักอีกส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจมีขวัญมีกำลังใจที่จะให้ความร่วมมือและเดินตามแผนนโยบายที่รัฐวางไว้

หากการเปลี่ยนแปลง จะหมายถึงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ ยังพออนุโลมได้ แต่เมื่อมีผลกระทบโดยตรงต่อตำแหน่งสำคัญๆ ทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ย่อมจะนำมาซึ่งความหวั่นวิตก ทำให้ขวัญกำลังใจของนักลงทุนย่อหย่อนลงไปในทันที

ที่ผมตำหนิว่า กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐไม่รู้จักกาลเทศะ ก็ด้วยเหตุนี้

ท่านที่ติดตามข้อเขียนของผมมาตลอดคงจะพอจับทางได้ว่าผมเองก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับนโยบายของท่านรองฯ สมคิด มีการเขียนติงเขียนแย้งไว้หลายๆ ครั้งในหลายๆ ประเด็น

แต่ในภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นขณะนี้ ท่านได้วางแนวทางในการแก้ไขไว้แล้ว มีโครงการไว้แล้ว รวมถึงจัดสรรงบประมาณเอาไว้แล้ว

แม้จะมีหลายประเด็นที่ผมยังไม่เห็นด้วยเท่าใดนัก แต่ก็เห็นว่าจะต้องให้ท่านลงมือทำไปตามที่ท่านและทีมเศรษฐกิจของท่านคิดเอาไว้

ด้วยเหตุผลหลักที่ว่า เราต้องการความเป็นหนึ่งเดียวกัน ต้องการให้รัฐบาลเป็นแกนหลักที่จะนำภาคเอกชนและประชาชนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่เสียหายใหญ่หลวงครั้งนี้

ก็เอาเถอะเมื่อทัดทานไว้ไม่ได้ ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามกลไกทางการเมือง ซึ่งในที่สุดน่าจะจบลงอย่างที่หนังสือพิมพ์พาดหัวข่าวไว้

ผมก็คงต้องฝาก “บิ๊กตู่” ไว้อีกเช่นเคยว่า เพื่อให้ขวัญของภาคเอกชนกลับมาเชื่อถือเชื่อมั่นต่อรัฐบาลดังเดิม และพร้อมที่จะร่วมมือกับท่านในการกอบกู้เศรษฐกิจครั้งนี้อย่างเข้มแข็งเช่นเดิมนั้น

ชื่อของหัวหน้าทีมเศรษฐกิจคนใหม่จะต้องเป็นที่ “ยอมรับ” ของสังคมไทย จะต้องเรียกเสียงอุทานว่า “ฮ้อ!” หรือ “ฮ้อแรด” ถ้าเป็น ไปได้…อย่าให้อุทานคำว่า “ยี้” เป็นอันขาดเชียวนะครับบิ๊กตู่ครับ

เฮ้อ! คิดแล้วก็หนักใจแทนท่านนายกฯ เพราะนักเศรษฐศาสตร์ หรือนักการเงินการธนาคารที่คนได้ยินชื่อแล้วร้องฮ้อ! ชักจะเหลือน้อยเต็มที…และที่สำคัญ ผมก็ไม่แน่ใจว่าท่านเหล่านั้นจะยอมมาหรือไม่ เมื่อได้รับเทียบเชิญจากบิ๊กตู่น่ะ!

“ซูม”