“การบินไทย” กับการอยู่รอด เส้นทางที่เลือกแล้วของบิ๊กตู่

เมื่อเวลา 12.45 น. ของวันอังคารที่ 19 พฤษภาคม 2563 ไทยรัฐ ออนไลน์ถอดหัวข่าวใหญ่อะไรไม่ทราบออกไปข่าวหนึ่ง พร้อมกับขึ้นหัวใหม่ ตัวใหญ่เท่ากันว่า “นายกฯ แถลง ครม.เห็นชอบแผนฟื้นฟูให้การบินไทยเข้ากระบวนการศาลล้มละลาย”

ผมรีบคลิกเข้าไปดูทันที ก็ทราบรายละเอียดโดยสรุปเกี่ยวกับเรื่องราวทั้งหมด พร้อมกับคำพูดประโยคหนึ่งของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ว่า…

“ผมต้องตัดสินใจให้การบินไทยเข้าสู่แผนฟื้นฟู ขออนุญาตให้การบินไทยเข้าไปอยู่ภายใต้อำนาจศาล แล้วศาลก็จะตั้งผู้บริหารเข้ามาดูแลเพื่อจัดการต่อไป ซึ่งก็จะทำให้การปรับโครงสร้างของการบินไทยเกิดขึ้นได้ ส่วนรายละเอียดต่างๆ ศาลจะเป็นผู้กำหนด แล้วทางรัฐบาลจะแจ้งให้ทราบในรายละเอียดต่อไป”

ความจริงการตัดสินใจของ ครม.ก็มิได้เหนือความคาดหมายใดๆ เพราะมีข่าวมาหลายวันแล้วว่า รัฐบาลจะเลือกใช้เส้นทางนี้เป็นทางออก และในทรรศนะของผู้สันทัดกรณีส่วนใหญ่ถือว่าเป็นหนทางที่ดีสุด

ผมเองก็เห็นด้วยครับ และลุ้นมาตลอดขอให้รัฐบาลเดินหน้าใช้วิธีนี้โดยไม่มีการเปลี่ยนใจในนาทีสุดท้าย

คำว่า “ล้มละลาย” ฟังดูแล้วน่ากลัว โดยเฉพาะเมื่อเกิดขึ้นกับบุคคลต่างๆ ใครก็ตามที่ต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลายตามคำสั่งศาลฟังดูเหมือนจะกลายเป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอกยังไงก็ไม่รู้

เพราะจะโดนพิทักษ์ทรัพย์เอาไว้ทั้งหมด โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อนำทรัพย์ไปจ่ายแก่เจ้าหนี้

จะไปทำมาหากินอะไรก็ไม่ได้ เพราะไม่สามารถทำนิติกรรมใดๆ ได้เลย

แม้แต่จะสมัคร ส.ส.ก็ไม่ได้ เป็นข้าราชการก็ไม่ได้…ขนาดคนที่เป็นข้าราชการอยู่แล้ว พอศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลายยังต้องออกจากราชการทันทีทันใด

แต่สำหรับกรณีนี้ การบินไทยยังไม่ได้ล้มละลายนะครับ เพียงแต่เห็นว่าจะไปไม่รอดแล้ว จึงขอยื่นฟื้นฟูเสียก่อน ผ่านกระบวนการของศาลล้มละลายกลางตามที่กฎหมายเปิดทางไว้ให้

ซึ่งเมื่อยื่นคำร้อง รวมทั้งเสนอแผนฟื้นฟูไปด้วยนั้น หากได้รับอนุมัติจากศาลแล้วก็จะสามารถดำเนินธุรกิจได้ตามแผนที่ศาลเห็นชอบ

ซึ่งแน่นอนในแผนฟื้นฟูย่อมจะต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่ ปรับองค์กรใหม่ให้มีรูปแบบที่กะทัดรัดลง…ลดคน ลดพนักงานส่วนเกินลง ทำให้มีโอกาสที่จะแก้ตัวจนสามารถพลิกฟื้นกลับมาได้

มองจากมุมของสายการบิน การเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายก็ไม่ใช่เรื่องน่าอับอายอะไร เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา สายการบิน ใหญ่ๆ ของโลกก็เคยใช้วิธีนี้ในการอยู่รอดทั้งสิ้น

ไม่ว่าจะเป็น อเมริกัน แอร์ไลน์ส สายการบินดังของสหรัฐฯ หรือ เจแปน แอร์ไลน์ส สายการบินที่เรารู้จักคุ้นเคยอย่างดียิ่งของญี่ปุ่นก็ล้วน เป็นศิษย์เก่าศาลล้มละลายในประเทศนั้นๆ มาแล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ดี แม้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะเห็นด้วยกับวิธีนี้ แต่ก็มัก ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ด้วยว่า ผู้บริหาร หรือคณะผู้บริหารสูงสุด จะมีความสำคัญอย่างมากว่าจะดำเนินการได้สำเร็จตามแผนฟื้นฟูหรือไม่

ในประเด็นนี้ ท่าน พิชัย นิลทองคำ อดีตผู้พิพากษาอาวุโสในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ซึ่งให้สัมภาษณ์ บีบีซี ภาษาไทยไว้อย่างละเอียดว่า การบินไทยควรเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ได้เสนอแนะไว้ด้วยว่า

“ตลอดเวลาที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟูของศาล ซึ่งต้องใช้เวลา 3-5 ปีนั้น ผู้บริหารถือว่าสำคัญที่สุด ควรต้องเป็นคนดี มีความรู้ ไม่อิง การเมือง ไม่แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ฯลฯ”

ฝาก “บิ๊กตู่” ไปคิดก็แล้วกันครับว่า ผู้บริหาร หรือคณะบริหารของการบินไทยยุคเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูที่มีคุณสมบัติดังที่อดีตผู้พิพากษาอาวุโสเสนอแนะควรจะมีใครบ้าง

สรุป ก่อนจบคอลัมน์ ผมเดินลุกจากโต๊ะผมไปที่เฉลียงตึกกองบรรณาธิการด้านตะวันออก ซึ่งมองออกไปจะเห็นตึกการบินไทยตั้งตระหง่านอยู่ที่อีกฝั่งของถนนวิภาวดีรังสิต ตรงข้ามกับไทยรัฐเป๊ะเลย

ผมถือโอกาสโบกมือให้ตึกสำนักงานใหญ่การบินไทยไปแล้วครับ เหมือนจะแสดงความยินดีกลายๆว่าไปเข้ากระบวนการของศาลล้มละลายเถอะเพื่อน…นี่คือทางออกที่ดีที่สุดของเพื่อนแล้วละ.

“ซูม”