‘Mask Bank’ ต้นแบบองค์กรไม่แสวงกำไร หารือ พม. จ่อตั้ง ‘วิสาหกิจเพื่อสังคม’    

ปัญหาขาดแคลน “หน้ากากอนามัย” ช่วงการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐต้องเร่งแก้ปัญหา ท่ามกลางวิกฤตดังกล่าว ได้ก่อเกิด “ธนาคารหน้ากาก” (Mask Bank) สตาร์ทอัพที่ไม่แสวงกำไร ซึ่งเพิ่งเปิดตัวเมื่อ 23 มีนาคมที่ผ่านมา

พร้อมแคมเปญ #ใช้1ให้1 ให้คนทั่วไปจองซื้อหน้ากากอนามัย (Surgical Mask) และหน้ากาก N95 เพื่อนำไปใช้เอง และบริจาคในสัดส่วน 1:1 (ใช้เอง 1 ชิ้น : บริจาค1 ชิ้น) ซึ่งได้รับการตอบรับล้นหลาม

โดยเตรียมเปิดโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย N95 แห่งแรกของไทยในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะสามารถลดการนำเข้า และแก้ปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัยได้แบบยั่งยืน

เพื่อให้การดำเนินงานเข้มแข็งในระยะยาว เมื่อ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้ก่อตั้ง และทีมงานของธนาคารหน้ากาก ได้เดินทางเข้าพบ “จุติ ไกรฤกษ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อขอจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจเพื่อสังคม” (Social Enterprise) ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวง พม. ที่มุ่งส่งเสริมองค์กรต่างๆ สู่การเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อสร้างเครือข่ายแห่งการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนในสังคมให้กว้างขึ้น และทำให้เกิดการการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

ด้วยสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ภาครัฐ ให้ความช่วยเหลือองค์กรประเภทนี้ ก็จะทำให้วิสาหกิจเพื่อสังคม องค์กรที่ไม่ได้มุ่งแสวงหากำไรเป็นที่ตั้ง จะสามารถดำเนินกิจการได้อย่างเข้มแข็ง และยั่งยืน

“ธนาคารหน้ากาก” จึงเป็นโมเดลของวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และถือเป็นต้นแบบองค์กรในยุคใหม่ ซึ่งกระทรวง พม. เชื่อว่าจะมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นองค์กรต่างๆ ในสังคม เข้ามาสู่เครือข่ายแห่งการ “ให้” และการช่วยเหลือที่ไม่สิ้นสุด