บัณฑูร ลํ่าซำ กับ “โควิด” ก็ถึงเวลาต้องใช้ “บุญเก่า”

มาถึงคำถามสำคัญที่ผมถามคุณบัณฑูร ลํ่าซำ ในการสัมภาษณ์พิเศษ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ท่านมองผลกระทบของไวรัส มหาภัยโควิด-19 ที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทยมากน้อยแค่ไหน? และประเทศไทยควรจะสู้ศึกเศรษฐกิจครั้งนี้อย่างไร?

คุณบัณฑูรตอบและฝากข้อคิดความเห็นที่น่าสนใจเอาไว้หลายข้อ …ผมขออนุญาตถอดบางส่วนจากเทปมาฝากท่านผู้อ่านและรัฐบาล (ถ้าจะอ่านด้วยก็จะดีมาก) ดังต่อไปนี้นะครับ

“หนักกว่าที่ผมคิดไว้เยอะ รายได้ของประเทศไทยเราหายวูบเลย รายได้สดๆ รายวันทั้งนั้น อย่าลืมว่าระบบเศรษฐกิจของเราพึ่งการท่องเที่ยวอย่างมาก เมื่อไม่มีคนมาเที่ยว ทั้งจากต่างประเทศ หรือแม้แต่ที่เราจะเที่ยวกันเอง รายได้ก้อนนี้ก็เป็นศูนย์ หายวาบไปเลย”

“นอกจากท่องเที่ยว ธุรกิจอย่างอื่นก็ต้องหยุดหมด โรงงานอุตสาหกรรมบางส่วนหยุด ร้านค้าปิด ห้างปิด ร้านอาหารปิด ร้านเสริมสวยปิด”

“แต่ในขณะที่รายได้เป็นศูนย์ คนยังต้องกิน ต้องใช้ ธุรกิจก็ต้องมีทุนมาดำเนินการต่อ จะทำยังไงได้ เมื่อรายได้ใหม่ไม่เข้ามา…ก็ต้องกลับไปกิน ทุนเก่า ไปใช้ เสบียงเก่า ที่เคยสะสมไว้”

“ใครมีสะสมอยู่บ้างก็รอดตัวไป ใครไม่มีก็ต้องหยุดกิจการ”

“มองในแง่ประเทศ เราจะเห็นว่ายังดีที่มี บุญเก่า หรือ เสบียงเก่า อยู่พอสมควร…ในทรรศนะของผมมี 3 กอง ใหญ่ๆ ครับ”

“กองแรก ถือว่าเป็นกองใหญ่ที่สุดคือ เสบียงของ รัฐบาล ซึ่งก็มี ทั้งเงินเก่าที่สะสมไว้ รวมทั้งเครดิตของรัฐบาลที่ยังสามารถกู้เงินในอนาคตมาใช้ได้โดยไม่กระทบวินัยการคลัง เราคงได้ข่าวกันแล้วว่ารัฐบาลสามารถเตรียมเสบียงไว้ได้กองใหญ่”

“กองที่สอง เสบียงของ ระบบธนาคาร ต้องบอกว่ายุคนี้ระบบธนาคารของเราแข็งแกร่ง มีเสบียงสะสมเต็มพิกัดเท่าที่ระบบจะสะสมไว้ได้ ไม่เหมือนปี 2540 ที่ระบบธนาคารเป็นโรคด้วยตัวเอง ต้องรักษาโรค ของธนาคารอย่างหนัก แต่คราวนี้ธนาคารจะช่วยระบบได้ เป็นเสบียงได้”

“เสบียงเก่า กองที่สาม ก็คือ ทรัพย์สินของ เถ้าแก่ หรือ เจ้าสัว หรือของบริษัทใหญ่ๆ ต่างๆ เจ้าสัวหรือเถ้าแก่มากกว่า 20 คนแน่ๆ จะต้องออกมาใช้เสบียงช่วยแก้ปัญหาของประเทศในครั้งนี้ด้วย”

“ช่วยยังไง? ก็ช่วยโดยการไม่เลิกจ้าง ไม่ลดการจ้าง ไม่ไล่คนออก เพราะถ้าไล่ออกไปก็จะไปเป็นภาระของรัฐ เป็นภาระของสังคม…ถ้าเถ้าแก่ เจ้าสัวจ้างต่อเพื่อรอเวลา รอโอกาส ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาสังคม หรือถ้าเถ้าแก่ยังลงทุนได้ต่อก็ลงทุนต่อไป ก็จะช่วยการจ้างงาน”

“นี่คือ เสบียงเก่า ของประเทศไทย เราสะสมกันไว้ และจำเป็นต้องนำมาใช้ในคราวนี้…ถ้าเป็นสมัยก่อนในยุคโบราณพันๆ ปีก่อนโน้นก็เท่ากับว่าในหมู่บ้านหรือเมืองต่างๆ จะมี ฉาง ใหญ่ตั้งอยู่กลางเมือง”

“ในยามปกติเหลือกินเหลือใช้ก็จะเอาข้าวเอาเกลือเอาปลาแห้งไปเก็บไว้ในฉาง…พอวิกฤติมาถึงทำกินไม่ได้ ผู้นำหมู่บ้านจะไปเปิดฉาง เอาข้าวเอาปลาแห้งมาแบ่งกันกิน”

“สถานการณ์ทุกวันนี้ก็จะเป็นแบบนั้น เงินของรัฐ เงินของธนาคาร เงินของเถ้าแก่หรือเจ้าสัว ก็คือข้าวคือเกลือคือปลาแห้ง อะไรที่ว่าที่เราจะต้องไปเปิดฉางเอามาช่วยราษฎรในหมู่บ้านใหญ่คือประเทศไทยของเรา”

“เสบียงสำคัญที่สุดของ ภาครัฐ ต้องไม่รั่วไหล ต้องถึงมือคนส่วนใหญ่ อย่าไปเข้ากระเป๋าใครบางกลุ่ม…ต้องไม่เหมือนปี 2540 ผมอยู่ในสงครามคราวนั้น บอกได้เลยว่ารั่วไหลเยอะ”

“ผมย้ำนะครับว่าครั้งนี้ ต้องไม่มีรั่วไหล โดยเฉพาะในส่วนของภาครัฐ และขณะเดียวกัน รัฐนั่นแหละจะต้องทำหน้าที่ในการจัดสรรดูแลเสบียงทั้ง 3 ก้อน ทั้งโดยตรง โดยอ้อม ก็ขอให้ทำหน้าที่กำกับและประสานงานให้เหมาะสม แล้วเราก็จะผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้”

บัณฑูร ลํ่าซำ ยอมรับว่าเสียดายอยู่บ้างที่จะไม่มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เพราะได้ลงจากทุกตำแหน่งของ ธนาคารกสิกรไทย หนึ่งใน “เสบียงเก่า” ของประเทศเสียแล้ว แต่เขาก็ยังทิ้งท้ายถึงผู้บริหารใหม่ที่จะรับหน้าที่นี้แทนเขาไว้ว่า

มีปัญหาอะไรปรึกษาเขาได้ แม้ส่วนใหญ่เขาจะไปใช้ชีวิตอยู่ที่น่าน แต่ก็พร้อมจะบินมาให้คำปรึกษา…ที่สำคัญ เขาบอกว่า “ผม เชื่อมือผู้บริหารใหม่ของผมว่าจะรับมือวิกฤติครั้งนี้ได้อย่างดี และอาจไม่มีอะไรที่จะต้องปรึกษาหารือผมเลย”.

“ซูม”