สถาบัน “บำราศนราดูร” ตำนานโรคระบาดสยาม

ณ ห้วงเวลาที่หัวหน้าทีมซอกแซกนั่งเขียนต้นฉบับวันนี้ การประกาศภาวะฉุกเฉินของรัฐบาลเพื่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19” ย่างเข้าสู่วันที่สองแล้ว หลังจากที่สถานการณ์เลวร้ายลงติดต่อกันหลายวันก่อนหน้านี้

ยอดผู้ติดเชื้อของเราสะสมอยู่ที่ 1,136 ราย เพิ่มขึ้นอีก 91 ราย เสียชีวิตทั้งสิ้น 5 ราย ติดเชื้อเป็นอันดับ 32 ของโลก และมีการพยากรณ์เอาไว้ ว่าหากประเทศไทยไม่มีการดำเนินการที่จะทำให้คนแปลงเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างใหญ่หลวง และยังปล่อยให้ดำเนินไปตามใจชอบ อาจมีผู้ป่วยสูงถึง 3 แสนราย เข้าโรงพยาบาลนับหมื่นราย ณ วันที่ 15 เมษายน ไม่มีโรงพยาบาลและเตียงคนไข้รองรับ อย่างแน่นอน

ซึ่งบัดนี้รัฐบาลก็ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินแล้วมีการกำหนดข้อควรปฏิบัติและไม่ควรปฏิบัติอย่างเข้มงวด อันเป็นที่หวังว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้น และไม่เป็นไปตามความคาดหมายดังกล่าว

แต่ไม่ว่าตัวเลขในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะเป็นเช่นไร กระทรวงสาธารณสุข ก็เตรียมพร้อมแล้วที่จะต่อสู้ โดยระดมสรรพกำลังทั้งหมดทั้งมวลทางการแพทย์ที่เรามีอยู่ เพื่อสู้ศึก “โควิด-19” อย่างเต็มที่

แน่นอน หนึ่งในหน่วยหน้าที่จะสู้โควิด-19 ครั้งนี้ย่อมมีชื่อของ สถาบันบำราศนราดูร ในสังกัด กรมควบคุมโรค รวมอยู่ด้วย

กล่าวไปแล้ว สถาบันบำราศนราดูร ถือเป็น โรงพยาบาลแห่งแรกๆ ที่รับศึกโควิด-19 ตั้งแต่ยังเรียกกันว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่จากเมืองอู่ฮั่นด้วยซํ้า ในฐานะที่เป็นโรงพยาบาลของกรมควบคุม โรคที่เป็นแม่ทัพหลักในการต่อสู้กับไวรัสมหาภัยสายพันธุ์นี้โดยตรง

ดังนั้น วันนี้ทีมงานซอกแซกจึงขออนุญาตนำท่านผู้อ่านไปรู้จักกับสถาบันแห่งนี้ในแง่มุมต่างๆ มากขึ้น ทั้งในแง่ความรู้ ความสามารถทางด้านการต่อสู้กับโรคติดต่อ และในแง่ของประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวพันกับบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้พิชิตโรคติดต่อมาอย่างช่ำชองคนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย

มาเริ่มกันที่ประวัติความเป็นมาเสียก่อนว่าโรงพยาบาล หรือสถาบันแห่งนี้ถือกำเนิดขึ้น ในยุคสมัยใด และมีจุดเริ่มต้นขึ้นอย่างไร?

คงต้องย้อนหลังกลับไปเมื่อพุทธศักราช 2502 ในยุคที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฏิวัติ

ยึดอำนาจการปกครองจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม และหลังจากให้ จอมพลถนอม กิติขจร มือขวาของท่านขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพได้ปีเศษ จอมพลสฤษดิ์ก็ตัดสินใจมาเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยตนเอง

ว่ากันว่าจอมพลสฤษดิ์ชื่นชมอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุขท่านหนึ่งที่ชื่อ พระบำราศนราดูร และได้ขอร้องให้มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในยุคของท่าน โดยมิได้รู้จักใกล้ชิดมาก่อนเลย

ซึ่งก็พอดีประเทศไทยเกิดโรคอหิวาต์ระบาด ค่อนข้างรุนแรง นำความหวาดหวั่นและวิตกมาสู่ ประชาชนชาวไทยเป็นอย่างมาก แต่ด้วยความเข้มแข็งรู้งานสาธารณสุขจริงของรัฐมนตรีท่านนี้ ในที่สุดรัฐบาลสฤษดิ์สามารถปราบอหิวาต์ลงได้

จอมพลสฤษดิ์ชื่นชมมากและเห็นว่าโรงพยาบาลรักษาคนไข้โรคติดต่อซึ่งยุคนั้นเป็นพระเอกในการรับคนไข้อหิวาต์ที่ตั้งอยู่แถวๆ ดินแดงค่อนข้างเสื่อมโทรมไม่สมกับที่จะเป็นโรงพยาบาลโรคติดต่อ ต่อไป

จึงให้งบประมาณไปสร้างใหม่ที่นนทบุรี ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของ โรงพยาบาลศรีธัญญา พร้อมกับให้ชื่อโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า โรงพยาบาลบำราศนราดูร ตามชื่อของผู้ปราบอหิวาต์สำเร็จ

รวมทั้งท่านจอมพลยังได้เดินทางไปเปิดโรงพยาบาลด้วยตนเองเมื่อปลายปี 2503

พระบำราศนราดูร ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขในยุคจอมพลสฤษดิ์ ต่อเนื่องมาจนถึงยุคจอมพลถนอม และพ้นจากตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2512 พร้อมกับสร้างผลงานด้านสาธารณสุขเอาไว้ มากมาย อาทิ โครงการควบคุมวัณโรค โครงการกวาดล้างไข้มาลาเรีย โครงการรักษาไข้เลือดออก การก่อตั้งสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และการส่งเสริมพัฒนาอนามัยประชาชนในชนบท ฯลฯ

ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ.2527 สิริ อายุ 88 ปี ปิดตำนานอันยิ่งใหญ่ของนักเรียนแพทย์ จากโรงเรียนราชแพทยาลัย กระทรวงธรรมการ ซึ่งเป็นโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของประเทศ

แม้จะไม่เคยไปเรียนต่างประเทศเลย แต่ ท่านก็รับราชการในกรมสาธารณสุข ซึ่งต่อมายกฐานะเป็นกระทรวงสาธารณสุขด้วยความรู้ ความสามารถอันยอดเยี่ยม จนได้เป็นปลัดกระทรวง เมื่อปี พ.ศ.2497 อยู่ในตำแหน่งจนเกษียณ อายุปี 2499 แล้วยังได้ต่ออายุราชการจนถึงปี 2501

ซึ่งตลอดเวลาที่รับราชการงานที่สร้างชื่อเสียง ให้แก่ท่านมาตลอดก็คือ การปราบโรค อหิวาต์ระบาด นั่นเอง

นี่คือที่มาของชื่อ สถาบันบำราศนราดูร (ยกฐานะจากโรงพยาบาลบำราศนราดูร เมื่อ พ.ศ. 2545) หนึ่งในทัพหน้าต่อสู้โควิด-19 โรคระบาดของยุคใหม่

นับเป็นชื่อที่มีความหมายอย่างยิ่ง เพราะ พระบำราศนราดูร คือมือปราบโรคระบาดร้ายแรง (อหิวาต์) คนสำคัญของประเทศไทย

แม้ว่าภารกิจหลักของสถาบันบำราศนราดูรในสังกัดกรมควบคุมโรคในปัจจุบันจะเน้นไปที่การวิเคราะห์วิจัยพัฒนาป้องกันควบคุม ตรวจวินิจฉัย และรักษาโรค เอดส์ จนได้ชื่อว่าเป็นสถาบันที่มี ความรู้ความสามารถโรคนี้อย่างดีเยี่ยม แต่ก็มีภารกิจหลักอีกภารกิจหนึ่ง

นั่นก็คือ ภารกิจที่จะดูแล “โรคที่เป็นปัญหาสำคัญ” ของประเทศควบคู่ไปด้วย

บุคลากรของสถาบันนี้จึงมีความรู้เกี่ยวกับ โรคติดต่อ หรือโรคระบาดที่เป็นปัญหาสำคัญทุกโรค และสามารถนำมาปรับใช้กับการรักษาและ ป้องกันโรคใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งโรคระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้

ทีมงานซอกแซกขอให้กำลังใจและขอบพระคุณสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค และกระทรวงสาธารณสุขทั้งกระทรวง

ตลอดจนคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ โรงพยาบาลต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกระดับที่กำลังผนึกกำลังกันต่อสู้ไวรัสมหาภัยอย่างเสียสละด้วยความเหนื่อยยากและตรากตรำยิ่ง ทั่วประเทศไทยในขณะนี้

สู้สู้นะครับพี่น้องนักรบเสื้อขาวและเสื้อเขียว (ชุดผ่าตัด) ผู้กล้าของพวกเรา.

“ซูม”