“ตจว.” อาจคุมง่ายกว่า “ประกบตัว” ได้ถึงหมู่บ้าน

ผมเขียนไว้ตั้งแต่ไวรัสโควิด-19 ระบาดใหม่ๆว่า ผมไว้วางใจและเชื่อมั่นกระทรวงสาธารณสุขด้วยเหตุผลที่ว่า ในช่วงที่ผมรับราชการนั้น ต้องไปประสานงานกับ 4 กระทรวงใหญ่ของประเทศที่เป็นกระทรวงหลักในการพัฒนาชนบทของประเทศไทย

อันได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข

ผมพบว่ากระทรวงที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และในระดับพื้นที่ก็คือ กระทรวงสาธารณสุขนี่เอง

ผมจำไม่ได้ทั้งหมดว่าผลงานเรื่องใด หรือโครงการใดบ้างของกระทรวงสาธารณสุขที่ประสบความสำเร็จจนสามารถแก้ไขปัญหาความยากจน ข้นแค้นของพี่น้องในชนบทลงได้อย่างน่าพอใจในยุคนั้น

จำได้คร่าวๆ ว่า กระทรวงสาธารณสุขสามารถแก้ปัญหาโรคขาดสารอาหารในเด็ก โดยเฉพาะในภาคอีสานและภาคเหนือลงได้อย่างเห็นได้ชัด ขณะเดียวกัน ก็สามารถสร้างโรงพยาบาลอำเภอ (ชื่อเรียกในสมัยนั้น) ได้ครบทุกอำเภอ และมีแพทย์ปริญญาไปประจำทุกอำเภอ จากโครงการ “แพทย์ใช้ทุน” ที่เริ่มขึ้นในยุคโน้น

ที่น่าชมเชยมากก็คือ การสร้างระบบเชื่อมโยงในการดูแลสุขภาพและอนามัยของประชาชนตั้งแต่ระดับกระทรวงสู่จังหวัด สู่อำเภอ สู่ตำบล และหมู่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยมีฝ่ายราชการในทุกระดับไล่เรียงกันไปจนถึงหมู่บ้านเพื่อร่วมมือกับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ที่ผ่าน การฝึกอบรมจนมีความรู้ด้านสุขภาพอนามัยในระดับหนึ่ง

ในยุคโน้นยังมี “ผสส.” หรือ ผู้สื่อข่าวสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน คอยติดตามหาข่าวด้านความเดือดร้อน ด้านสุขภาพ ด้านความเจ็บป่วยของประชาชนเป็นรายครัวเรือน รายบุคคลกันเลยทีเดียว

ผมไม่แน่ใจว่าทุกวันนี้ยังมี ผสส. หรือผู้สื่อข่าวสาธารณสุขอยู่หรือไม่ แต่ อสม. นั้นมีอยู่อย่างแน่นอน เพราะได้ฟังท่านปลัดกระทรวง เอ่ยถึงหลายครั้งในการแถลงข่าวโควิด-19

ที่ผมเอ่ยถึงประสิทธิภาพและความสามารถ ตลอดจนการจัดขบวนทัพในการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ระดับกระทรวงลงไปถึงหมู่บ้านในวันนี้ ก็เพราะบัดนี้ถึงเวลาแล้วครับที่พี่น้องกระทรวงสาธารณสุขในระดับภูมิภาคทั้งหลายจะต้องทำงานหนักอีกครั้ง

ดังที่ทราบกันแล้วว่า การปิดสถานที่สาธารณะบางอย่างมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการ “หยุด” การแพร่เชื้อของโรคระบาดตามมาตรการ Social distancing ที่ดำเนินการกันอยู่ทั่วโลก

แต่ของบ้านเรา พอ ปิดศูนย์การค้า ปิดผับ ปิดบาร์ ก็เกิดโกลาหล ผู้คนแตกตื่นเดินทางกลับบ้านกันยกใหญ่

ทำให้เป็นห่วงว่า เชื้อไวรัสตัวนี้ซึ่งกระจุกอยู่ใน กทม.จะแพร่กระจายไปทั่วประเทศ ทำให้ยากต่อการควบคุมหรือหยุดการระบาด

สถานการณ์เช่นนี้แหละครับที่ทำให้ผมนึกถึงความหลัง นึกถึงเพื่อนข้าราชการสาธารณสุขในอดีตดังที่สรุปไว้ข้างต้น

แม้ผมออกจากราชการมานานมากแล้ว แต่ก็ทราบว่าระบบต่างๆ ของกระทรวงสาธารณสุขยังไม่เปลี่ยนแปลง

ส่วนเรื่องประสิทธิภาพจะเป็นอย่างไรบ้าง ก็จะพิสูจน์กันให้เห็นคราวนี้ละครับ จากการที่ทุกๆ ท่านในระบบสาธารณสุขภูมิภาค ไล่ตั้งแต่สาธารณสุขจังหวัด อำเภอ ตำบล ไปจนถึง อสม. และ ผสส. (ถ้ายังมี) จะช่วยกันติดตามดูแลผู้ที่กลับจาก กทม.สู่หมู่บ้านอย่างไม่ให้คลาดสายตา

ผมขอมองในแง่บวกเช่นเดียวกับ “หมอหนู” ท่านรองฯ อนุทิน ชาญวีรกูล ที่บอกว่าการกระจายกลับบ้านอาจควบคุมและระงับการระบาดได้ดีกว่าปล่อยให้พี่น้องเหล่านี้อยู่ในกรุงเทพฯ ซึ่งไม่มีระบบดูแล เป็นขั้นเป็นตอนเหมือนต่างจังหวัด

นะครับ! ช่วยกันควบคุมดูแลแบบหมู่บ้านต่อหมู่บ้าน ครัวเรือนต่อครัวเรือนไปเลย โดยร่วมมือกับฝ่ายปกครอง ที่ท่าน ผู้ว่าราชการ จังหวัด ท่าน นายอำเภอ ได้รับคำสั่งจากมหาดไทยไปแล้วให้เป็นแม่ทัพในระดับจังหวัด อำเภอ

ยิ่งบิ๊กตู่จะใช้ยาแรง ประกาศภาวะฉุกเฉิน ในวันนี้พรุ่งนี้อาจจะทำให้การติดตามดูแลที่ต่างจังหวัดเป็นไปอย่างเข้มข้นและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

ผมขอให้กำลังใจเต็มที่ด้วยความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมเหมือนในอดีต …ยังไงๆ ก็อย่าให้กองเชียร์ขอบเวทีอย่างผมผิดหวังก็แล้วกันครับ.

“ซูม”