Social Distance พิสูจน์แล้ว “ดี” มากกว่า “เสีย”

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงมาตรการบรรเทาการระบาดของไวรัสที่ฝรั่งเขาเรียกว่า Social Distance และมีคนแปลเป็นไทยอย่างตรงๆตัวว่า “ระยะห่างทางสังคม” หรือบ้างก็แปลว่า “รักษาระยะสังคม”

อันหมายถึงการเอาตัวเราออกห่างจากสังคม หรือกิจกรรมสังคม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการไปรวมตัวเป็นหมู่ๆ เป็นกลุ่มก้อนตั้งแต่ 20-30 คนขึ้นไป จนถึงเป็นร้อยๆ เป็นพันๆ คนนั่นเอง

ยิ่งเราเอาตัวออกห่างจากสังคมเท่าไร โอกาสที่เราจะติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ก็จะน้อยลงเท่านั้น

เพราะถ้ามนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ไปเข้าสังคมกันเลย พากันออกห่างหมด เก็บตัวเงียบๆ อยู่ที่บ้าน เจ้าโควิด-19 ซึ่งอาจจะลอยอยู่ในอากาศ หรือเกลือกกลิ้งอยู่ในถ้วยชามในร้านอาหาร หรือตามราวบันไดเลื่อนของรถไฟฟ้า ตามปุ่มกดลิฟต์ หรือในลิฟต์ต่างๆ ฯลฯ ก็จะค่อยๆตายไปเอง

คุณหมอและนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเขาเชื่อว่า มาตรการ “Social Distance” จะช่วยได้มาก และได้พิสูจน์มาแล้ว

ไม่ต้องยกตัวอย่างยาวไกลไปถึงอดีตหรอกครับ แค่ยกตัวอย่างประเทศจีนในปัจจุบันก็เห็นชัดแล้วว่าการใช้นโยบาย Social Distance ทั้งบังคับและสมัครใจ ปิดโน่น ห้ามนี่ ขอร้องนั่น…ในที่สุดก็เอาอยู่

สำหรับบ้านเราก็มีทั้งภาคบังคับและภาคขอความร่วมมือโดยสมัครใจ โดยเฉพาะภาคบังคับที่ใหญ่ที่สุด และกล้าหาญที่สุดคือประกาศเลื่อนวันหยุดสงกรานต์ 13-14-15 เมษายน ออกไปก่อน

ตามมาด้วยการปิดผับ ปิดบาร์ ปิดสนามมวย ปิดสนามม้า ปิดสนามกีฬา ปิดโรงนวด มาจนถึงปิดเรียน คือสั่งการให้โรงเรียนก็ดี มหาวิทยาลัยก็ดี หยุดการเรียนการสอนเอาไว้ชั่วขณะ

ส่วนการขอความร่วมมือนั้น ก็ได้แก่มาตรการขอร้องให้บริษัทเอกชนต่างๆทำงานที่บ้าน หรือไม่ก็สลับกันมาทำงานทีละครึ่ง เพื่อลดความเสี่ยง

รวมทั้งขอร้องไม่ให้จัดงานที่จะมีผู้คนมาร่วมหลายๆ คน เช่น งานประชุม งานสัมมนา งานเลี้ยงรุ่น ฯลฯ เป็นต้น

ผมก็หวังว่าด้วยมาตรการเหล่านี้แม้จะไม่ถึงขั้นปิดประเทศ แต่ก็คงจะช่วยในการยับยั้งการระบาดของเจ้าโควิด-19 ได้มากพอสมควร

แต่คุณหมอและนักจิตวิทยาต่างประเทศหลายๆ ท่านเขาก็มีข้อคิดฝากไว้เป็นเชิงหมายเหตุอยู่เหมือนกัน ถึงผลข้างเคียงจากการใช้มาตรการนี้ที่ต้องระวังไว้

ผลลบข้อแรกเลยคือผลทางด้าน เศรษฐกิจ เพราะการที่จะให้ผู้คนออกห่างสังคมได้สำเร็จ รัฐก็คงต้องปิดอะไรต่ออะไรหลายอย่าง ย่อมจะทำให้กิจการที่โดนปิดได้รับผลกระทบกระเทือน ขาดรายได้อย่างมหาศาล และเมื่อปิดนานไปก็คงขาดทุนมหาศาลเอาด้วย

แต่ในประเด็นนี้เขาวิเคราะห์กันแล้วว่าต้องยอม เพราะเราจะต้องหยุดการระบาดเอาไว้ก่อน ป้องกันชีวิตของผู้คนไว้ก่อน เพราะทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือทรัพยากรมนุษย์…รักษาชีวิตไว้ พอโรคหายระบาดค่อยปั๊มเงิน

ปั๊มโครงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในภายหลัง

ผลลบที่ร้ายแรงอีกข้อของมาตรการออกห่างสังคมก็คือ “ความเหงา” และ “ความว้าเหว่” นั่นเอง ที่อาจจะเกิดขึ้นแก่กลุ่มคนที่ “ติดสังคม”

ที่น่าเป็นห่วงมากๆ ก็คือผู้สูงอายุ ซึ่งโดยทั่วไปก็มีความเหงา ความว้าเหว่อยู่แล้ว อาจจะเหงาหรือว้าเหว่หนักเข้าไปอีก

จึงอาจจะต้องมีมาตรการพิเศษช่วยเหลือ ดังเช่นที่เราเห็นบางประเทศ ที่ผู้คนเก็บตัวในคอนโด หรือในอพาร์ตเมนต์จำนวนมาก เขาก็จะมีอาสาสมัครแต่งกายป้องกันเชื้อโรครัดกุมมายืนที่ลานหน้าคอนโด

แล้วก็เปิดเพลงเสียงดังลั่น ชวนผู้คนในห้องพักให้ออกมาเต้นแอโรบิก ที่ระเบียง หรือในห้องพักแก้เหงาไปได้ระดับหนึ่ง

ครับ! ผลเสียหลักๆ ก็มีอยู่ประมาณนี้ ซึ่งหักลบกันแล้ว ผลดีของการอยู่ห่างจากสังคมหรือ Social Distance มีมากกว่า จึงขอเชิญชวนให้ท่านผู้อ่าน ยอมทำตามมาตรการนี้ ทั้งโดยถูกบังคับและโดยสมัครใจอย่างพร้อมเพรียงกัน

ปล. วันนี้เป็นวันแรกที่ผมปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลด้วยการอยู่ทำงานที่บ้าน และเก็บตัวที่บ้าน ไม่ออกไปไหนเลยแม้ร้านเซเว่นที่อยู่ห่างบ้านผมประมาณ 800 เมตร

ยอมรับว่าเหงามากสำหรับคน “ติดสังคม” อย่างผม แต่ก็อาศัยทีวี+หนังสือเป็นเพื่อน…คิดว่าวันที่ 2…วันที่ 3 จะดีขึ้นเรื่อยๆ ครับ.

“ซูม”