ระยะห่างทางสังคม อีกยุทธวิธีสู้ “โควิด-19”

ปกติแล้วผมจะมีรายการวิทยุตอนเช้าๆ ชื่อรายการ “สนทนากับจ่าแฉ่ง” ที่ Sport Radio, FM 96 ว่าด้วยเรื่องกีฬาเป็นหลัก แต่ก็มีเรื่องอื่นๆ ตามเทศกาลเป็นของแถมให้ด้วย

เมื่อบ่ายวันอังคารที่ผ่านมานี้เอง ผมได้รับโทรศัพท์จากหลานๆ ที่สถานีว่า ตั้งแต่วันพุธที่ 18 มี.ค. ไปจนถึง 31 มี.ค. ลุงไม่ต้องจัดรายการแล้วนะ เพราะสถานีของเราจะปิดตัวเองชั่วคราว 14 วัน

เหตุเพราะมีผู้สื่อข่าวสายมวยของเราไปทำข่าวในสนามมวยรายการเดียวกับคุณแมทธิวด้วย และพอกลับมาถึงสถานีเข้าไปรายงานผล และจัดรายการสดๆ หลายครั้ง

เมื่อปรากฏว่า ผู้คนที่อยู่ในสนามมวยรายการนี้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นแถวๆ แม้ผู้สื่อข่าวของเราจะยังไม่มีอาการเจ็บป่วย และไปเช็กร่างกายมาแล้วกำลังอยู่ระหว่างรอผลเลือด

แต่เพื่อความปลอดภัย คุณ ปราชญ์ ไชยคำ หัวหน้าสถานีจึงสั่งปิดสถานีชั่วคราว จัดบิ๊กคลีนนิ่ง พร้อมกับให้นักจัดรายการอื่นๆ และผู้สื่อข่าวตลอดจนฝ่ายควบคุมวิทยุหยุดพักดูอาการที่บ้าน 14 วัน ตามกติกา

ช่วงหลังๆ นี้ผมจัดรายการโดยใช้วิธี “โฟนอิน” คือ โทรศัพท์ไปเข้ารายการก็เลยรอดตัวไป นี่ถ้าไปจัดในห้องส่งเหมือนสมัยก่อนคงต้องไปกักตัวเอง 14 วันกับเขาแน่ๆ

แฟนวิทยุ FM96 ตื่นเช้าขึ้นมาไม่ได้ยินเสียง “จ่าแฉ่ง” และไม่ได้ยินเสียงจากน้องๆ หลานๆ นักจัดรายการคนอื่นๆ โปรดทราบด้วยนะครับ สถานีวิทยุเขาปิดตัวเองด้วยความสมัครใจ 1 เมษายน ค่อยกลับมาเจอกัน

อย่างไรก็ตาม แม้ผมจะไม่โดนกักตัวเอง 14 วัน แต่ผมก็ตั้งใจแล้วว่า จะพยายามกักตัวอย่างหลวมๆ เพื่อสนองนโยบาย “Social Distance” หรือ “Social Distancing” ของรัฐบาลทั่วโลก ขณะนี้รวมทั้งรัฐบาลไทยเราด้วยในการสู้ศึกกับเจ้าโควิด-19

ถ้าจะแปลกันตรงๆ ตัวภาษาอังกฤษ 2 คำนี้ก็คือ “ระยะห่างทางสังคม” นั่นเอง บางท่านก็แปลว่า “รักษาระยะสังคม” คือความพยายามที่จะออกห่างจากสังคมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

เพราะโดยปกติคนเรามักจะมีสังคมของเราเอง มีเพื่อนมีฝูง มีการประชุม มีการเลี้ยงสัมมนา หรือการไปดูไปเชียร์กีฬา ไปร้องเพลงคาราโอเกะในร้านคาราโอเกะต่างๆ ถือว่าเป็นการไปเข้าสังคมทั้งสิ้น

แต่จากนี้ไปเราจะต้องรักษาระยะห่างทางสังคมเอาไว้ให้มากๆ เช่น ไม่ไปงานเลี้ยงรุ่น ไม่ไปฟังประชุมสัมมนา ไม่ดู หรือไม่เชียร์กีฬาในสนาม หรือไม่ไปร้องเพลงตามร้านคาราโอเกะ

ผู้ที่หยิบยกคำนี้มาใช้ล่าสุด ก็คือท่านประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ออกมาทวิตตัวโตๆ ว่า “Social Distancing” เหมือนจะบอกประชาชนว่ารักษาระยะห่างกับสังคมสักหน่อยในช่วงเวลานี้

ในวันเดียวกัน ทิม คุก ซีอีโอใหญ่แอปเปิลก็หันมาใช้คำนี้เช่นกัน แล้วก็ส่งเสริมให้คนอยู่ห่างจากสังคมในส่วนที่เขารับผิดชอบคือ สั่งปิด Apple Store ทั่วโลก

เหตุเพราะร้านแอปเปิลเป็นร้านขายดีจะมีคนไปมุงซื้อสินค้าวันละมากๆ การปิดร้านนั้นจะทำให้ผู้คนไม่ต้องชุมนุมกันในร้าน Apple จะได้ไม่นำเชื้อมาปล่อย หรือมารับเชื้อไปจนคนอื่นที่เข้ามาในวันเดียวกัน

ที่รัฐบาลไทยประกาศออกมา 2-3 วันนี้ มีทั้งปิดโรงเรียน ปิดมหาวิทยาลัย ปิดสนามกีฬาต่างๆ ฯลฯ แถมเลิกหยุดวันสงกรานต์ 3 วัน 13-14-15 เมษายน ฯลฯ ก็คือมาตรการสร้าง Social Distance นั่นเอง

เพราะถ้าไม่สั่งปิดเสียก่อน ผู้คนจำนวนมากคงอยากจะไปเข้าสังคม หรือไปใช้บริการของสถานที่ หรือไปในงานต่างๆ ที่หยิบยกมาข้างต้น

รัฐบาลมาช่วยสั่งปิดเช่นนี้จึงเท่ากับปิดการเข้าสังคมแทนเรา ช่วยสร้างระยะห่างทางสังคมแก่เราอีกแรงหนึ่ง

การทำงานที่บ้านแล้วส่งไปทางออนไลน์ การสั่งซื้ออาหารมากินที่บ้าน โดยบริการของมอเตอร์ไซค์ต่างๆ ก็ถือเป็น Social Distance ด้วยเช่นกัน เพราะจะทำให้เราไม่ต้องเจอเพื่อนๆ หลายสิบหลายร้อยคนในห้องเรียนที่มหาวิทยาลัย หรือไปขลุกขลุ่ยกับ 40-50 คนในร้านอาหาร ซึ่งเราไม่มีทางรู้เลยว่าจะมีใครติดเชื้อไวรัสมาบ้าง

ผมยอมรับว่าโดยส่วนตัวผมเป็นคนชอบเข้าสังคม ชอบไปเจอคนหมู่มาก ชอบเดินห้าง ชอบดูกีฬา ชอบฟังคอนเสิร์ต–ฯลฯ

ณ บัดนาวเป็นต้นไป ผมจะไปเข้าสังคมต่างๆ ให้น้อยลงครับ แม้จะทำให้ผมเหงาอย่างมาก…แต่จะทำอย่างไรได้เพราะ Social Distance นี่แหละที่จะช่วยหยุดการระบาดของไวรัสมหาภัยลงได้อย่างมีนัยสำคัญ …เป็นมาตรการที่คุณหมอและรัฐบาลทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันครับ.

“ซูม”