“พะเยา” ในความทรงจำ ดีใจได้กลับไปเยือนอีกครั้ง

ดังที่เคยเขียนเล่าไว้บ้างแล้วเมื่อตอนเขียนถึงเพลง “เชียงรายรำลึก” 2–3 สัปดาห์ก่อนว่า หัวหน้าทีมซอกแซกซึ่งมีโอกาสทำงานด้านพัฒนาชนบทอยู่กับสภาพัฒน์เป็นเวลานานพอสมควรในอดีตได้เดินทางไปจังหวัดเชียงรายหลายครั้งหลายหน

เนื่องเพราะ “เจียงฮาย” เป็นจังหวัดยากจนจังหวัดหนึ่งเมื่อก่อน พ.ศ.2520 เป็นจังหวัดเป้าหมายที่จะต้องดูแลให้ความสนใจในระดับต้นๆ

ครั้นเมื่อไปถึงเชียงรายแล้วก็จะต้องตระเวนไปอำเภอรอบๆ เพื่อหาข้อมูลกันอย่างละเอียด จึงมีโอกาสได้ไปถึง “อำเภอพะเยา” ด้วยหลายครั้งหลายหนเช่นเดียวกัน

ต่อมาในเดือนสิงหาคมปี 2520 อำเภอพะเยาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดพะเยา จังหวัดที่ 72 ของประเทศไทย หัวหน้าทีมซอกแซกก็ยังคงแวะไปสำรวจอีกพักใหญ่ๆ

ด้วยเหตุที่เคยไปพะเยาและนอนค้างบ่อยครั้งนี่เองทำให้หัวหน้าทีมซอกแซกยังมีภาพจำเก่าๆ ที่งดงามติดตรึงใจทั้งในแง่ของความงดงามตามธรรมชาติของจิตใจ และอัธยาศัยไมตรีของชาวพะเยามาจนถึงทุกวันนี้

โดยเฉพาะที่ชื่นชมมากและระลึกถึงมากได้แก่ “กว๊านพะเยา” ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือตอนบน ซึ่งมีเนื้อที่ถึง 12,000 กว่าไร่ หรือประมาณ 20 ตารางกิโลเมตรนั้นถือเป็น “สัญลักษณ์” ของจังหวัดพะเยาที่ไม่ว่าใครไปใครมาจะต้องหาโอกาสมานั่งเรือตระเวนไปรอบๆ กว้านอย่างน้อยสักครึ่งหนึ่งในชีวิต

หัวหน้าทีมซอกแซกแวะมาครั้งแรก นอกจากจะมีโอกาสนั่งเรือไปรอบๆ กว๊านแล้วยังมีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์พูดคุยหาความรู้ที่ สถานีประมงกว๊านพะเยา ซึ่งในยุคนั้นมีหัวหน้าสถานีชื่อ เสน่ห์ ผลประสิทธิ อีกด้วย

ได้ความรู้จากท่านเยอะมาก โดยเฉพาะการเพาะพันธุ์ปลาต่างๆ ในกว๊านพะเยา เพื่อส่งไปปล่อยตามน่านน้ำต่างๆ ของภาคเหนือเพื่อให้พี่น้องชาวเหนือได้มีปลารับประทานกันอย่างอุดมสมบูรณ์

ไม่เพียงแต่จะเพาะพันธุ์ปลาสำหรับกว๊านพะเยา ซึ่งมีถึง 40 กว่าชนิดเท่านั้น หัวหน้าสถานีพะเยาท่านนี้ยังทดลองเพาะ พันธุ์ปลาบึก ปลายักษ์แห่งแม่น้ำโขง ซึ่งในยุคนั้นเชื่อกันว่าเหลือน้อยเต็มทีแล้ว อาจจะสูญพันธุ์ในเวลาไม่นาน

ปรากฏว่า หัวหน้าเสน่ห์สามารถเพาะพันธุ์ปลาบึกได้สำเร็จกลายเป็นข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับในยุคโน้น ทำให้ทุกวันนี้เรามีปลาบึกรับประทานกันอย่างไม่ขาดแคลน

หัวหน้าทีมซอกแซกเองก็นำเรื่องราวของหัวหน้าเสน่ห์กับสถานีประมงกว๊านพะเยามาเขียนถึงในคอลัมน์ซอกแซกหลายครั้ง และต่อมาก็ มีโอกาสได้ร่วมงานพัฒนาชมบทกับท่านเป็นเวลายาวนานมาก

ด้วยการบุกเบิกโครงการ “ประมงหมู่บ้าน” ส่งเสริมการเลี้ยงปลาตามหมู่บ้านต่างๆ โดยเฉพาะในภาคอีสานจนมีปลารับประทาน อย่างพอเพียง ไม่อดอยากและขาดแคลนอาหารโปรตีนเหมือนในอดีต

ทราบว่าท่านเกษียณในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการประมงระดับ 10 หรือซี 10 นับว่าประสบความสำเร็จในชีวิตราชการไม่น้อยทีเดียว

จากความทรงจำทั้งในด้านความงามและเรื่องราวที่เป็นความรู้เป็นวิชาการหลายอย่างของกว๊านพะเยานี่แหละ ที่เป็นเหตุผลสำคัญสำหรับการตัดสินใจแวะไปเยือน จังหวัดพะเยา ด้วยในทริปเชียงรายของหัวหน้าทีมซอกแซกครั้งนี้

พะเยากับเชียงรายอยู่ห่างกันประมาณ 90 กิโลเมตรเท่านั้น ขับรถสบายๆ ชั่วโมงเศษๆ ก็ถึงแล้ว หัวหน้าทีมซอกแซกจึงถือโอกาสแว่บไปเยี่ยมพะเยามาด้วยประมาณครึ่งวัน

ตั้งใจจะไปนั่งกินข้าวกลางวันที่ริมกว๊านพะเยา แล้วก็นั่งดู นั่งชม บรรยากาศอยู่แถวๆ นั้น เนื่องเพราะคงไม่มีเวลาพอที่จะนั่งเรือล่องกว๊านอย่างแน่นอน

เสร็จแล้วก็จะขับรถไปตระเวนรอบๆ เมืองสักรอบ และไหว้พระสัก 2-3 วัด รวมทั้งจะแวะไปดูแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของเขาสักแห่งหนึ่ง เพื่อเป็นของแถม

ในที่สุดก็ได้ไปตามที่ตั้งใจ โดยเฉพาะตอนนั่งกินอาหารกลางวันที่ริมกว๊านพะเยานั้น พรรคพวกที่อยู่ที่นั่นแนะนำให้แวะร้าน So Good บรรยากาศดีมาก เห็นวิวกว๊านได้ไกลและลมเย็นโกรกอยู่ตลอด

อาหารเขาอร่อยหลายๆ อย่าง แต่ที่ชอบมากกลายเป็น “ข้าวผัดโซกู๊ด” เห็นโต๊ะข้างๆ สั่งมาหน้าตาดีเลยสั่งบ้าง ปรากฏว่าอร่อยใช้ได้เลยทีเดียว

สำหรับบรรยากาศทั่วไปของกว๊านพะเยาก็คงต้องยอมรับว่าเปลี่ยนไปตามกาลเวลา มีการก่อสร้างโน่นนี่ริมกว๊านมากขึ้น ความสงบความเงียบแบบธรรมชาติๆ หายไปเยอะ

แต่จุดเด่นของความเป็นกว๊านพะเยาคือการเป็นบึงใหญ่ เห็นน้ำกว้างไกลสุดสายตา และลมพัดเย็นอยู่ตลอดเวลายังเหมือนเดิมทุกประการ

ขอสารภาพว่าดีใจและสุขใจมากๆ ที่ได้กลับมาเยือนอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับวัดที่แวะไปไหว้ได้แก่วัดอนาลโยทิพยาราม หรือบางครั้งก็เรียกว่า วัดดอยบุษราคัม ตั้งอยู่บนดอยบุษราคัม ไม่ไกลจากตัวเมืองพะเยาเท่าไรนัก

มีลักษณะคล้ายๆ เป็นอุทยานแห่งพุทธศาสนา คือตั้งอยู่ริมเขาที่ร่มรื่น มีต้นไม้ขึ้นเขียวขจี แต่ก็มีสิ่งปลูกสร้างที่เป็นสัญลักษณ์แห่งพุทธศาสนา เช่น พระเจดีย์, พระพุทธรูปองค์ใหญ่, โบสถ์, ศาลาเชิงเขา ซึ่งเมื่อไหว้พระเสร็จแล้วเดินออกมายืนดูก็จะเห็นทิวทัศน์ของจังหวัดพะเยาสวยงามอยู่ข้างล่าง

ยังมีเวลาอีกนิดเลยแวะไปที่ไร่ ภูกลองฮิลล์ ด้วย ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ปลูกยางพาราถึง 700 ไร่ ปัจจุบันสวนยางก็ยังอยู่ แต่มีการปรับเนื้อที่เป็นสวนองุ่น และเมล่อนปลอดสารพิษ ที่ถึงฤดูให้ผลิตผล สามารถไปซื้อสดๆ รับประทานได้เลย

นอกจากนี้ก็ยังมีสวนดอกไม้ มีสวนน้ำ และมีสัตว์เลี้ยงแบบสวนสัตว์เล็กๆ ให้เด็กๆ ได้สนุกกับการเลี้ยงสัตว์อีกด้วย

ข้างๆ ยังมีรีสอร์ต มีร้านอาหาร ฯลฯ ได้ข่าวว่าช่วงฤดูหนาวที่นี่จะฮิตมาก รีสอร์ตห้องพักเต็มเอี้ยดชนิดต้องกางเต็นท์นอนกันเลยทีเดียว

ก็เป็นอันได้แวะไปเยือนพะเยาสมใจหัวหน้าทีมซอกแซกแล้ว แม้จะมีเวลาน้อยและต้องตระเวนแบบทัวร์เร่งรัดไปเสียหมด แต่ก็ถือว่าได้กลับพะเยาอีกครั้งหนึ่ง ทำให้หายคิดถึงสมกับที่ไม่ได้มาจังหวัดนี้เสียหลายปีเลยทีเดียว.

“ซูม”