หลายชีวิต “สุเทพ วงศ์กำแหง” นักร้อง/นักเขียน/นักการเมือง

เมื่อวานนี้ผมเขียนถึงศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) สุเทพ วงศ์กำแหง ที่อำลาจากแฟนเพลงไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ ด้วยความรักความอาลัยในฐานะที่ผมเป็นแฟนคลับของพี่สุเทพคนหนึ่ง

เขียนแล้วก็นึกขึ้นมาได้ว่า นอกจากร้องเพลงได้อย่างยอดเยี่ยมและเป็นอมตะจนได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติดังกล่าวแล้ว พี่เทพยังเป็น “นัก” อื่นๆ อีก 2-3 นัก ที่ควรแก่การบันทึกไว้เช่นเดียวกัน

นักแรกเลยก็คือ “นักวาดรูป” หรือ “จิตรกร” นั่นเอง แม้จะไม่ โดดเด่นนักสำหรับอาชีพนี้ แต่ความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักวาดรูปนี่เองที่ทำให้พี่เทพก้าวมาสู่ความเป็นนักร้องระดับตำนานของประเทศไทย

พี่เทพให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสารและหนังสือหลายฉบับว่า ช่วงที่พี่เป็นเด็กเรียนมัธยมอยู่ที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พี่สนใจในวิชาวาดเขียนและชอบมากๆ ถึงขนาดวาดภาพวิวทิวทัศน์ หัวรถจักร หัวรถไฟ ของสถานีสีคิ้วจนคุณครูประทับใจแนะให้เรียนต่อทางด้านวาดรูป

เป็นเหตุให้ สุเทพ วงศ์กำแหง ตัดสินใจสอบเข้าเรียนต่อที่ โรงเรียนเพาะช่าง เมื่อ พ.ศ.2490 และจบเมื่อ พ.ศ.2493 จากนั้นก็ไปทำงานรับจ้างเขียนป้ายและออกแบบให้แก่ร้านทำบล็อกร้านหนึ่งแถวๆ วงเวียน 22 กรกฎาคม

เผอิญมีบ้านพักอยู่ใกล้กับ “ครูไหล” ไสล ไกรเลิศ ครูเพลงและนักแต่งเพลงชื่อดังของยุคโน้น ก็เลยถือโอกาสไปฝากเนื้อฝากตัว เดินตามครูไหลในฐานะคนชอบร้องเพลงอยู่หลายปี

แต่ครูไหลก็ยังไม่แต่งเพลงให้ร้อง จนแล้วจนรอดจึงต้องไปเดินตาม ครู ป.ชื่นประโยชน์ นักแต่งเพลงอีกท่านหนึ่ง ปรากฏว่าได้ร้องเพลงอัดแผ่นเสียงครั้งแรก ด้วยเพลงของครู ป.ชื่นประโยชน์ นี่เอง

จากนั้น สุเทพ วงศ์กำแหง ก็ตัดสินใจเข้าวงการบันเทิงเต็มตัว อำลาอาชีพนักเขียนป้ายและออกแบบทำบล็อกตั้งแต่บัดนั้น

แม้พี่เทพจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ในฐานะนักวาดรูปหรือจิตรกร หรือช่างเขียน ช่างออกแบบก็เถอะ…แต่ถ้าไม่มีใจรักด้านนี้อยู่ก่อน พี่อาจจะไม่ลงมาเรียนเพาะช่างที่กรุงเทพฯ และก็คงจะไม่ได้เจอ ครูไสล หรือครู ป.ชื่นประโยชน์ จนทำให้ชีวิตแปรเปลี่ยนมาเป็นนักร้องผู้ยิ่งใหญ่ในภายหลัง

อีก “นัก” หนึ่ง ที่พี่เทพเคยเป็นอยู่พักหนึ่งก็คือ “นักเขียน” เคยเขียนคอลัมน์ให้หนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับ รวมทั้งไทยรัฐด้วย และล่าสุดเขียนให้กับ “ฟ้าเมืองไทย” ของพี่ อาจินต์ ปัญจพรรค์

สำนวนนุ่ม นิ่มนวล คล้ายๆ เสียงพี่เวลาร้องเพลงยังไงยังงั้น

ก็มาถึง “นัก” สุดท้ายที่พี่เทพไปหลงเสน่ห์อยู่พักใหญ่ นั่นก็คือ “นักการเมือง” นั่นเอง

พี่เทพเคยเป็น ส.ส.ที่นครราชสีมา บ้านเกิดตัวเองมาแล้ว 1 สมัย ตอนหลังแม้จะได้คะแนนดีแต่ก็สอบตก เลยทำท่าจะเลิกเล่นไปพักหนึ่ง

ในที่สุดก็กลับมาเล่นใหม่ คราวนี้สมัครในสังกัดพรรคพลังธรรมของ พลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้เป็น ส.ส.ของ กทม.เราอยู่ถึง 3 ปี (2531-2534) มีการปฏิวัติรัฐประหารอีกหน พี่เทพก็เลยประกาศเลิกเล่นการเมืองโดยเด็ดขาด ตั้งแต่บัดนั้น

ผมเองมาสนิทสนมจนถึงขั้นเรียกพี่เรียกเชื้อ ในช่วงที่เล่นการเมืองนี่แหละครับ เหตุเพราะพี่แวะมาคุยกับฝ่ายข่าวการเมืองที่ไทยรัฐบ่อยๆ และ พ.ศ.นั้น กอง บก.ของเราอยู่รวมกันในชั้นเดียว เวลาพี่จะไปโต๊ะการเมืองต้องผ่านโต๊ะผมก่อน ก็เลยสนิทสนมกันเรื่อยมา

แม้พี่เทพจะไม่ประสบความสำเร็จมากนักทางด้านการเมือง ถ้ามองว่าพี่ยังไปไม่ถึงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือตำแหน่งการเมืองที่สำคัญต่างๆ

แต่ผมว่า ถ้ามองในแง่ของการเป็นนักการเมืองที่ดี ที่น่ายกย่อง มือสะอาด ไม่ซื้อเสียง (เพราะไม่มีเงินจะซื้อเหมือนใครอื่น) พี่เทพถือเป็นนักการเมืองที่สมบูรณ์แบบที่สุด

ถ้าประเทศไทยของเรามีนักการเมืองที่ดีอย่างพี่สุเทพ วงศ์กำแหง สักค่อนหนึ่งของสภาฯ ละก็ ระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยของเราไปไกลกว่านี้เยอะ

เพราะนักการเมืองน้ำดีมักอยู่ไม่ได้ นักการเมืองน้ำเน่ากับอยู่ได้ และอยู่ทน ระบอบประชาธิปไตยเมืองไทยถึงได้ลุ่มๆ ดอนๆ อย่างที่เห็น และเป็นอยู่มาจนถึงปัจจุบัน เผลอๆ จะทอดยาวไปในอนาคตข้างหน้า เอาด้วยซ้ำ.

“ซูม”