ขึ้นดอยตุงกราบพระธาตุ+แวะชม “สวนแม่ฟ้าหลวง”

เมื่อหลายๆ ปีก่อนโน้น จังหวัดเชียงรายเคยมีคำขวัญยาวเหยียดว่า “เหนือสุดในสยาม ชายแดนสามแผ่นดิน ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา ล้ำค่าพระธาตุดอยตุง ผดุงวัฒนธรรม รสล้ำข้าวสาร หอมหวานลิ้นจี่ สตรีโสภา ชาเลิศรส สับปะรดนางแล แหล่งแพร่ปลาบึก”

รวบรวมของดีมีชื่อเสียงของจังหวัดเอาไว้เกือบครบถ้วนว่างั้นเถอะ

ต่อมาจะด้วยอะไรไม่ทราบ คำขวัญของจังหวัดเชียงรายหายไปครึ่งหนึ่งเหลืออยู่เพียงว่า “เหนือสุดในสยาม ชายแดนสามแผ่นดิน ถิ่นวัฒนธรรมล้านนา ล่ำค่าพระธาตุดอยตุง”

แต่ไม่ว่าจะเป็นคำขวัญอย่างยาวหรืออย่างสั้น ทั้ง 2 คำขวัญจะมี “พระธาตุดอยตุง” อยู่ด้วยเสมอ แสดงถึงความขลังความเคารพนับถือและความศรัทธาที่ชาวเชียงรายมีต่อพระธาตุองค์นี้ จนถึงขั้นนำมาจารึกเป็นคำขวัญของจังหวัดในทุกยุคทุกสมัยรวมทั้งในปัจจุบัน

ดังนั้น ใครก็ตามที่เดินทางไปถึงจังหวัดเชียงรายน่าจะหาโอกาสขึ้นไปกราบไหว้สักครั้งหนึ่ง เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต

พระธาตุดอยตุงตั้งอยู่ ณ วัดพระมหาธาตุเจ้า (ดอยตุง) ชื่อตามจารึกหินอ่อนที่กรอบประตูพระอุโบสถบนยอดสูงสุดของดอยตุง ซึ่งเป็นส่วนหน้าอกของ “ดอยนางนอน” หรือเทือกเขา ขุนน้ำนางนอน แห่งอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่เราคุ้นเคยอย่างดียิ่ง ภายหลังเกิดเหตุการณ์ 13 หมูป่าติดถ้ำเมื่อปีก่อน

ระยะทางจาก อ.เมืองเชียงราย ขึ้นสู่ดอยตุงมีความยาวประมาณ 60 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางชั่วโมงเศษเล็กน้อย เพราะต้องเวียนวนขึ้นเขาสูงในช่วงสุดท้าย

ในเอกสารท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงรายบรรยายไว้โดยสังเขปว่า วัดพระธาตุดอยตุงเป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย หรือกระดูกไหปลาร้าขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย เมื่อประมาณ 1,000 กว่าปีก่อนโน้น

ประมาณ พ.ศ.1454 พระมหากัสสปะเถระ พร้อมด้วยพระเจ้าอชุตราช กษัตริย์ผู้ครองเมืองโยนกนาคพันธุ์ และข้าราชบริพารได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาสถิตไว้ ณ ดอยแห่งนี้ และได้ปักตุง หรือธงบูชาพระบรมสารีริกธาตุ เป็นตุงตะขาบมีความยาวถึงพันวา ชายตุงปลิวสะบัดไป ณ ที่ใดก็ให้หมายว่าบริเวณนั้นเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ จึงได้ชื่อบริเวณแห่งนี้ที่อยู่ภายใต้บริเวณชายตุงที่ปลิวสะบัดกันทั้งสิ้นว่า “ดอยตุง” นับแต่โบราณ กาลนั้นเป็นต้นมา

ด้วยระยะเวลาอันยาวนานนับพันปี วัดพระธาตุดอยตุง และองค์พระธาตุเอง ย่อมมีสภาพทรุดโทรมลงมาก แต่ก็ได้รับการปรับปรุงมาทุกยุคทุกสมัย ล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2470 หรือเมื่อ 93 ปีที่แล้ว ครูบาศรีวิชัย ได้บูรณะองค์พระธาตุขึ้นใหม่ตามศิลปะแบบล้านนา และเมื่อ พ.ศ.2516 กระทรวงมหาดไทยได้บูรณะโดยสร้างพระธาตุองค์ใหม่ขึ้นครอบพระเจดีย์เดิมไว้ พร้อมกับตกแต่งบริเวณรอบๆ จนสวยงามดังที่เห็นอยู่ใน ปัจจุบัน

ขณะเดียวกันก็ได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์และก่อสร้างทางเดิน และสะพานรอบๆ ยอดดอยมาเรื่อยๆ รวมทั้งได้สร้างระเบียงขนาดใหญ่พอสมควรยื่นออกมา ณ บริเวณหนึ่งของยอดดอย สามารถเดินลงไปจากองค์พระธาตุประมาณ 200-300 เมตร ไปยืน ณ ระเบียงดังกล่าวนี้ เพื่อชมทัศนียภาพได้โดยรอบ

ทีมงานซอกแซกมีเวลาไม่มากนัก จึงได้แค่ไปยืนที่บริเวณทางเดินลงเขาที่เขียนไว้ว่า “ไปจุดชมวิว” ชะเง้อมองเส้นทางด้วยความเสียดายอย่างยิ่ง

จาก พระธาตุดอยตุง คณะของเราได้บอกกล่าวให้โชเฟอร์เจ้าถิ่นมุ่งหน้าต่อไปยัง พระตำหนักดอยตุง ที่อยู่ไม่ไกลนัก

โดยส่วนตัวของหัวหน้าทีมซอกแซกได้เดินทางมาที่นี่หลายครั้ง ทั้งในฐานะที่เคยปฏิบัติหน้าที่ด้านพัฒนาชนบท และในฐานะนักท่องเที่ยวที่แวะมาชื่นชมทัศนียภาพอันสวยงามรอบๆ พระตำหนัก โดยเฉพาะ จะใช้เวลาหลายๆ ชั่วโมงเสมอกับสวน “แม่ฟ้าหลวง” สวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวบนพื้นที่กว่า 25 ไร่ หน้าพระตำหนักดอยตุง

หลายๆ ครั้งที่มาจะแวะเข้าชมในอาคาร พระตำหนักดอยตุง หรือที่เรียกกันว่า บ้านหลังแรกของสมเด็จย่า ที่สร้างขึ้นโดยใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างบ้าน ณ ภูเขาแห่งนี้เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับแทนการเสด็จแปรพระราชฐานไปสวิตเซอร์แลนด์ เพราะทรงพระชนมายุสูงแล้ว ไม่เหมาะแก่การเดินทางไกล

สำนักงานราชเลขานุการในพระองค์จึงได้เลือกบริเวณนี้เป็นที่ก่อสร้างพระตำหนัก เมื่อ พ.ศ.2530 และเมื่อพระองค์เสด็จมาประทับแล้วก็พึงพอพระราชหฤทัย และต่อมาก็ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้มีการปลูกป่า การหาอาชีพให้แก่ชาวไทยภูเขา เพื่อจะได้ไม่ต้องตัดไม้ทำลายป่า หรือปลูกพืชที่เป็นยาเสพติดต่างๆ

เป็นต้นกำเนิดของ “โครงการพัฒนาดอยตุง” มาจนถึงบัดนี้

เสียดายที่ครั้งนี้มีเวลาจำกัด ไม่สามารถจะเข้าไปชมในพระตำหนักได้ทัน มีโอกาสเพียงเข้าไปเดินชมในบริเวณ “สวนแม่ฟ้าหลวง” ที่เป็นสวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวอันงดงาม เท่านั้น ซึ่งก็ใช้เวลาถึงเกือบชั่วโมงในการเดินชมและถ่ายภาพเช็กอินตามจุดสำคัญต่างๆ

ทีมงานซอกแซกใช้เวลาอยู่บนดอยตุงทั้งกราบพระธาตุและแวะสวนแม่ฟ้าหลวงตั้งแต่ก่อนเที่ยงจนถึงบ่าย 3 โมง จึงกลับลงสู่พื้นล่างเพื่อเดินทางต่อไปชมงาน “บอลลูน นานาชาติ” ที่รออยู่ในช่วงหัวคํ่า

แม้จะเที่ยวไม่ครบสูตรบนดอยตุง แต่ก็ถือว่าได้ความประทับใจกลับลงมาอย่างเหลือล้นจนอยากจะแนะนำท่านผู้อ่านที่มีโอกาสขึ้นไปจังหวัดเชียงรายทุกๆ ท่าน…ว่า

ไปถึงโน่นแล้วอย่าลืมถามหาบริการ “ทัวร์ดอยตุง” ด้วยนะครับ สามารถหาข้อมูลได้จากทุกโรงแรมที่พัก ซึ่งเขาจะจัดเดินทางโดยรถตู้ ในสนนราคาที่ไม่แพงจนเกินเหตุ

หลายๆ ทัวร์จัดเพียงครึ่งวันเที่ยวครบทุกแห่ง ตั้งแต่ไหว้พระธาตุจนถึงเยี่ยมชมพระตำหนักและสวนแม่ฟ้าหลวง นับเป็นครึ่งวันที่คุ้มค่าอย่างยิ่งสำหรับการเดินทางไปจังหวัดเชียงราย

ใครไปเชียงรายแล้วไม่ได้ขึ้นดอยตุง คนที่โน่นเขาว่ายังไปไม่ถึงเชียงรายนะครับจะบอกให้.

“ซูม”