ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย เรื่องเก่า “สถานการณ์ใหม่”

ผมจะแว่บไปต่างจังหวัดสัก 2–3 วัน และไม่แน่ใจว่าจะสะดวกในการส่งแฟกซ์ หรือส่งอีเมลเข้าโรงพิมพ์หรือไม่ในระหว่างเดินทาง จึงจำเป็นที่จะต้องเขียนต้นฉบับล่วงหน้าทิ้งไว้บ้าง

ก็เลยกลับไปเปิดสมุดบันทึกประจำวันของผมย้อนหลังว่าเคยมีเรื่องใด หรือข่าวใดบ้างไหมที่ผมจดไว้รวบรวมไว้ เพราะตั้งใจจะหยิบมาเขียนถึง แต่จะด้วยเหตุใดก็ตามกลับมิได้เขียนถึงในช่วงนั้นๆ

พบว่ามีข่าวอยู่ข่าวหนึ่งที่ท่านผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ได้แถลงไว้แก่ผู้สื่อข่าวเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว มีหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์นำลงตีพิมพ์หลายสำนัก

เกี่ยวกับผลการสำรวจหนี้ครัวเรือนปี 2562 ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยน่ะครับ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมให้ความสนใจ และได้เขียนถึงสถานการณ์อันน่าเป็นห่วงของสภาวะหนี้ครัวเรือนไทยอยู่บ่อยๆ

ปกติแล้วตัวเลขที่ผมนำมาอ้างอิงในคอลัมน์นี้มักจะเป็นตัวเลข “มหภาค” หรือในภาพรวมของประเทศ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นตัวเลขของสภาพัฒน์บ้าง แบงก์ชาติบ้างสลับกันไป

สำหรับตัวเลขของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นตัวเลขที่ได้มาจากการสำรวจโดยเลือกกลุ่มตัวอย่างจำนวนหนึ่งมาเป็นตัวแทน และผลที่ได้ก็ถือว่าเป็นผลรวมของประเทศเช่นกัน เพียงแต่ที่มาที่ไปแตกต่างจากของ 2 สถาบันที่ผมกล่าวถึง

โดยส่วนตัวผมเองชอบการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นพิเศษ เพราะเท่ากับเป็นการสะท้อนภาพอีกมุมหนึ่งของสภาวะหนี้ครัวเรือนในสังคมไทย ที่เราสามารถจะนำไปเปรียบเทียบ หรือตรวจสอบกับรายงานของสภาพัฒน์และแบงก์ชาติได้

เท่าที่ผมติดตามมาก็พบว่าตัวเลขของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับตัวเลขในภาพใหญ่ หรือภาพรวมของประเทศนั่นเอง โดยเฉพาะในปี 2562 ที่ผ่านมา ที่ทุกๆ ฝ่ายเห็นตรงกันว่า “หนี้ครัวเรือนไทย” อยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

การสำรวจของ ดร.ธนวรรธน์ สรุปว่า ค่าเฉลี่ยของหนี้ครัวเรือนไทยในปี 2562 อยู่ที่ 340,053 บาทต่อครัวเรือน สูงสุดเท่าที่ท่านมีการสำรวจมาและเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ถึง 7.4 เปอร์เซ็นต์

สาเหตุหลักที่ทำให้หนี้ครัวเรือนไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในครั้งนี้มาจากเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวจากผลกระทบของสงครามการค้าทำให้ภาคส่งออกลดลง ราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ ปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลง

ในขณะที่รายได้ของครัวเรือนลดลง ค่าครองชีพกลับปรับตัวสูงขึ้น มีการซื้อสินทรัพย์ที่ถาวร เช่น บ้าน รถ มากขึ้น มีการใช้บัตรเครดิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือเจเนอเรชัน Y ที่มีการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยและเกินตัวมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

ดร.ธนวรรธน์ ขยายความด้วยว่า หนี้ครัวเรือนจำนวนดังกล่าว แยกออกเป็นหนี้ในระบบประมาณ 59 เปอร์เซ็นต์ และเป็นหนี้นอกระบบเกือบๆ 41 เปอร์เซ็นต์ โดยในแต่ละเดือนครัวเรือนต้องใช้หนี้ในระบบเฉลี่ยเดือนละ 16,960 บาท และชำระหนี้นอกระบบเฉลี่ยเดือนละ 5,222 บาท

ผมขออนุญาตนำสาระทั้งหมดมาฉายซ้ำอีกครั้ง ท่านที่เคยอ่านแล้วจะข้ามไปก็ได้ แต่ท่านที่ยังไม่เคยอ่านข่าวผลการสำรวจดังกล่าวจะได้ทราบไว้

อย่าลืมว่า จากวันที่อาจารย์แถลงมาจนถึงวันนี้ ผ่านไปแล้ว 2 เดือนเศษๆ สถานการณ์ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย แถมยังมีตัวแปรใหม่ๆที่น่าตกใจเกิดขึ้นมาซ้ำเติมอีก โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนทรุดฮวบ และอาจต้องทรุดไปอีกหลายๆเดือน

ถ้ามีการสำรวจใหม่ ผมก็คาดเดาว่าผลน่าจะออกมาในทางที่หนักกว่าเมื่อ 2 เดือนที่แล้วแน่ๆ…แต่ก็อย่าเพิ่งสำรวจเลยครับ อยู่เฉยๆ และใจเย็นไว้ก่อนดีกว่า หาทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจต่างๆที่เกิดขึ้นแบบที่หมอเขาเรียกว่ารักษาไปตามอาการก่อนน่าจะดีกว่า

ขณะที่ต้นฉบับวันนี้ลงตีพิมพ์ งบประมาณแผ่นดิน 2563 ที่ต้องล่าช้าไปเพราะ ส.ส.บางคนไร้จิตสำนึก ทำให้ต้องมาโหวตกันใหม่ น่าจะผ่านขั้นตอนต่างๆไปเรียบร้อย

ขอให้เร่งรัดหน่อยนะครับ นี่ก็เกินเลยเวลามามาก และที่สำคัญงบประมาณ 2563 ที่ว่านี้ คงไม่ถึงขั้นเป็นตัวยาที่จะมารักษาอาการไข้ทางเศรษฐกิจหรอก เป็นได้แค่น้ำเกลือเท่านั้นเอง

แต่ก็เป็นน้ำเกลือที่สำคัญมาก ต้องรีบให้ซะก่อน คนไข้จะได้มีเรี่ยวแรงขึ้น ก่อนที่จะลงมือให้ยาตัวอื่นๆต่อไป.

“ซูม”