รีวิว…Bombshell : แฉกระฉ่อนโลก กับการทำความเข้าใจ Sexual Harassment เสียใหม่ในสังคมไทย…8.5/10

หน้าหนังและการปล่อย Teaser ของ Bombshell ที่ปรากฏการรวมตัวของสามตัวแม่ Nicole Kidman เจ้าของรางวัลออสการ์นักแสดงนำฝ่ายหญิงจาก “The Hours” พร้อมกับ Charlize Theron เจ้าของรางวัลออสการ์นักแสดงนำฝ่ายหญิงจาก “Monster” และ Margot Robbie ผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์นักแสดงนำฝ่ายหญิงจาก “I, Tonya” เคียงกันสามคนพร้อมเส้นเรื่องที่เผยให้เห็นถึงการแก้การเขาคืนอย่างแสบสันต์ อาจจะทำให้คุณนึกถึงขนบหนัง Chick Flick ชวนสาวๆ ตามกันมาดูทั้งสามคนรวมพลังกันแก้เผ็ดผู้ชาย เห็นการประชุมประสานพลังเพื่อนหญิงพลังหญิงปฏิบัติการที่ต้องมีความเปิ่นโก๊ะชวนอมยิ้มเอาฮาอย่างแน่นอน…

แต่เปล่าเลย ทั้งสามคนได้เจอกันพร้อมหน้าพร้อมตากันในเรื่องเพียงครั้งเดียวในลิฟท์ ที่เป็นภาพ Promote นั่นแหละ แถมยังไม่ได้มีบทสนทนาใดๆ กันจริงจังอีกด้วย ! แต่เชื่อหรือไม่ว่าฉากนั้นในเรื่องนั่นแหละ คือฉากที่สำคัญ และทีมผู้สร้างสะท้อนความจริงในสังคมผ่านพฤติกรรมของตัวละครทั้งสามในลิฟท์ได้อย่างชาญฉลาดมากๆ

เพราะประเด็นสำคัญที่ Bombshell จะสื่อสารกับคุณ อยู่ที่ “ทำไม” และ “อย่างไร” ตัวละครของเธอทั้งสามคนในเรื่อง (ที่มีตัวตนจริง) ถึงได้ลุกขึ้นมาปล่อย Bomb เรื่องการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) จนสะเทือนสื่อใหญ่อย่าง Fox News ต่างหาก !

หนังเล่าเรื่องราวคดีล่วงละเมิดทางเพศที่อื้อฉาวไปทั้งวงการข่าวสหรัฐอเมริกาในปี 2006 โดยปรับเปลี่ยนชื่อจริงของบุคคลในเหตุการณ์มาเล่าเรื่องราวจริง และเขียนบทเพิ่มเติมในเหตุการณ์ส่วนตัวของตัวละครที่มีปฏิสัมพันธ์กัน เพื่อเติมเต็มอรรถรสให้เราอย่างถึงพริกถึงขิงถึงเครื่อง !

เปิดเรื่องด้วยการทำความเข้าใจพื้นฐานการทำงานข่าวอันซับซ้อน และปูพื้นหลังความสัมพันธ์ของตัวละครผ่านเทคนิคการนำเสนอแบบสารคดีตามติดชีวิตนักข่าวของ เมจิน เคลลี” (Charlize Theron) ผู้ประกาศและนักข่าวตัวแม่สายปะฉะดะ อันดับหนึ่งของ Fox News ที่เคยงัดกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนปัจจุบัน (ที่ใครๆ ก็รู้ว่า Fox News ถือหางข้างอนุรักษ์นิยมและสนับสุนพรรคริพับลิกันที่ทรัมป์เป็นตัวแทนลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐ) ในประเด็นที่เขากล่าวถึง “ประจำเดือนของเธอ” ว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอถามคำถามเรื่อง “การเหยียดเพศ เหยียดชนชั้น” ของเขา ในระหว่างที่หาเสียงเพื่อดำรงดำแหน่งประธานาธิบดี

เพื่อเชื่อมเส้นเรื่องมาบรรจบกับสถานการณ์ของ เกรตเชน คาร์ลสัน” (Nicole Kidman) ผู้ประกาศข่าวแถวหน้าที่ถูกลดอันดับมาทำรายการภาคบ่าย (แล้วก็กำลังจะถูกเด้ง) เพียงเพราะเธอต่อต้าน “อำนาจ” ของ โรเจอร์ ไอล์ส” (John Lithgow) ผู้บริหารสูงสุดของ Fox News ที่เรียกกันในหมู่พนักงานตามห้องทำงานของเขาว่า “ชั้นสอง” ภายใต้ร่วมไม้ชายคาของตระกูลเมอร์ด็อก เจ้าของธุรกิจในเครือสื่อมวลชนอนุรักษ์นินิยมหัวใหญ่ของเอมริกาที่นอกจาก Fox News แล้วยังมี Wall Street Journal, Times, the Australian ที่นั่งบริหารอาณาจักรเหล่านี้จาก “ชั้นแปด”

ก่อนจะพาเรามาพบกับเคย์ลา พอสพิซิล” (Margot Robbie) น้องใหม่ในทีมของเกรตเชน ที่สละทีมเพื่อไปอยู่ทีมใหม่เพื่อมองหาโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ แต่เธอไม่รู้เลยว่าสุดท้ายแล้วเธอกลับต้องมาตกเป็นเหยื่อการคุกคามทางเพศจากโรเจอร์ ไอล์สที่ “ชั้นสอง”

หนังได้ลองเชิงปรับอารมณ์ให้เราด้วยการงัดข้อของเมจิน กับทรัมป์ ที่ฟาดฟันกันยาวนานเป็นปี และจบลงที่สุดท้ายแล้วสภาพแวดล้อมของที่ทำงานฝ่ายอนุรักษ์นิยม และการถูกคุกคามความเป็นส่วนตัวซ้ำๆ จากผู้สนับสนุนรีพับลิกัน (แม้ในยามที่เธอลาไปพักร้อนกับครอบครัว) ทำให้เธอเอง “ยอมลดการ์ด” เพื่อจบความกังวลใจ

อารมณ์ของหนังที่ปูเรื่องและเน้นบทบาทของเมจินในช่วงแรกถูกขับให้มีสีสันด้วยบทพูดที่คมคายจนต้องยกนิ้วให้ ที่มาพร้อมๆ กับการตัดภาพสลับฉับไว เดินเรื่องเร็วให้รู้สึกเหมือนดูข่าวสั้นทันโลกในรายการจริงๆ พร้อมหยอดมุกตลกคมคายประปรายถูกจังหวะตลอดเรื่อง และเล่นกับการเสียดสีความเป็นเลสเบี้ยนและเดโมแครต (เสรีนิยม) ของเพื่อนร่วมงานในทีมใหม่ของเคย์ลาใต้จมูกของ Fox News แท้ๆ

จากนั้น…สนุกๆ ขำๆ แสบๆ ตามอารมณ์อยู่ดีๆ หนังก็ฟันศอกเราเข้าให้ด้วยการยอมถอยให้ทรัมป์ของเมจิน เท่านั้นยังไม่พอ หนังยังตีเข่าซ้ำด้วยการคุกคามทางเพศที่เคย์ลาต้องเจอ เพราะการเข้าไปพบ “ชั้นสอง” โดยบังเอิญในครั้งแรกของเธอนั้นทำให้เรารู้ว่า

“…Sexual Harassment ไม่จำเป็นต้องถูกเนื้อต้องตัวเสียด้วยซ้ำ !…”

แต่มันคือคำพูด คือคำหยอกล้อ คำง่ายๆ ที่ไม่คิดอะไร แต่มีพื้นฐานมาจากการ “มองคนเป็นวัตถุ” และ “ทัศนคติเหมารวม – Stereotype” ที่พัฒนาขึ้นไปไกล…ไกลยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้น และยิ่งขึ้น จนไปถึงจุดที่แย่ที่สุดในการใช้อำนาจหน้าที่เพื่อต้อนเหยื่อให้จนมุม จนต้อง “จำใจสมยอม”

ฉากที่เคย์ลาจำเป็นต้องเลิกกระโปรงขึ้นทีละนิด ทีละนิด ในการพบกันครั้งแรก เพื่อ “โชว์ตัว” ให้โรเจอร์ ไอล์ส ดู เนื่องจากนโยบายดึงดูดความสนใจลูกค้ากลุ่มผู้ชายด้วยการโชว์ขาอ่อนของผู้ประกาศสาวนั้น…ต้องยอมรับว่านี่คือฉากที่ทรงพลังที่สะท้อนแทนคำบรรยายของ “เหยื่อ” ในสังคมที่กดทับชีวิตเราทุกนาที ทุกวัน ทุกเวลา

และต้องยอมรับว่านอกจากวิธีการสะท้อน อำนาจนิยม ของผู้คุกคามแล้ว เสน่ห์อีกประการของเรื่องนี้คือแม้จะเสนอเรื่อง Sexual Harassment กับเหยื่ออย่างโต้งๆ แต่หนังไม่มีฉากข่มขืนจะๆ (อย่างในละครและซีรีส์วายบ้านเรา) เลยสักฉาก ทว่ากลับสร้างความรู้สึกร่วมของคนดูให้เห็นถึงความอึดอัดและเจ็บปวดของตัวละครได้เป็นอย่างดี

และที่เราจะผ่านไปไม่ได้เลยคือฉากในลิฟท์ที่ตัวละครหญิงทั้งสามคนอยู่ในลิฟท์เพื่อลงไป “ชั้นสอง” และรับชะตากรรมของแต่ละคน ในฐานะ “เหยื่อ” “ผู้เคยเป็นเหยื่อ” และ “ผู้ไม่ยอมเป็นเหยื่อ” นับว่าได้หยิบความสามารถทางการแสดงของเจ้าของและผู้เข้าชิงออสการ์ทั้งสามมารวมกันใช้อย่างประสิทธิภาพมาก

สายตาขอความช่วยเหลือของเคย์ลา ความสงสัยที่เดินข้ามไปมาระหว่างจะช่วยหรือไม่ยุ่งของเมจิน และความพร้อมเผชิญหน้าของเกรตเชน ปฏิสัมพันธ์ของตัวละครที่ส่งรับกันไปมาในเวลาอันสั้นในลิฟท์นั้น สะท้อนความเป็นไปของเหยื่อในโลกจริง ที่จำยอมต้องแบบรับความกดดันและความรู้สึกผิดบาปน่าสมเพชเอาไว้ ทั้งๆ ที่เหยื่อเองไม่ได้ผิดอะไร แต่ทว่ากลับไร้สิทธิ์และเสียงที่จะร้องขอความช่วยเหลือเพื่อตัวเอง ในสังคมที่นี้ สังคมที่เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราทับถมกันมานานจนแทบไม่มีที่ยืนให้ความเป็นมนุษย์ที่พึงกระทำต่อกันมานานมากแล้วแค่ไหน

นำไปสู่คำถามที่หนังทิ้งไว้ได้ดีเดียวคือ “เมื่อมีอำนาจจะทำอะไรก็ได้งั้นหรือ ?” เพราะเมื่อถอยออกมามองภาพกว้าง Sexual Harassment ในเรื่อง ก็จะเป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของ “การบริหารอำนาจ” ของผู้เป็นใหญ่ในองค์กร (และสังคม) เพียงเท่านั้น คิดดูสิ ว่าการเถลิงอำนาจและเวียนว่ายอยู่ในวังวนของอิทธิพลที่จะกดหรือยกใครขึ้นลงตามใจชอบ ทำให้ผู้มีอำนาจสูญเสียความเป็นมนุษย์ไปมากมายได้เพียงนี้เชียวหรือ ?

และที่สำคัญกว่าคือ เราจะยอมให้มันเป็นไปใช่นี้จริงหรือ ?

เราจะแกล้งทำเป็นไม่เห็นสิ่งเหล่านี้ต่อไป หรือจะสร้างค่านิยมใหม่ ทำความเข้าใจกันใหม่ ให้สังคมนี้มันดีขึ้น อย่างที่เราพูดกันหนักหนาว่าอยากให้มันเป็น…

คำตอบและการตัดสินใจของเมจินในเรื่องนั้น คงการันตีได้แล้วว่า “เราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง” เพียงแค่เรา “กล้า” ที่จะพูดและลงมือทำในวันนี้

นับว่าผลงานกำกับภาพยนตร์ของ เจย์ โรช และเขียนบทของ ชาร์ลส แรนดอล์ฟ ทำได้ลงตัวเหมือนนำ Meet the Parents (2000), Meet the Fockers (2004), Trumbo (2015) และ The Big Short (2015) ที่ทั้งสองคนได้ฝากชื่อเอาไว้มาปั่นรวมกันในสีสันใหม่ได้ไม่เลวทีเดียว

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไม Bombshell ถึงไม่หลุดโผเข้าชิงรางวัลออสการ์ 2020 ซึ่งจะประกาศผลกันแล้วในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ถึง 3 รางวัล คือ นักแสดงนำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (Charlize Theron) นักแสดงสมทบฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม (Margot Robbie) และแต่งหน้า – ทำผมยอดเยี่ยมจากผลงานของ (คาซู ฮิโระ, แอนน์ มอร์แกน, วิเวียน เบเกอร์)

ขอเรียนเชิญตีตัวไปสัมผัส “อรรถรส” จาก Bombshell โดยพร้อมเพรียงกันแล้ววันนี้ทุกโรงภาพยนตร์

Pitirach Joochoy