เจอกันที่ร้าน “เซเว่นฯ” ที่มั่นสุดท้ายของหนังสือพิมพ์?

วันนี้จะมีเหตุการณ์เล็กๆ เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นที่หมู่บ้าน อาคารสงเคราะห์คลองจั่น เขตบางกะปิ แม้จะเป็นเหตุการณ์เล็กมากแต่ผมก็อยากจะบันทึกไว้เพื่อเป็นหลักฐานของการเปลี่ยนแปลงประการหนึ่งของสังคมไทย

เพราะวันนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่แผงหนังสือพิมพ์สุดท้ายของหมู่บ้านนี้จะเปิดขายก่อนที่จะปิดตัวเองไปชั่วนิรันดร์ นับแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป

หมู่บ้าน อาคารสงเคราะห์คลองจั่น เขตบางกะปิ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่มีตำนานน่าสนใจไม่น้อย เพราะเคยเป็นหมู่บ้านพักของนักกีฬาจากประเทศเอเชียต่างๆ ที่เดินทางมาร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 5 ที่ประเทศไทยขันอาสาเป็นเจ้าภาพเมื่อ พ.ศ.2509

นับเป็นการจัดงานใหญ่ระดับเอเชียเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพราะก่อนหน้านี้เราเคยเป็นแค่เจ้าภาพในระดับกีฬาแหลมทองเท่านั้น

ผลการเป็นเจ้าภาพเอเชียนเกมส์ครั้งนั้นทำให้ความเจริญแผ่ขยายไปสู่บริเวณซีกตะวันออกของ กทม. อย่างใหญ่หลวง เมื่อมีถนนสายใหม่ตัดจากปลายถนนเพชรบุรีตัดใหม่ที่คลองตันขวางยาวเหยียดไปทางซ้ายมือ จนถึงเขตบางกะปิ ซึ่งใน พ.ศ.นั้นยังเรียกว่า อำเภอบางกะปิ

มีการก่อตั้ง องค์การส่งเสริม กีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งต่อมาได้รับการยกฐานะเป็น การกีฬาแห่งประเทศไทย ที่ริมถนนสายนี้ พร้อมกับมีการก่อสร้าง อินดอร์สเตเดียมหัวหมาก กับ สนามจักรยานเวโลโดรม หัวหมาก ที่จะใช้แข่งในเอเชียนเกมส์ให้องค์กรแห่งนี้เป็นผู้ดูแล

มีการก่อสร้างสถานที่จัดงานแสดงสินค้านานาชาติของ กระทรวงเศรษฐการ ซึ่งต่อมาก็คือ กระทรวงพาณิชย์ และสถานที่จัดงานแสดงสินค้าที่ว่านั้น ต่อมาก็กลายเป็นที่ตั้งของ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

และที่ปลายทาง ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอบางกะปินั่นเอง เลยไปแค่ข้ามคลองแสนแสบก็มีการก่อสร้างหมู่บ้านนักกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 5 ให้นักกีฬาจากทุกชาติที่มาแข่งขันได้พักรวมกัน

ต่อมาหลังการแข่งขันแล้วก็กลายเป็นหมู่บ้านอาคารสงเคราะห์คลองจั่น เปิดจำหน่ายให้แก่ประชาชนที่ขาดแคลนที่อยู่อาศัย โดยมีการก่อสร้างเพิ่มเติมอีกหลายๆ รุ่น จนถึงแฟลตคลองจั่นเป็นรุ่นสุดท้าย

ในขณะที่ตัวอาคารทรงไทยที่เคยเป็นศูนย์บัญชาการของหมู่บ้าน นักกีฬาเอเชียนเกมส์ 2509 ก็กลายเป็นอาคารสูงน่าจะ 7 หรือ 8 ชั้นของสำนักงาน การเคหะแห่งชาติ ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ต้องยอมรับว่าเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 5 นำมาซึ่งชื่อเสียงเกียรติยศด้านการกีฬาของประเทศไทยอย่างใหญ่หลวง เพราะเป็นครั้งแรกที่เราได้เหรียญทองในระดับเอเชียมากถึง 12 เหรียญทอง และแจ้งเกิดวีรบุรุษนักกีฬาแห่งความทรงจำหลายคน เช่น ปรีดา จุลละมณฑล เป็นต้น

ผมไปเป็นลูกบ้านคลองจั่นเมื่อ พ.ศ.2514 น่าจะเป็นรุ่นที่ 4 ของหมู่บ้าน โดยโชคดีเป็น 1 ใน 200 คน ของผู้ยื่นใบสมัครกว่าหมื่นคนของรุ่นนี้ ที่สำนักงานอาคารสงเคราะห์ ต้องใช้วิธีหมุนกงล้อสลาก แบบสลากลอตเตอรี่นั่นเลย ในการเลือกหาผู้โชคดี

ลักษณะของหมู่บ้านนี้ก็คล้ายๆ กับหมู่บ้านใหญ่ๆ ทั่วไปของ กทม. คือจะมีตลาดเล็กๆ ร้านค้าเล็กๆขายของอยู่กระจุกหนึ่ง และก็มีร้านขายของชำกระจายไปตามจุดต่างๆ รวมทั้งมีร้านขายหนังสือพิมพ์ด้วย ซึ่งตอนที่ผมไปอยู่ใหม่ๆ มีถึง 4 แห่งด้วยกัน

ในยุคสิ่งพิมพ์รุ่งเรือง ทั้ง 4 แผง 4 ร้านจะมีทั้งนิตยสารรายคาบต่างๆ และหนังสือพิมพ์รายวันกองพะเนินเทินทึก ต่อมาก็ค่อยๆลดลงเหลือ 2 แผง และในที่สุดประมาณสัก 1 ปีมาเห็นจะได้ก็เหลือแค่แผงเดียว

และเมื่อวานก่อนนี้เอง ผมแวะไปที่ร้านเดียวของหมู่บ้าน ก็ได้รับคำบอกเล่าจากคุณน้าคนขายว่าจะขายถึงสิ้นเดือนเท่านั้น

วันนี้คือวันสิ้นเดือน (31 มกราคม) วันสุดท้ายของแผงหนังสือพิมพ์ แผงสุดท้ายของหมู่บ้านคลองจั่น ตามที่คุณน้าแจ้งไว้

นับแต่พรุ่งนี้หมู่บ้านนี้คงจะอยู่ต่อไป ชีวิตของชาวคลองจั่นย่อมเดินหน้าต่อไป ขาดเพียงแผงหนังสือพิมพ์เท่านั้น ที่จะไม่มีอีกต่อไป

จริงๆ แล้วในร้านเซเว่นฯ ของหมู่บ้าน ซึ่งมีถึง 3 แห่ง ยังมีหนังสือพิมพ์ขายอยู่ ผมเองก็แวะไปซื้อบ่อยๆ สลับกับร้านคุณน้า

ฝากหนังสือพิมพ์ในร้านเซเว่นฯ ไว้ด้วยนะครับ หาซื้อที่ไหนไม่ได้แวะเข้าร้านเซเว่นฯ นะครับ…นี่คือที่มั่นแห่งใหม่ของหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย และอาจจะเป็นที่มั่นสุดท้ายด้วยหรือเปล่าก็ไม่รู้ซี?

“ซูม”