รีวิว…คิม จี ยอง เกิดปี ‘82…8.5/10

เรื่องแรกรับปีใหม่ 2019 กับรอบดึกที่บังเอิญเหมาะกับตัวหนังดัดแปลงจากวรรณขายดี สร้างกระแสฮือฮาไปทั่วเกาหลีจากปลายปากกาของนักเขียนหญิงนาม โชนัมจู ที่ดูไปแล้วทำให้ต่อมความคิด ความรู้สึกทำงานตามไปกับในเรื่องได้โดยไม่คาดคิด

ทั้งโรงตอนที่ไปดูมีคนอยู่ไม่เกินสิบคน กว่าครึ่งก็แน่นอนว่าจะต้องเป็นแฟนคลับตามมากรี๊ดกงยูกับ Moment ในเรื่อง

แต่ก็คงจะต้องแสดงความเสียใจกับคนที่คาดหวัง Moment น่ารักเหล่านั้นไว้ ณ จุดนี้ เพราะไม่มีให้เห็นมากนักหรอกแต่คุณจะได้ขยี้ใจไปกับผู้ชายคนหนึ่งที่แบกรับครอบครัวที่กลัวจะแย่ว่ามันจะพังทลาย ด้วยความท้ายทายของการเป็นพ่อและสามี

เพราะเรื่องนี้กงยู คือ “ชองแดฮยอน” สามีผู้แก่ปีกว่า “คิมจี – ยอง” ตัวละครหลักของเรื่อง ซึ่งรับบทโดย จองยูมิ ในสถานะของคุณแม่ลูกหนึ่งมือใหม่ ผู้เผชิญกับภาวะโรคซึมเศร้าหลังคลอด

แต่ไม่เพียงเท่านั้น เพราะภาวะนี้ ตกตะกอนสะสมปนเชื้อกับความกดดัน ความเครียด ความคาดหวัง ความกลัว จากชีวิต(สตรี )ในระบบสังคมเกาหลีใต้ (และเอาจริงๆ มันก็อาจจะเป็นระบบสังคมของโลกนี้เลยก็ว่าได้ !) จนปะทุระเบิดออกมาโดยที่เธอไม่รู้ตัว

ภาพที่เราจะได้เห็นนั้นคือชองแดฮยอน สามีผู้มีอนาคตการงานที่ก้าวไกล แต่เป็นกังวลในปัญหาครอบครัว(?) ที่เขาต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา จึงเป็น “น้ำตากงยู” ต่างหากที่แฟนๆ จะได้เห็นและรู้สึกไปกับเขา ในฐานะชองแดฮยอน

วิธีการเล่าเรื่องของตัวหนังนั้นเริ่มต้นให้เราเตรียมใจรับมือกับสิ่งที่ต้องเจอต่อไปในเรื่องด้วยการก้าวไปพบจิตแพทย์ของชองแดฮยอน ที่สรุปด้วยความเห็นหลังจากจิตแพทย์ได้ชมคลิปที่เขาส่งให้ว่า “คุณต้องพาภรรยามาพบแพทย์”

ก่อนจะไประเบิดปัญหาเริ่มต้นของเรื่องด้วยเหตุการณ์ในช่วงปีใหม่ ที่บ้านคุณพ่อคุณแม่สามี

แล้วก็ส่งเราเดินทางไปกับความคิด เหตุของปัญหา ตลอดจนสิ่งที่คิมจี – ยอง ต้องเผชิญ จาก “ประกายของเหตุการณ์” ที่ยังวับวามในจิตใจของเธอ เมื่อเธอได้พบเห็น “สิ่งเร้า” ที่พาย้อนกลับไป จากพื้นผิวถึงกระพี้

ตั้งแต่คำเย้ยหยันของสภาพชีวิตแม่บ้านเลี้ยงลูกว่าเป็นเหมือน “ปลิง” จากคนในสวนสาธารณะ

ชีวิตการเป็นลูกสะใภ้ที่กลายเป็นเบี้ยล่างอย่างไม่ได้ตั้งใจให้ครอบครัวสามี – แรงกดดันตนเองจากความกลัวว่าจะถูกมองเป็นภรรยาที่ไม่ดี

ชีวิตการเป็นลูกสาวของครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับลูกชาย พ่อที่จำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเธอชอบกินขนมปังไส้ครีม แต่จำเป็นไส้ถั่วแดงเพราะน้องชายชอบ

ชีวิตการเป็นหลานสาวที่เห็นแม่ของตัวเองต้องสิ้นโอกาสในการใช้ชีวิตเพราะต้องทำงานหาเลี้ยงน้องๆ

ชีวิตการเป็นผู้หญิงในสังคมที่ถูกลวนลามคุกคามในวัยเยาว์ ความปลอดภัยที่ต้องแลกกับการไปเรียนพิเศษเพื่อจะมีโอกาสในการใช้ชีวิตที่ดี

ชีวิตของพนักงานที่ไม่ถูกเลือกเข้าทีม จากหัวหน้าหญิงสายแข็งของตัวเองเพราะรู้ดีว่าเธอต้องแลกกับอะไรบ้างเพื่อจะได้เป็นอย่างหัวหน้า และทีมต้องการคนที่ทำงานได้ในระยะยาว ในขณะที่เธอเมื่อต้องแต่งงานก็จะได้ออกไปเลี้ยงลูกเต็มเวลา และถึงอยู่ต่อก็ต้องเจอแรงเสียดทานหยามหยันอย่างที่หัวหน้าต้องเจอ

ชีวิตของการเป็นแม่เต็มเวลา ที่ยังกระเสือกกระสนอยากมีชีวิตของตัวเองด้วยเช่นเดียวกัน

สิ่งเหล่านี้นำไปสู่อาการผิดปกติของคิมจี-ยอง ที่เรียกว่า โรคหลายบุคลิก – Dissociative Identity Disorder (DID) หรือบางทีก็เรียกโดยรู้จักทั่วไปว่า Multiple Personality Disorder (MID) ซึ่งมีอาการแสดงออกเป็นบุคคลอื่นๆ ในตัวคนๆ เดียวกันโดยสิ้นเชิง และอาจจะมีบุคลิกที่แตกต่างกันสุดขั้ว เช่น เมื่อเป็นคนหนึ่งอาจจะเกลียดการดื่มเบียร์ แต่พอเป็นอีกคนอาจจะซดได้เป็นลัง ! และเมื่อเข้าสู่บุคลิกอื่นๆ ผู้ป่วยก็จะสูญเสียความทรงจำในขณะที่เป็นบุคลิกอื่นๆ นั้น

แต่ที่น่าหดหู่กว่าสำหรับคิมจี-ยอง คือ เธอเปลี่ยนไปกลายเป็นคนในชีวิตของเธอเอง “แต่เป็นในแบบที่เธออยากให้เขาเหล่านั้นเป็น”

ชั่วขณะหนึ่ง เธอเปลี่ยนเป็นสาวมหาวิทยาลัยสายฮ้าว ที่ตามกรี๊ดสามีเธอเอง ซึ่งเป็นคนที่มีเสน่ห์ตรงข้ามกับเธอโดยสิ้นเชิง

ในบางขณะ เธอเปลี่ยนเป็นแม่ของเธอเอง ที่ต่อสู้ทุกอย่างเพื่อรักษาความรู้สึกของเธอ

ในบางขณะ เธอเปลี่ยนเป็นคุณยายของเธอเอง ที่เข้าใจและปกป้องแม่ของเธอ มีชีวิตอยู่โดยเห็นแม่ของเธอเป็นสำคัญ

ซึ่งทำไปทำมาไม่รู้ว่าโดยตั้งใจหรือไม่ วิธีการเล่าเรื่องของหนังนั้น เป็นรูปแบบเดียวกันกับที่จิตแพทย์ใช้ “ขุดปัญหา” ของผู้ป่วยเลยจริงๆ !

แล้วในขณะเดียวกันวิธีการที่เธอพาตัวเองออกจากปัญหา อาจจะไม่ใช่ทั้งหมดแต่เป็นการปลดเปลื้องลงบ้าง นั่นคือการกระทำง่าย แค่เพียงการ ”ไม่ยอมรับสิ่งที่ไม่ควรต้องรับ” เช่นคำตัดสินแรงๆ จากคนแปลกหน้า ลุกขึ้นตอบโต้บ้างแม้จะเป็นเหมือนการสร้างรอยขีดข่วนใส่แผ่นเหล็กด้วยกรงเล็บ แต่มันก็ยังเป็นจุดเริ่มต้น

ที่สำคัญคือนักศึกษาปริญญาสาขาวรรณกรรมเกาหลีอย่างเธอตัดสินใจนั่งลงเขียนถึงชีวิตตัวเอง ช่างเป็นหนทางบำบัดของจิตแพทย์ตามหลักวิชาการ

“…เพราะการเขียน คือการยืนยันว่าเรามีชีวิต…”

และเธอเลือกที่จะมีชีวิตอยู่ ยอมรับ โอบกอดปัญหาในมิติที่มันสร้างเธอเป็นเธอในทุกวันนี้ และพร้อมจะแก้ไขให้เธอเป็นเธอที่ดีกว่าวันนี้

สะท้อนว่าโชนัมจู ผู้เขียนนั้นเข้าใจภาวะโรคซึมเศร้าและวิธีการรับมือเป็นอย่างดี และไม่แน่ว่ากว่าผลิตวรรณกรรมเรื่องนี้ ก็เป็นหนึ่งในการบำบัดทางใจของผู้เขียนด้วยเช่นกัน

หนังเรื่องนี้จึงสะท้อนปัญหาของผู้คนในสังคม และโดยเฉพาะครอบครัวของคิมจี-ยอง เอง ที่ไม่คิดว่าสิ่งที่เธอต้องเผชิญนี้เป็นปัญหา ที่แย่กว่าคือกลับคิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามครรลองเสียด้วยซ้ำ !

และช่างสอดคล้องกับกรณี Drama ของวรรณกรรมชิ้นนี้ เมื่อมีนักร้องสาวชาวเกาหลีวงดังท่านหนึ่ง เปิดเผยว่าเธอได้อ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ จนเกิดกระแสต่อต้านพอๆกับการเกิดกระแส #Metoo ของผู้สนับสนุน

นำไปสู่การเกิด #Youtoo เพื่อนำเสนอมุมมองของฝั่งชายชาวเกาหลี ที่ต้องเผชิญกับการสูญเสียโอกาสไปกับการถูกบังคับเกณฑ์ทหารตามกฎหมายเกาหลีใต้ พร้อมจัดพิมพ์หนังสือ คิมจี-ฮุน เกิดปี 1990 ด้วยเช่นกัน

แต่ถ้าคิดในอีกแง่ จากฝั่ง #Youtoo ก็มีความน่าสนใจไม่น้อย

เพราะมองจากหนังเรื่องนี้ดูดีๆ ตัวสามีอย่างชองแดฮยอนเอง ก็ต้องรับมือกับคิมจี – ยอง ผู้ป่วยไข้ทางจิตใจ ด้วยความไม่รู้และมืดแปดด้าน แถมยังต้องรับมือกับแรงกระเพื่อมจากแม่แท้ๆ ของตัวเองที่ทำให้ทุกอย่างแย่ลงไปอีก

เห็นได้จากคำค้นข้อมูลว่า “ถูกสิง” ที่มาพร้อมๆ กันกับ “โรคซึมเศร้าหลังคลอด” อันสะท้อนความไม่รู้สี่รู้แปดใดๆ ของสังคมในเรื่อง พอๆ กับความหดหู่ของบทสนทนาในสภากาแฟบุรุษบนดาดฟ้าที่ทำงานของเขา และความน่าเศร้าของชายที่ “ลาไปช่วยเลี้ยงลูก” ในสังคมนี้

หรือจริงๆ แล้ว ไม่ว่าทั้งชายหรือหญิง
ก็ต่างถูกทำร้าย ทำลายซึ่งกันและกัน
ต่างต้องการการเยียวยา รักษาบาดแผลทางใจ
และต่างก็มีชีวิตเป็นอย่างที่เรื่องนี้ว่าไว้…

“…เพราะเราทุกคนคือคิมจียอง…”

คะแนน 8.5/10

Pitirach Joochoy