เศรษฐกิจ “อินโดฯ” วิ่งฉิว โอกาสทองของ “บัวหลวง”

เมื่อวานนี้ผมเขียนทิ้งท้ายไว้ว่า การลงทุนซื้อธนาคารอินโดนีเซียของ “แบงก์บัวหลวง” เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุด ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ เผอิญเนื้อที่หมดเสียก่อน จึงต้องขออนุญาตท่านผู้อ่านมาเขียนต่อในวันนี้

เหตุผลข้อแรกคงหนีไม่พ้นเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจของอินโดนีเซียนั่นแหละครับ เพราะกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น น่าเข้าไปลงทุนเป็นที่สุด

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ เศรษฐกิจของอินโดนีเซียขยายตัวโดยเฉลี่ยถึงร้อยละ 5 ต่อปี และคาดว่าจะเกินร้อยละ 5 ไปอีกหลายปี

แม้จะยังตํ่ากว่าเป้าร้อยละ 7 ที่ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด เคยตั้งไว้ แต่การทำได้ถึงร้อยละ 5 ในยุคนี้ก็ต้องถือว่ายอดเยี่ยมแล้ว

ด้วยขนาดเศรษฐกิจ ซึ่งวัดด้วยมูลค่าจีดีพีในราคาตลาดที่สูงถึง 1.100 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับที่ 16 ของโลกนั้นต้องใช้คำว่าไม่ธรรมดา (โตกว่าของเราประมาณ 2 เท่าตัว)

และถ้าวัดโดยคำนึงถึงอำนาจซื้อด้วยจีดีพีของเขาจะกระฉูดไปถึง 3.740 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 7 ของโลกเลยทีเดียว

ด้วยภาคเศรษฐกิจที่ใหญ่โตแบบนี้ และเปอร์เซ็นต์ขยายตัวก็สูงเกินร้อยละ 5 ด้วย ผมว่านักลงทุนชาติต่างๆ น่าจะจ้องและหาทางไปลงทุนที่อินโดนีเซียชนิดแทบไม่ต้องเชิญชวนอะไรมากอย่างแน่นอน

จริงอยู่ตัวเลขรายได้ต่อหัวของเขาอาจยังตํ่าอยู่ โดยมองจากราคาตลาดจะอยู่ที่ 4,120 เหรียญสหรัฐฯ เท่านั้น ในปีล่าสุดตํ่ากว่าของเราซึ่งอยู่ที่ 7,187 เหรียญสหรัฐฯต่อหัวต่อคนต่อปี ค่อนข้างเยอะ เพราะเขามีประชากรถึง 270 ล้านคน ตัวหารมากกว่าเราหลายเท่า

แต่ประชากรที่มากมายมหาศาลก็เป็นจุดแข็งของประเทศเช่นกัน ถือเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่ เมื่อรายได้สูงขึ้น การใช้จ่ายก็จะยิ่งมากขึ้น ทำให้สินค้าขายได้ดีขึ้นเป็นเงาตามตัว

ขณะเดียวกัน ท่านประธานาธิบดี วิโดโด ซึ่งเข้าบริหารประเทศเป็นสมัยที่ 2 หลังจากโชว์ฟอร์มยอดเยี่ยมสมัยแรกจนชนะใจประชาชนเลือกมาเป็นต่อ ก็มีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกกระบิใหญ่ โดยเฉพาะด้านคมนาคมขนส่งด้วยการสร้างถนนและท่าเรือเชื่อมเกาะต่างๆ

รวมทั้งยังมีแผนจะย้ายเมืองหลวงออกจากจาการ์ตาไปอยู่ที่เมืองกาลิมันตันของเกาะบอร์เนียวอีกด้วย

ต้องบอกว่าช่วงนี้เป็นช่วง “ฟื้นไข้” ของอินโดนีเซียอย่างแท้จริง หลังจากเจอวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” จากประเทศไทยที่ระบาดไปทั่วเอเชีย อันเป็นผลให้อินโดนีเซียพลอยพังครืนไปด้วย เมื่อ พ.ศ.2540

พังหนักกว่าเราเสียอีก เพราะเศรษฐกิจแดนอิเหนาในช่วงนั้นหดตัวไปถึง 13 เปอร์เซ็นต์

ค่อยๆ เตาะแตะมาเรื่อยจนเริ่มฟื้นไข้ในยุคของท่านประธานาธิบดีโจโก วิโดโด นี่แหละ และคาดว่าหายดีแล้วสามารถที่จะวิ่งเหยาะๆ ได้อย่างเข้มแข็งนับแต่นี้เป็นต้นไป

ผมเองไปเห็นการฟื้นไข้ของเขาด้วยตาตนเองเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ยังกลับมาเขียนบอกเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบอยู่หลายวัน และจากการติดตามข่าวสารอยู่ตลอด พบว่าเขาหายไข้โดยสนิทแล้วอย่างที่ว่า

ด้วยเหตุนี้แหละที่ผมเชื่อว่าการตัดสินใจของ บัวหลวง ถูกต้องเมื่อมองจากโอกาสและความเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดฯ ณ นาทีนี้

สำหรับคุณสมบัติและโอกาสทางธุรกิจของ ธนาคารเพอร์มาตา ที่แบงก์บัวหลวงจะไปซื้อนั้น เท่าที่ฝ่ายบริหารของธนาคารกรุงเทพได้แถลงทั้งวาจาและลายลักษณ์อักษรเป็นระยะๆ ก็เป็นตัวเลือกที่เหมาะสม

เช่น เป็นธนาคารที่มีขนาดอันดับที่ 12 ไม่ใหญ่และไม่เล็กจนเกินไป อยู่ในวิสัยที่แบงก์บัวหลวงจะเข้าไปบริหารจัดการได้ และที่สำคัญก็คือ มีสาขาถึง 332 สาขา มีตู้เอทีเอ็ม 989 ตู้ กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีลูกค้าทั้งที่เป็นองค์กรระดับชาติและเอสเอ็มอี ตลอดจนผู้ใช้บริการเป็นรายบุคคลกว่า 3.5 ล้านคน

จุดเด่นอีกประการของธนาคารนี้ก็คือ ความเชี่ยวชาญและก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเกินคาด มีโมบายแบงก์ที่ได้รับความนิยมสูง มีพนักงานประมาณ 7,000 คนที่มีคุณภาพ ฯลฯ

ผมก็หวังว่าทางผู้บริหารของธนาคารกรุงเทพ นำโดยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ชาติศิริ โสภณพนิช ที่ลงไปกลั่นกรองและเลือกธนาคารนี้ด้วยตนเอง เดินทางไปอินโดนีเซียหลายสิบครั้ง คงจะพิจารณาโดยรอบคอบแล้ว

ขอให้การปัก “ธงไทย” ในแดนอิเหนาของแบงก์บัวหลวงครั้งนี้ประสบความสำเร็จสมดังที่มุ่งหมายไว้…จงทุกประการนะครับ.

“ซูม”