ทุนจีนแห่ซื้อมหาวิทยาลัยไทย สัญญาณเตือนภัยอุดมศึกษา

ผมอ่านรายงานสกู๊ปพิเศษของ “เมเนเจอร์ ออนไลน์” เมื่อ 2 วันก่อนว่าด้วยเรื่อง “ทุนจีน” ที่กำลังเข้ามาจ้องซื้อกิจการของ “มหาวิทยาลัยเอกชน” ในประเทศไทยแล้วก็ใจหายวาบ…วาบ จนอดมิได้ที่จะต้องหยิบมาเขียนแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในวันนี้

สรุปสาระหลักของรายงานดังกล่าวได้อย่างสั้นๆ ว่า มหาวิทยาลัยเอกชนไทยประมาณ 10 แห่งกำลังจะถูกกลุ่มทุนจีนเข้าซื้อกิจการหลังจากมหาวิทยาลัยดัง 2 แห่งโดนซื้อไปเรียบร้อยแล้ว

สาเหตุหลักที่ทุนจีนแห่เข้ามาซื้อมหาวิทยาลัยในเมืองไทยก็เพื่อจะใช้เป็นฐานรองรับนักศึกษาจีนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยของเขาไม่ได้ปีละกว่า 5 ล้านคน ให้เข้ามาเรียนในไทยแทน

โดยจะมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรเป็นภาษาจีน พร้อมดึงบุคลากรจีนเข้ามาสอนในมหาวิทยาลัยดังกล่าวควบคู่ไปด้วย

จริงๆ แล้วผมควรจะรู้สึกดีใจหรือตื่นเต้นที่อ่านเจอข่าวว่าจะมีทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะตลอดเวลา 40-50 ปี ที่เราพัฒนาประเทศกันมานั้น เราก็มีการส่งเสริมการลงทุนและชักชวนนักลงทุนจากต่างประเทศมาลงทุนในบ้านเราโดยตลอด

ทั้งทุนฝรั่ง ทุนญี่ปุ่น ทุนเกาหลี ล้วนหลั่งไหลมาเมืองไทย รวมทั้งทุนจีนที่เริ่มมามากขึ้นในระยะหลังๆ  และล่าสุดรัฐบาลไทยท่านก็ประกาศเชื้อเชิญทุนจีนให้มาลงที่ EEC เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ

แต่ที่ผมเกิดความรู้สึกไม่ดีใจ ไม่ตื่นเต้น แถมกลับใจหายเอาเสียอีกกับข่าวการจะมาลงทุนของ “ทุนจีน” ข่าวนี้ เพราะนี่ไม่ใช่การลงทุนด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม หรือพาณิชยกรรม เช่นที่ผ่านๆ มา

กลับกลายเป็นการลงทุน “ด้านการศึกษา” ซึ่งเป็นประเด็นที่แตกต่างไปจากการลงทุนด้านอื่นๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น

เพราะถ้ามาลงทุนผลิตสินค้าหรือให้บริการทั่วๆ ไปก็ไม่มีปัญหาอะไร ผลิตมาแล้วก็ส่งออกขาย จะขายในประเทศหรือต่างประเทศก็ว่ากันไป เป็นเรื่องที่ทั่วโลกปฏิบัติกันอยู่แล้ว

แต่การผลิตหรือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนกว่า เพราะมนุษย์นั้นมีชีวิต มีความคิด มีอารมณ์ มีความรู้สึกจะดีก็ได้จะร้ายก็ได้

ใครจะไปรู้ล่ะว่าเขาจะแอบสอนอะไรกันบ้างนอกเหนือไปจากวิชาการและวิชาชีพต่างๆ เพราะมีข่าวว่าเขาจะสอนเป็นภาษาของเขา

อีกอย่างคนที่จะมาเรียนก็เป็นคนของเขาเข้ามาปีละหลายๆ พันคน ถ้าเขาซื้อมหาวิทยาลัยไทยได้อีกหลายๆ แห่งก็จะกลายเป็นหมื่นๆ คน

คนหลายๆ หมื่นนี้จะกลับบ้านเขาไหม? หรือจะอยู่เมืองไทยต่อไป? ผู้รักษากฎหมายบ้านเราจะจัดการให้เขากลับได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ไหม?

จะกลายเป็นปัญหาทางสังคมและความมั่นคงในอนาคตหรือไม่?

แต่ที่ผมรู้สึกสะท้อนใจมากที่สุดเมื่ออ่านบทความไปจนจบก็คือ สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้มหาวิทยาลัยไทยต้องดิ้นรนและยอมขายให้แก่ทุนจีน เป็นเพราะปัญหาทางด้านโครงสร้างประชากรของเรานี่เอง

คนแก่เยอะ คนเกิดน้อย ทำให้จำนวนคนหนุ่มคนสาวที่อายุได้เกณฑ์จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยน้อยลงแบบฮวบฮาบ

มหาวิทยาลัยเอกชนหลายๆ มหาวิทยาลัยกลายเป็นมหาวิทยาลัยร้างไปตามๆ กัน บางคณะก็ปิดไปเรียบร้อย เพราะไม่มีคนเรียน โดยเฉพาะคณะวิชาที่ผมเคยเรียน คือ คณะเศรษฐศาสตร์โดนปิดมากที่สุด

จนในที่สุดก็ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด หันไปเปิดหลักสูตรรับนักศึกษาจีน และก็เผอิญไปตรงกับว่าเด็กจีนที่เข้ามหาวิทยาลัยรัฐของเขาไม่ได้ปีหนึ่งมีถึง 5 ล้านคน เขาก็เลยแห่กันมาที่เราดังที่เป็นข่าว

ผมเป็นคนที่มองโลก 2 ด้านอยู่เสมอ เข้าใจดีว่ากรณีนี้ก็คงจะมีทั้งผลบวกและผลลบต่อประเทศชาติอย่างแน่นอน แต่คิดอย่างเผินๆ แบบคนทั่วไปดูจะมองเห็นผลลบมากกว่าผลบวกเสียแล้ว

ท่านรัฐมนตรีกระทรวงชื่อยาวที่สุดของประเทศไทย “กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ท่านมองปัญหานี้อย่างไรบ้างครับ?

และที่สำคัญ ถ้าสถานการณ์มหาวิทยาลัยไทยเป็นอย่างนี้ ประเทศไทยของเราจะมีโอกาสเดินทางไปถึงเป้าหมาย 4.0 ที่ท่านรัฐมนตรีนำมาจุดประกายความหวัง จนคนไทยคาดหวังไปตามๆ กัน…ได้หรือไม่ครับ?

“ซูม”