72 ปี กลุ่ม “เซ็นทรัล” หนึ่งในตำนาน “ห้างไทย”

ผมเป็นคนชอบดูดอกไม้สวยๆ งามๆ เวลามีข่าวว่า ห้างโน้นห้างนี้จัดงานดอกไม้ประเภทไม้ดอกไม้ประดับ ตกแต่งด้วยดอกไม้ทั้งห้าง ผมจะแวะไปดูอยู่เสมอ…ดูไปถ่ายรูปเซลฟี่ไปตามประสาคนมีดอกไม้อยู่ในหัวใจว่างั้นเถอะ

เมื่ออ่านข่าวพบว่าห้าง เซ็นทรัล จะจัดงานฉลองครบ 72 ปี ด้วยการตกแต่งห้างเซ็นทรัลชิดลมด้วยดอกไม้อีกครั้งหนึ่ง ผมจึงตั้งใจว่าจะต้องหาโอกาสไปถ่ายรูปกับดอกไม้ที่ว่านี้ให้จงได้

เอาเข้าจริงๆ งานเขาเลิกเร็วกว่าที่ผมคิด คือมีแค่วันที่ 7 พ.ย. ถึง 12 พ.ย.เท่านั้น ซึ่งตรงกับช่วงที่ผมมีภารกิจอะไรหลายๆ อย่าง ก็เลยชวดไปเชยชมดอกไม้ฉลอง 72 ปี เซ็นทรัลอย่างน่าเสียดาย

ถึงแม้จะไม่มีโอกาสไปชื่นชมดอกไม้ฉลอง 72 ปี แต่ผมก็ยังมีความประสงค์ที่จะเขียนถึงห้าง เซ็นทรัล อยู่ดีแหละครับ เพราะการที่บริษัทใดบริษัทหนึ่งสามารถประกอบธุรกิจยืนยงมาได้ถึง 72 ปี และก็เป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงด้วยนั้น เป็นเหตุผลสำคัญที่ควรจะเขียนถึงอยู่แล้ว

ถ้าจำไม่ผิดเมื่อตอนเซ็นทรัลครบ 50 ปี หรือ 60 ปีอะไรสักอย่างหนึ่ง ผมก็เคยเขียนแสดงความยินดีเอาไว้เช่นกัน

ในฐานะเป็นคนรุ่นเดียวกัน ได้เห็นความเจริญเติบโตของเซ็นทรัล ถ้านับจากปี 2501 ที่ผมเข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรกและไปเดินห้างเซ็นทรัลที่สร้างใหม่ ที่ วังบูรพา มาจนถึงบัดนี้ก็ 61 ปีเข้าไปแล้ว

ใครจะไปคิดว่าห้างเซ็นทรัลแม้จะถือว่าใหญ่พอสมควรใน พ.ศ.นั้น แต่ก็ไม่ถึงกับมโหฬารอะไรมากนัก จะสามารถพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นห้างที่ใหญ่ที่สุดอย่างทุกวันนี้

ส่งผลให้ในการประกาศรายชื่อมหาเศรษฐีที่รวยที่สุด 50 คนในประเทศไทยของ นิตยสารฟอร์บส์ เมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่า ตระกูลหรือครอบครัว “จิราธิวัฒน์” ซึ่งเป็นเจ้าของเซ็นทรัล มีทรัพย์สินสูงถึง 21,200 ล้านเหรียญ หรือกว่า 6 แสนล้านบาท เป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย

แพ้ตระกูล “เจียรวนนท์” ที่มีทรัพย์สินรวมกัน 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 9 แสนกว่าล้านบาท เพียงตระกูลเดียวเท่านั้น

ในปูมประวัติของเซ็นทรัลระบุไว้ว่า คุณนี่เตียง แซ่เจ็ง หรือ เตียง จิราธิวัฒน์ โยกย้ายร้านชำจากย่านบางขุนเทียนมาอยู่ที่อาคารครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 ชั้น ขนาด 1 คูหาที่ปากตรอกกัปตันบุช (ปัจจุบันซอยเจริญกรุง 30) ย่านสี่พระยา เมื่อปี 2490

หันมาขายเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า เครื่องสำอาง ฯลฯ รวมทั้งหนังสือต่างประเทศด้วย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการค้ายุคใหม่ของเซ็นทรัล

ในส่วนของหนังสือหรือนิตยสารต่างประเทศนั้น เล่ากันว่า แรกๆ จะเป็นหนังสือเก่าที่นักท่องเที่ยวที่มาพักโรงแรมโอเรียนเต็ล หอบมาอ่านในเมืองไทยแล้วขี้เกียจขนกลับ ทิ้งเป็นเศษกระดาษอยู่ที่โรงแรม

คุณเตียงก็ไปขอซื้อหนังสือและนิตยสารต่างประเทศที่ว่านี้ในราคาถูกๆ มาขายต่อ ปรากฏว่าขายดีเพราะช่วงนั้นเริ่มมีคนไทยไปเรียนต่างประเทศกันมากขึ้น อยากอ่านนิตยสารดังๆ ของเมืองนอก แต่ไม่มีขายก็ไปหาซื้อของเก่าอ่านที่ร้านคุณเตียง

คุณเตียงเห็นว่ามีตลาดรองรับก็เลยสั่งของใหม่ๆ มาขายเสียด้วยเลยในตอนหลัง และกลายเป็นประเพณีของเซ็นทรัลที่จะต้องมีการขายหนังสือต่างประเทศในห้างควบคู่ไปด้วยมาโดยตลอด

จากปี 2490 อีก 10 ปีให้หลัง หรือ พ.ศ.2500 คุณเตียงและลูกชาย สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ก็ขยายกิจการไปเปิดห้างเซ็นทรัลที่วังบูรพาดังกล่าว

จากนั้นก็เกิด เซ็นทรัล ราชประสงค์ เมื่อปี 2507 เซ็นทรัล สีลม 2511 และ เซ็นทรัล ชิดลม 2516 จนมาถึงปี 2526 ก็ไปเปิด เซ็นทรัลลาดพร้าว ถือเป็นห้างที่ดังที่สุด และใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

มีโรงแรมชั้นหนึ่งอยู่ข้างๆ และมีห้องประชุมขนาดใหญ่ที่สามารถจัดการประชุมระดับนานาชาติ และใช้แสดงคอนเสิร์ตได้เป็นอย่างดี…ได้แก่ บางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ นั่นเอง

ซึ่งเป็นทั้ง “โชคลาภ” และ “ทุกขลาภ” ของเซ็นทรัลอยู่พักใหญ่ๆ เลยทีเดียว สำหรับห้องประชุมยักษ์แห่งนี้

แล้วกัน ว่าจะเขียนวันเดียวจบ แต่คงไม่จบเสียแล้ว เพราะเผลอไปใช้คำว่า “ตำนาน” เข้า…ก็คงต้องตำกันนานๆ  ขอต่อพรุ่งนี้อีกวันนะครับ.

“ซูม”