มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เปิดเบื้องหลังความงดงาม และยิ่งใหญ่ของประติมากรรม และฉากประกอบการแสดงโขน ตอน สืบมรรคา

ก่อนเริ่มการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ๒๕๖๒ ตอน “สืบมรรคา”  มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เปิดเบื้องหลังการสร้างสรรค์ฉากสุดวิจิตร และประติมากรรมอันงดงามที่จะใช้ประกอบการแสดง

อาทิ ฉากพระที่นั่งจักรวรรดิ์ไพชยนต์ ที่จำลองขึ้นตามข้อมูลสันนิษฐานสมัยพระเจ้าปราสาททอง, ตำหนักนางสีดา ในสวนขวัญกรุงลงกา, ประติมากรรมร่างหนุมานขนาด ๑๕ เมตร และประติมากรรมนางผีเสื้อสมุทรความสูง ๕.๕๐ เมตร เป็นต้น

โดยมีอาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรมไทย เป็นผู้ออกแบบและจัดสร้างฉากการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตลอดระยะเวลากว่า ๑๐ ปี บอกเล่าแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ฉากสุดอลังการที่เป็นไฮไลท์ของแต่ละตอน รวมทั้งชมความวิจิตรงดงามของเครื่องโขน ทั้งพัสตราภรณ์ (เครื่องแต่งกายโขน) ศิราภรณ์ (เครื่องประดับศีรษะ) และถนิมพิมพาภรณ์ (เครื่องประดับตกแต่ง) ที่ได้จัดสร้างขึ้นใหม่สำหรับการแสดงโขนครั้งนี้ อาทิ หัวโขนทศกัณฐ์หน้าสีทอง ผ้าสไบนางอังกาศตไล เป็นต้น

อาจารย์สุดสาคร ชายเสม ผู้ออกแบบและสร้างฉาก การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ๒๕๖๒ เปิดเผยความอลังการและวิจิตรตระการตาของฉากสำคัญในการแสดงโขน ตอน “สืบมรรคา” หรือหนทางสู่กรุงลงกา ซึ่งน่าติดตามทั้งการนำเสนอเรื่องราว การดำเนินเรื่อง รวมทั้งฉาก การใช้เทคนิคสมัยใหม่เข้ามาทำให้การแสดงมีความเหมือนจริงตามจินตนาการมากขึ้น เช่น  ฉากหนุมานเนรมิตกายให้ใหญ่โตเพื่อข้ามแม่น้ำ เอาหางพาดเป็นสะพาน เพื่อให้กองทัพวานรได้ไต่ข้ามแม่น้ำ ประติมากรรมร่างหนุมานจะมีขนาดใหญ่มหึมา ๑๕ เมตร มีมิติเหมือนหมุมานจริง มีขาแขนเคลื่อนไหว ยืดหด กลอกตาได้

อีกหนึ่งฉากที่ถือเป็นไฮไลต์สำคัญคือ เมื่อหนุมานพบพญานกสัมพาที ได้พากันออกไปในทะเลหลวงก่อนถึงกรุงลงกา ได้เจอนางผีเสื้อสมุทรรูปร่างสูงใหญ่ ในฉากนี้จะมีการสร้างผีเสื้อสมุทรผสมผสานกับการใช้กลไกทำให้หนุมานสามารถเข้าไปในท้องของนางผีเสื้อสมุทร และสามารถแหวกท้องออกมาได้ ถือเป็นประติมากรรมที่ต้องใช้เทคนิคพิเศษสมัยใหม่ วัสดุที่มีน้ำหนักเบามาใช้แทนโลหะเคลื่อนย้ายง่าย และนำกลไกมาใช้ทำให้รูปปั้นดูเหมือนมีชีวิตจริงมากขึ้น และถูกต้องตามจินตนาการของบทพระราชนิพนธ์

นอกจากประติมากรรมต่าง ๆ แล้ว  อาจารย์สุดสาครยังออกแบบฉากที่เป็นงานจิตรกรรมอันงดงาม ส่งแบบต่อให้อาจารย์วิชัย รักชาติ สาขาจิตรกรรมไทยของวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เป็นผู้รับผิดชอบนำนักศึกษาสาขาจิตรกรรมไทย มาร่วมวาดภาพจิตรกรรมที่น่าสนใจ อาทิ สวนขวัญ ณ กรุงลงกา

“ฉากสวนขวัญต้องทำให้ดี เพราะเป็นฉากที่ทศกัณฐ์ต้องลงไปเกี้ยวนางสีดา โดยได้ภาพชั้นครูของเจ้ากรมอ่อน ศิลปินรุ่นเก่าที่วาดไว้ในรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเขียนไว้ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ นำมาเป็นแหล่งอ้างอิงมาวาดเป็นฉากขนาดใหญ่ สูง ๑๐ เมตรยาว ๒๐ เมตร มีส่วนประกอบคือ ศาลาในสวนขวัญที่ทศกัณฐ์เข้าไปเกี้ยวนางสีดา พร้อมทั้งมีต้นอโศกที่สีดาใช้ผูกพระศอ ต้นอโศกใหญ่ต้องแข็งแรง เพราะเป็นต้นไม้ ที่หนุมานปีนขึ้นไปแก้เชือกออกจากพระศอนางสีดา จึงไม่ใช่แค่ศิลปกรรมอย่างเดียว แต่รวมไปถึงความเป็นธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ภูเขา หินผา สัตว์ ต้องใช้ความรู้ผสานเข้ากับจินตนาการอย่างมาก หรือฉากท้อง พระโรงในกรุงลงกา มีทั้งคชสีห์ ราชสีห์ ช้างเอราวัณสามเศียรตัวใหญ่มาก ผมก็ต้องออกแบบและลงมือปั้นเองด้วย รวมทั้งมีบรรดาช่างฝีมือที่เกาะเกิดช่วยด้วย”

ยังมีความพิเศษอื่นๆ ที่น่าจับตาชมคือ เครื่องแต่งกายของตัวละครที่แปลกตากว่าตอนอื่นๆ เช่น ทศกัณฐ์สวมศรีษะโขนหน้าทอง มีผ้าคล้องไหล่ พวงมาลัยคล้องพระกรขวา และพัดด้ามจิ้วจันทน์ที่ใช้สะบัดประกอบท่ารำ โดยหัวโขนทศกัณฐ์หน้าสีทอง ถือเป็นหัวโขนที่เป็นศิลปวัตถุชิ้นเยี่ยม แสดงให้เห็นถึงทศกัณฐ์ที่อารมณ์ดี หน้าตาผ่องใส  พร้อมแต่งองค์ทรงเครื่องให้สะดุดตา เพื่อเตรียมตัวไปเกี้ยวพาราสีนางสีดาโดยเฉพาะ, ผ้าสไบนางอังกาศตไล ซึ่งผ้าผืนนี้ได้จัดทำขึ้นมาใหม่ ร่วมระดมฝีมือจากสมาชิกศูนย์ศิลปาชีพสีบัวทอง จ.อ่างทอง และสมาชิกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ปักเป็นลวดลายสำหรับนางยักษ์ คือลายพุ่มหน้ากาลก้านแย่ง ออกแบบโดยอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย

รวมถึงเครื่องแต่งกายของ นกสัมพาที ที่ออกแบบเป็นสองชุดด้วยกัน ได้แก่ ชุดที่นกสัมพาทีถูกสาบให้หัวโล้นและขนร่วงหมดทั้งตัว และอีกชุดต้องปักดิ้นปักเลื่อมขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพราะหลังจากพบหนุมานแล้ว นกสัมพาทีก็กลับมีขนงดงามดังเดิมนั่นเอง

สำหรับอาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน ณ ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด ถือเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวของศิลปะการแสดงโขน และผลงานสร้างสรรค์งานศิลปะที่เนื่องด้วยโขนศิลปาชีพ ตลอดจนจัดเก็บฉากและนำอุปกรณ์ประกอบฉากชิ้นเด่นจำนวนมากที่เคยปรากฏโฉมบนเวทีแสดงโขนศิลปาชีพตอนต่างๆ อาทิ หนุมานอมพลับพลาในการแสดงตอนศึกไมยราพ เรือสำเภาหลวงในการแสดงตอนพิเภกสวามิภักดิ์ มาจัดแสดงด้วยเทคนิคที่ทันสมัยน่าตื่นตาตื่นใจ โดยเปิดให้ประชาชนเข้าชม ตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ๒๕๖๒ ตอน “สืบมรรคา” จะเปิดการแสดงระหว่างวันที่ ๖ พฤศจิกายน ถึง ๕ ธันวาคม ๒๕๖๒ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือ www.thaiticketmajor.com หรือสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวทั้งหมดได้ทางเว็บไซต์ www.khonperformance.com และ เฟซบุ๊ก Khon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ