จักรพรรดิญี่ปุ่นเลื่อนพิธีฉลอง ร่วมทุกข์ประชาชนหลังไต้ฝุ่น

วันพรุ่งนี้อังคารที่ 22 ตุลาคม จะเป็นวันแรกของการเริ่มต้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ จักรพรรดิพระองค์ใหม่ของญี่ปุ่น ที่ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ปี 2562 เป็นต้นมา

ภายหลังจากพระราชบิดา ฮากิฮิโตะ ทรงประกาศสละราชบัลลังก์ ในเดือนเมษายน

ได้มีพระราชพิธีรับตำแหน่งจักรพรรดิไปแล้ว แต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะเริ่มขึ้นในวันพรุ่งนี้ โดยในช่วงเช้า จะเป็นพิธีเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรโดยเชื้อพระวงศ์และผู้นำจากประเทศต่างๆ ประมาณ 190 ประเทศ

ตามหมายกำหนดการเดิมนั้น ในช่วงบ่าย จะเสด็จฯ ไปตามถนนต่างๆ ในกรุงโตเกียวเพื่อให้ประชาชนชื่นชมพระบารมีอย่างใกล้ชิดโดยจะประทับรถยนต์พระที่นั่งเปิดประทุน อยู่ในขบวนเสด็จดังกล่าว

แต่เมื่อเกิดเหตุไต้ฝุ่น “ฮากิบิส” ถล่มญี่ปุ่น ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 77 ศพ และยังสูญหายอีก 10 กว่าราย รวมทั้งประชาชนทั่วประเทศหลายล้านคน ที่ต้องสูญเสียบ้านเรือน เรือกสวนไร่นา ตลอดจนสถานที่ราชการและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ นำความเศร้าสลดใจอย่างใหญ่หลวงมาสู่ชาวญี่ปุ่น

พระจักรพรรดินารุฮิโตะ หลังจากทรงปรึกษากับรัฐบาลแล้ว ก็มีพระราชวินิจฉัยให้เลื่อนการแห่ขบวนเสด็จ เพื่อทรงพบปะเยี่ยมเยือนประชาชนออกไปเป็นวันที่ 10 พฤศจิกายน ดังที่มีแถลงการณ์ของรัฐบาลออกมาล่าสุด

ในขณะที่พระราชพิธีภาคเช้า ซึ่งจะเป็นพระราชพิธีภายในวังจะยังคงดำเนินต่อไป

เสียดายที่ผมมีกำหนดกลับประเทศไทยในวันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม ทำให้พลาดโอกาสที่จะได้อยู่ในช่วงเวลาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของพระองค์ท่าน

เพราะถึงแม้จะไม่มีการเสด็จฯ ไปเยี่ยมประชาชนแล้ว แต่อย่างน้อยบรรยากาศพระราชพิธีภาคเช้าที่จะมีพระบรมวงศานุวงศ์และผู้นำประเทศต่างๆ เข้าเฝ้า ก็น่าจะมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ซึ่งถ้าหากนั่งชมอยู่ที่โน่นจะได้อารมณ์ ได้ความรู้สึกดีกว่ามานั่งดูจากรายงานข่าวต่างๆ ในประเทศไทยอย่างแน่นอน

ญี่ปุ่นมีระบอบการปกครองโดยจักรพรรดิ ทรงเป็นผู้นำประเทศ มาเป็นเวลายาวนานมาก

ตามตำนานที่เล่าขานมาแต่โบราณ จักรพรรดิพระองค์แรกก็คือ จักรพรรดิ จิมมุ ซึ่งสถาปนาขึ้นเป็นผู้นำปกครองญี่ปุ่น ตั้งแต่เมื่อ 660 ปีก่อนคริสตกาลโน่นแล้ว

จากนั้นก็ได้สืบสันตติวงศ์มาโดยตลอด จนได้ชื่อว่าเป็นราชวงศ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ฉบับภาษาไทย กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “ในทางประวัติศาสตร์ บทบาทของจักรพรรดิญี่ปุ่น สลับไปมาระหว่างหน้าที่ของผู้ปกครองเชิงพิธีการ กับหน้าที่ของผู้ปกครองอย่างแท้จริง”

นับแต่มีระบอบ โชกุน เกิดขึ้นในญี่ปุ่น เมื่อ ค.ศ.1199 เป็นต้นมา โชกุน ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายทหาร จะทำหน้าที่สำเร็จราชการแทนองค์จักรพรรดิ และต่อมาในช่วง ค.ศ. 1203-1333 ก็มีระบบ ชิกเก็ง หรือผู้สำเร็จราชการแห่งรัฐบาล มาครองอำนาจแทนโชกุน ติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน

จนกระทั่งมีการปฏิรูปเมจิ เมื่อ ค.ศ.1867 โชกุน โทกูงาวะ โยชิโนบุ ได้ถวายอำนาจคืนแก่พระจักรพรรดิ ถือเป็นโชกุนองค์สุดท้าย ของญี่ปุ่น ทำให้พระจักรพรรดิทรงกลับมามีอำนาจเต็มในการปกครองญี่ปุ่นอีกครั้งหนึ่ง

ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จักรพรรดิก็กลับไปเป็นประมุข ในด้านพิธีการ อีกครั้งหนึ่ง และทรงอยู่ในฐานะสัญลักษณ์ของประเทศในปัจจุบัน

แม้จะเป็นเพียงสัญลักษณ์ แต่จักรพรรดิก็ยังเป็นที่เคารพนับถือ ของชาวญี่ปุ่น ตราบเท่าทุกวันนี้ รวมทั้งจักรพรรดิพระองค์ใหม่ นารุฮิโตะ

สื่อญี่ปุ่นรายงานว่า แม้จะเลื่อนพิธีเสด็จรอบกรุงโตเกียวออกไป แต่ชาวญี่ปุ่นก็ยังรอคอยที่จะชื่นชมพระบารมีของพระองค์ ในวันที่ 10 พฤศจิกายน อย่างใจจดใจจ่อ

เพราะตระหนักในเหตุผลที่ต้องทรงเลื่อน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ รวมทั้งพระองค์เอง ที่ยังคงเศร้าพระทัยในการสูญเสียอันใหญ่หลวง จากผลกระทบของพายุไต้ฝุ่นฮากิบิส เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา.

“ซูม”