สงครามการค้ายืดเยื้อแน่ ไทยจะเอาตัวรอดอย่างไร?

เมื่อเช้าตรู่วันพุธตามเวลาบ้านเราที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับหัวค่ำของวันอังคารที่สหรัฐอเมริกามีรายงานข่าวว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตัวแดงเถือกติดลบไปพร้อมๆ กันทั้ง 3 ตลาด

ดาวโจนส์ หล่นไป 142 จุด ปิดที่ 26,808 จุด แนสแดก หล่นไป 119 จุด ปิดที่ 7,994 จุด และเอสแอนด์พี ร่วงไป 25 จุด ปิดที่ 29.67 จุด

สาเหตุหลักก็มาจากสุนทรพจน์ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 74 ของประธานาธิบดีจอมป่วน โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ใช้เวทีนี้เล่นงานทั้งจีนและอิหร่านด้วยถ้อยคำที่แข็งกร้าวนั่นแหละครับ

คุณทรัมป์ลุกขึ้นมาอัดจีนด้วยประเด็นเดิมๆ ว่าจีนเอาเปรียบสหรัฐฯ มาตลอด ผู้นำสหรัฐฯ ยุคก่อนๆหลงกลจนถลำลึก แต่สําหรับเขาจะไม่มีวันยินยอมเด็ดขาด พร้อมกับประกาศก้องว่า “ผมจะไม่มีวันยอมรับข้อตกลงที่จะนำความเสียหายมาสู่คนอเมริกัน”

ทรัมป์กล่าวหาจีนด้วยว่าใช้นโยบายของภาครัฐเข้าไปอุดหนุนภาคเอกชนในการค้ามีการปั่นค่าเงิน มีการทุ่มตลาด รวมไปถึงขโมยทรัพย์สินทางปัญญาและความลับทางการค้า ฯลฯ

ที่น่าห่วงก็คือการกล่าวหาอย่างรุนแรงและเปิดเผยต่อหน้าผู้นำประชาคมโลกคราวนี้เกิดขึ้นก่อนการเจรจายกใหม่ สำหรับสินค้ามูลค่า 250,000 ล้านดอลลาร์จากจีนในอีกไม่กี่วัน

นักวิเคราะห์เขาก็เลยฟันธงกันว่าน่าจะมีผลกระทบต่อการเจรจาอย่างแน่นอน และโอกาสที่สงครามการค้าจะยืดเยื้อจนฉุดภาวะเศรษฐกิจโลกให้ชะลอตัวจึงยากที่จะหลีกเลี่ยง

ผมเองที่เคยมีความหวัง เพราะจำได้ว่าเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน คุณทรัมป์แกดูจะอ่อนๆ ลงไป แต่ที่ไหนได้มาถึงวันนี้กลับแข็งขึ้นมาซะอีกแล้ว

แม้จะมีข่าวให้โลกดีใจว่าสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯกำลังจะเริ่มถอดถอนคุณทรัมป์ออกจากตำแหน่ง…แต่ก็ไม่ใช่จะทำกันได้ง่ายๆ เพราะกระบวนการค่อนข้างยาว และก็ไม่แน่ว่าจะถอดถอนได้หรือเปล่า

จะไปปฏิวัติรัฐประหารขับไล่คุณทรัมป์แบบประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลาย ทหารอเมริกันเขาก็ไม่ทำ และไม่เคยคิดแม้แต่จะทำด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้นก็คงต้องทนดูประธานาธิบดีทรัมป์ท่านเขย่าโลกต่อไปจนกว่าจะหมดสมัยหรือครบเทอมสิ้นปี 2020 นั่นแหละครับ

นอกจากข่าวร้ายอันเนื่องมาจากคุณทรัมป์แล้ว เมื่อมองไปรอบๆ โลกก็จะพบแต่รายงานข่าวร้ายในทางเศรษฐกิจทุกแห่งทุกที่ โดยเฉพาะในยุโรป ซึ่งก็มีหลายๆ ปัญหา และล่าสุดเศรษฐกิจของยูโรโซน ก็ส่งสัญญาณที่ชัดเจนแล้วว่าดัชนีด้านการผลิตต่างๆ เริ่มอ่อนตัวลง

ถ้าแนวรบทางเศรษฐกิจทั่วโลกเป็นอย่างนี้หมดละก็ ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะมาถึงไทยจึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง

การแจกเงินการใช้นโยบายชิมช้อปใช้ ที่ดูเหมือนประสบความสำเร็จอย่างดีผู้คนชื่นชอบมาก แต่จะกระตุ้นได้สักกี่มากน้อยก็ยังไม่รู้

ถึงกระตุ้นได้ก็ไม่จีรังไม่ถาวร…เหมือนกับเวลาเราอ่อนเปลี้ยเพลียแรงซดเครื่องดื่มชูกำลังไปสักขวดสองขวด อาจจะทำให้กระปรี้กระเปร่าขึ้น แต่ก็แค่ประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้น

เพราะวิธีแก้ความอ่อนเปลี้ยเพลียแรงที่แท้จริงนั้นจะต้องนอนให้พอ กินให้ถูกลักษณะ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ฯลฯ

ฉันใดก็ฉันนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีลดแลกแจกแถมก็เหมือนกินเครื่องดื่มชูกำลังอย่างที่ว่าไม่พอเพียงที่จะทำให้เศรษฐกิจของชาติแข็งแรงแน่นอน ต้องมีมาตรการหลักๆ ตามมาอีกเยอะ

ที่น่าเป็นห่วงก็คือมาตรการใหญ่ๆ ใช้เงินมากๆ ลงทุนสูงๆ เราก็ใช้มาเต็มแม็กตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งก็อย่างที่ทราบยังไม่เกิดประโยชน์โพดผลอะไรมากนัก

จะมีอะไรเหลือสำหรับแม็กใหม่ๆ หรือไม่ ก็คงต้องตามดูกันต่อไป

ผมกราบเรียนแล้วว่าผมให้กำลังใจทีมงานเศรษฐกิจชุดนี้ อาจติงอาจเตือนอะไรบ้างก็ด้วยความห่วงใยจากใจจริง เพราะถ้าท่านแพ้สงครามก็เท่ากับประเทศไทยและคนไทยทุกคนพ่ายแพ้ด้วย

ที่สำคัญปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมันก็ซับซ้อนกว่าสมัยก่อนๆ คงเอาชนะกันไม่ได้ง่ายๆ ดังที่ผมเคยเรียนท่านไว้แล้ว

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องสู้กันต่อไป เมื่อ 2 วันก่อนผมอ่านข้อแนะนำของ “ดร.โกร่ง” วีรพงษ์ รามางกูร ในหน้าเศรษฐกิจไทยรัฐ ผมว่ามีอะไรแหลมคมเยอะเชียว

ลองเอาไปต่อยอด เอาไปขยายความบ้างก็ดีนะครับ…ดร.โกร่งท่านคงไม่หวงวิชาหรอกน่า.

“ซูม”