เพิ่งรู้ว่า “เอสโตเนีย” คือสุดยอดประเทศไฮเทค

ผมเล่าเรื่องฟินแลนด์ไปหลายวันแล้ว (ด้วยความประทับใจ) และยังมีเรื่องอยากเล่าเกี่ยวกับประเทศนี้อีกมาก แต่ก็ขอจบไว้เพียงเท่านี้แหละ เพราะการเล่าซ้ำประเทศเดียวหลายๆ วัน เขาว่าจะทำให้คนอ่านเบื่อซะก่อน

เพราะฉะนั้นวันนี้ผมขอนำท่านผู้อ่านลงเรือข้ามอ่าวฟินแลนด์ในทะเลบอลติก ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ไปที่เมืองทาลลินน์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศเอสโตเนีย ที่อยู่คนละฝั่งอ่าวกับฟินแลนด์นั่นเอง

เรื่องความสวยงาม ความเก่าแก่ ความน่าเดิน น่าเที่ยว น่าถ่ายรูป ของเมืองทาลลินน์ ผมขอเก็บไว้เขียนถึงในคอลัมน์ซอกแซก ซึ่งคงจะเขียนถึงความสวยความงามและความสนุกสนานของหลายๆ เมืองที่ผมมีโอกาสไปเยี่ยมเที่ยวนี้อีกหลายสัปดาห์ละครับกว่าจะจบ

สำหรับวันนี้ขอพูดถึง เอสโตเนีย และ เมืองทาลลินน์ ในมิติที่เป็นสาระความรู้ ซึ่งมีหลายๆ เรื่องที่น่ารู้ แต่ผมไม่รู้มาก่อนเลย ดังนั้นเมื่อรู้แล้วก็ขอถือโอกาสนี้ถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านรับรู้ไว้ด้วย เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่ท่านบ้าง ไม่มากก็น้อย

เอสโตเนีย เป็นประเทศเล็กๆ มีพื้นที่แค่ 45,222 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรประมาณ 1.3 ล้านคน เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต และแยกตัวออกมาเป็นประเทศใหม่เมื่อ พ.ศ.2534 ภายหลังโซเวียตล่มสลาย

เมื่อวันที่ได้รับอิสรภาพเมื่อ 28 ปีที่แล้ว ทั้งประเทศเอสโตเนียมีโทรศัพท์ใช้เฉพาะตามบ้านของผู้คนที่พอมีรายได้เท่านั้น และใช้พูดติดต่อกันได้ภายในประเทศเท่านั้นเอง

หากจะพูดข้ามประเทศต้องไปอาศัยโทรศัพท์กึ่งวิทยุ ซึ่งมีอยู่ 2 เครื่องที่กระทรวงการต่างประเทศของเอสโตเนีย

แต่วันนี้ เอสโตเนียกลายเป็นประเทศทันสมัยไฮเทค มีระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก

เมื่อปี 2007 หรือ พ.ศ.2554 เอสโตเนียกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่ให้ประชาชนลงคะแนนเสียงการเลือกตั้งในระบบออนไลน์ โดยไม่ต้องออกจากบ้านไปคูหาเลือกตั้งเลย

ทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือกลายเป็นกระเป๋าสตางค์เคลื่อนที่ของคนเอสโตเนีย 1.3 ล้านคนไปเรียบร้อย เพราะสามารถจะจ่ายค่าจอดรถด้วยโทรศัพท์มือถือได้ในที่จอดรถทุกแห่ง

ขณะเดียวกันก็จะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ หรือรายละเอียดเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยและประวัติการรักษาของคนเอสโตเนียทุกคนไว้ในระบบดิจิทัล ที่สามารถจะดึงมาใช้งานได้โดยไม่ยากลำบากด้วยมือถือ

ที่สำคัญร้อยละ 95 ของประชากรเอสโตเนียจ่ายภาษีและขอภาษีคืนด้วยโทรศัพท์มือถือ ซึ่งสามารถจะได้คืนภายใน 5 นาที ฯลฯ

ทั้งหมดนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1992 หรือ พ.ศ.2537 หลังได้รับเอกราชเพียง 3 ปี เมื่อรัฐบาลใหม่ของประเทศที่ประกอบด้วยคณะ “รัฐบาลหนุ่ม” (อายุเฉลี่ยทั้งรัฐบาล 35 ปีเท่านั้น) ได้ตัดสินใจที่จะเดินหน้าพัฒนาประเทศด้วยระบบไอที หรือเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเต็มตัว

รัฐบาลชุดนั้นทั้งชุดมอบความเชื่อมั่นให้แก่ “อินเตอร์เน็ต”

6 ปีต่อมา ทุกห้องเรียนของโรงเรียนในเอสโตเนียติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์และใช้ระบบออนไลน์เชื่อมกันอย่างทั่วถึงครบถ้วน และใน ค.ศ.2000 ที่โลกหวั่นกันว่าระบบคอมพิวเตอร์ของโลกอาจจะสะดุด แต่ที่เอสโตเนียกับเป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศให้ “อินเตอร์เน็ต” เป็นสิทธิมนุษยชนอีกประการหนึ่งของชนชาวเอสโตเนีย

ผู้ที่จุดประกายว่า “เอสโตเนีย” เป็นสุดยอดประเทศไฮเทคให้แก่ผมก็คือ ท่านเอกอัครราชทูต นพพร อัจฉริยวนิช ซึ่งนอกจากจะดำรงตำแหน่ง เอกอัครราชทูตไทยประจำฟินแลนด์แล้ว ยังรับผิดชอบเอสโตเนียด้วยอีกหนึ่งประเทศ

ท่านทูตเล่าถึงความเป็นประเทศสุดยอดไอทีของเอสโตเนียในวันบรรยายสรุปให้พวกเราฟังวันแรก และยังแจ้งข่าวด้วยว่าผู้เชี่ยวชาญของเอสโตเนียนี่แหละที่จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ (แบบได้เงินด้วย) ในการจัดระบบ E-government ให้แก่รัฐบาลไทย

ขณะฟังท่านทูตบรรยายผมยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เพราะเป็นคนโลว์เทคมาก และไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อน เมื่อพูดถึงประเทศไฮเทค ผมก็นึกไปถึงโน่น…สหรัฐฯ อังกฤษ เยอรมนี หรือล่าสุดก็คือจีน ไม่เคยนึกถึงเอสโตเนียแม้แต่น้อย

จนกระทั่งกลับมาบ้าน ค้นกูเกิลอ่านบทความและอ่านข่าวเกือบๆ 100 ข่าวเกี่ยวกับประเทศนี้ ถึงได้เชื่อสนิท และเห็นด้วยกับรัฐบาลไทยที่ท่านทูตเล่าว่า มอบหมายให้เอสโตเนียมาเป็นที่ปรึกษาในการสร้างระบบ E–government ของไทยแลนด์เรา.

“ซูม”