“นางนาก” ซึ่งจะนำกลับมาฉายอีกครั้งเนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี

นาก หญิงสาวแห่งพระโขนง ต้องจำจากอาลัย มาก ผัวรักที่ต้องไปรบในพระนคร นางมิอาจรู้ว่าการบอกลาครั้งนั้นจะเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อนากสิ้นลมขณะคลอด แดง ก่อนที่มากจะกลับมา

วิญญาณของนากจึงเฝ้ารอมากทุกวันหวังว่าจะได้อยู่ร่วมกันพร้อมหน้าเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ แม้มันเป็นเพียงแค่ชั่วเวลาไม่กี่วันก็ตามที แต่ด้วยความเป็นห่วงของชาวบ้านที่มากจะต้องอยู่ร่วมชายคากับผีทำให้นากออกอาละวาดทุกคนที่พยายามพลัดพรากคนรักจากนางไป

นี่เป็นผลงานลำดับที่สองของ นนทรีย์ นิมิบุตร หลังจากความสำเร็จของ ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ โดยเป็นการกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งของสามขุนพลผู้ช่วยกันพาให้หนังเรื่องแรกประสบความสำเร็จมาด้วยกัน คือ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ในฐานะคนเขียนบท และ เอก เอี่ยมชื่น ผู้ออกแบบงานสร้าง

เพื่อสร้างการรับรู้ใหม่ให้กับตำนานแม่นาค อันมีภาพจำอันแข็งแกร่งต่อคนไทยมานับร้อยปี แต่ที่ไปไกลกว่านั้นคือหนังเปรียบเสมือนการสร้างตำนานบทใหม่ให้กับเรื่องเล่าสยองขวัญนี้ไปโดยปริยาย จากการทำการบ้านด้านข้อมูลอย่างหนักหน่วงเพื่อเชื่อมโยงเรื่องเล่าจากรุ่นสู่รุ่นให้ใกล้เคียงสภาพความเป็นจริงของสังคมไทย

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ให้มากที่สุด ในกระบวนการสร้างการรับรู้ใหม่ให้ตำนานแม่นาคนี้ นอกจากเปลี่ยนชื่อ “นาค” เป็น “นาก” ตามความน่าจะเป็นของยุคสมัย ยังเปลี่ยนภาพลักษณ์ภายนอกของนางนาก จากผีสาวผมยาวสวมชุดไทย มาเป็นหญิงสาวในผมทรงดอกกระทุ่ม ผิวกร้านจากการกรำแดด

ฟันดำด้วยการกินหมากที่เป็นความนิยมของคนร่วมยุคนั้นที่เชื่อว่าฟันขาวเป็นฟันของสุนัข จึงเป็นการเรียกร้องความทุ่มเทของทีมงานและนักแสดงทั้งหมดเพื่อสร้างสิ่งเหล่านี้อันผิดเพี้ยนไปจากภาพเก่าๆ ที่คนไทยคุ้นเคย
และเพื่อสร้างบรรยากาศอันขรึมขลังให้กับเรื่องราว “นางนาก”

ยังมาพร้อมพิธีกรรมและความเชื่อโบราณของคนไทย ที่ปกคลุมไปทั่วทุกอณูของภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นพิธีเกี่ยวกับคนตาย การทำคลอด และลางร้ายต่างๆ รวมไปถึงงานสร้างที่เนรมิตบ้านใหม่ขึ้นเพื่อถ่ายทำโดยเฉพาะ โดยเลือกทำเลริมน้ำอันไร้ซึ่งเสาไฟฟ้าและไม่มีถนนตัดผ่าน ต้องนั่งเรือเข้าไปยังสถานที่ถ่ายทำเท่านั้น

ก่อนที่จะทำลายบ้านหลังนั้นลง ซึ่งสอดรับกับท้องเรื่อง นนทรีย์วางแผนมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะให้คนดูจดจำอะไรจากหนัง ดังนั้นจึงมีการออกแบบอย่างละเอียดตั้งแต่บท งานสร้าง ไปจนกระทั่งการกำกับ หนึ่งในนั้นคือ ‘ท่าน้ำ’ โดยนนทรีย์เล็งเห็นว่าท่าน้ำเป็นสัญลักษณ์ของการจากลาและเฝ้ารอคนรัก

จึงมีการออกแบบให้นางนากมารอพี่มากที่ท่าน้ำทุกวันๆ นับแต่วันแรกที่แยกทางจนกระทั่งอุ้มลูกยืนเฝ้ารอการกลับมาเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ นั่นหมายความว่านางนากได้ผ่านช่วงเวลาของความตายมาแล้ว บรรยากาศที่ท่าน้ำจึงทั้งเศร้าสร้อยและชวนขนลุกไปพร้อมกัน