รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน อย่าให้เป็น “โฮปเวลล์ 2”

หนังสือพิมพ์มติชนลงข่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า ความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบข้อมูลในร่างสัญญาต่างๆ อย่างรอบคอบ

รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย วรวุฒิ มาลา กล่าวตอนหนึ่งว่า “จะต้องมีการตรวจสอบข้อสัญญาให้ชัดเจนที่สุด และทำความเข้าใจให้ตรงกันทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดการตีความในสัญญาที่แตกต่างกัน ป้องกันไม่ให้ซ้ำรอยเหมือนกรณีโฮปเวลล์”

หนังสือพิมพ์มติชนรายงานไว้ด้วยว่า ในร่างสัญญามีข้อตกลงจำนวนกว่า 100 ข้อ และมีประมาณ 10 หน้า ทำให้ใช้เวลาค่อนข้างมากในการตรวจสอบสัญญาแต่ละข้อให้ชัดเจนที่สุด

จากนั้นจะสรุปผลการเจรจาและเสนอร่างสัญญาเข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน เพื่อพิจารณาอนุมัติ

เมื่อผ่านคณะกรรมการ กพอ.ไปแล้ว จึงจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง ก่อนเซ็นสัญญากับกลุ่ม ซี.พี.ต่อไป

ที่ผมอ่านข่าวนี้แล้วหยิบมาเขียนทันทีก็เพื่อที่จะขอบคุณรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่แจ้งให้ทราบว่าได้มีการพิจารณาร่างสัญญาอย่างละเอียดรอบคอบ ชนิดดูแล้วดูอีก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนกรณีโฮปเวลล์ขึ้นมาอีกครั้งนั่นแหละครับ

ท่านที่ติดตามข้อเขียนของผมมาตลอดคงจะทราบดีว่า ผมไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ และมองว่าจะเป็นโครงการที่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนที่รัฐจะลงไปสนับสนุนถึงเกือบ 120,000 ล้านบาท

แต่ผมก็ยอมรับว่าผมอยู่ห่างจากข้อมูลและรายละเอียดของโครงการ ที่อ่านมาหาความรู้มาก็จากข่าวคราวในหนังสือพิมพ์บ้าง ตามเว็บไซต์ต่างๆ บ้าง ซึ่งอาจจะไม่ลึกซึ้งนัก

อาจจะมีอะไรที่คนนอกมองไม่เห็น แต่ผู้ใกล้ชิดมองเห็น และภาคเอกชนที่ไปร่วมประมูลต่างก็มองเห็น จึงแข่งกันประมูลอยู่หลายเจ้า จนในที่สุด ซี.พี. กับ พันธมิตร เป็นฝ่ายชนะการประมูลดังที่เป็นข่าว

แม้ผมจะยังห่วงใย แต่เมื่อหลายๆ ฝ่ายบอกว่า เป็นโครงการที่จะเป็นประโยชน์ และจะเลี้ยงตัวได้ อีกทั้งจะมีส่วนในการสนับสนุนการพัฒนาในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC ผมก็ยุติที่จะทำหน้าที่ฝ่ายค้าน

หันมาเอาใจช่วย ขอให้โครงการประสบความสำเร็จก่อเกิดประโยชน์นานาประการสมดังที่ทุกๆ ฝ่ายตั้งความหวังไว้

พอดีเมื่อวานนี้ผมเขียนเรื่องคนรวย 50 คนแรกของประเทศไทย ประจำปีนี้ที่นิตยสารฟอร์บสจัดอันดับไว้และนักธุรกิจในตระกูล ซี.พี. ได้ชื่อว่าเป็นคนรวยหมายเลขหนึ่งของประเทศ

ผมเห็นด้วยกับการจัดอันดับและได้แสดงความยินดีด้วยซ้ำ เพราะถือว่าเราอยู่ในระบบเศรษฐกิจเสรี ใครค้าขายเก่งก็มีสิทธิร่ำรวย

แต่ผมก็ฝากข้อคิดไว้ว่าทุกวันนี้ความแตกต่างของ “ช่องว่าง” รายได้มันสูงขึ้นเรื่อยๆ แม้ว่าท่านทั้งหลายจะร่ำรวยโดยชอบธรรม แต่ก็ฝากให้นึกถึงคนยากจนเอาไว้ด้วย

มีอะไรที่จะช่วยคนยากคนจนผ่านระบบการกุศล หรือมูลนิธิต่างๆ ได้ก็ช่วยๆ กันเถิด จะทำให้ความไม่พอใจเรื่องช่องว่างลดน้อยลง

พอดีอ่านข่าวว่าการรถไฟฯกำลังจะทำสัญญากับ ซี.พี. และดูสัญญาละเอียดยิบ เพราะไม่อยากเป็นโฮปเวลล์ 2

ผมก็ขอถือโอกาสนำมาออกความเห็นเพิ่มเติม ฝากผู้บริหาร ซี.พี.เอาไว้ด้วยว่ายังไงๆ ถ้าผ่อนหนักผ่อนเบาได้ก็เห็นใจรัฐบาลไทยด้วยเถิด

โฮปเวลล์น่ะเขาเป็นบริษัทฮ่องกงเจ้าของก็เป็นคนฮ่องกง เขาไม่ได้มีอะไรผูกพันกับคนไทยหรือประเทศไทยนักจะฟ้องร้องอย่างไรเราคงไม่มีสิทธิไปต่อว่าต่อขาน

แต่ ซี.พี.เป็นบริษัทไทยแท้ หากวันข้างหน้าเกิดอะไรขึ้นกับโครงการนี้ผมขอร้องไว้อย่างว่าอย่าฟ้องเรียกค่าโง่จากรัฐบาลไทยเลย

ถือว่าเจ็บก็เจ็บด้วยกัน…ผมอดห่วงไม่ได้ครับสัญญาเป็นร้อยๆ ข้อแบบนี้อาจจะมีอะไรโง่ๆ หลุดไปให้ฟ้องซักข้อ 2 ข้อ จนได้ละน่า.

“ซูม”