ออนเซนเข็นกระเป๋า “อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ”

คุณแม่บอกว่าจะพาออนเซนไปชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.๙ ค่ะ เราเดินทางมายังถนนบรรทัดทอง เลี้ยวเข้าจุฬาฯ ซอย 26 ก็ถึงที่หมาย “อุทยาน 100 ปีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” จอดรถที่ลานด้านล่างอาคาร อัตราค่าจอดรถชั่วโมงละ 15 บาทค่ะ

อุทยานอยู่ติดกับโครงการ “I’m Park” ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครบ 100 ปี โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาออกกำลังกายภายในพื้นที่

เนื้อที่กว่า 30 ไร่ของอุทยาน จากเดิมที่เป็นอาคารพาณิชย์ ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่สีเขียว ด้านล่างของอาคารก็ออกแบบมาให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำขนาดใหญ่ มีสวนซึมน้ำและบ่อหน่วงน้ำ เพื่อชะลอน้ำฝนก่อนระบายออกสู่สาธารณะภายใต้แนวคิดสร้างป่าในเมือง ภายในอุทยานมีทั้ง ลานกิจกรรมกลางแจ้ง ศูนย์การเรียนรู้ และพื้นที่อเนกประสงค์ต่างๆ

ล่าสุดอุทยาน 100 ปีจุฬาฯ ยังได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ในการประกวดโครงการสร้างเสร็จระดับใหญ่ของ World Landscape Architecture Award อีกด้วย

เมื่อจอดรถเรียบร้อย เราก็เดินไปยังชั้นบน จะมีร้าน Cafe amazon ให้บริการอยู่ ซึ่งสาขานี้ตกแต่งร้านสวยงามน่านั่งมากค่ะ โดยจุดลงทะเบียนเข้าชม “นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติในหลวง ร.๙” ตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับ Cafe amazon สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์)

เฉพาะห้องฉายวีดีทัศน์จะเปิดให้เข้าเป็นรอบ ดังนี้ 12:30 น., 13:39 น., 15:40 น., 14:30 น., 16:30 น., 17:30 น. ทั้งนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเข้าชมค่ะ

ระหว่างรอเวลาเข้าชม เราก็ไปห้อง “สืบสานพระราชกรณีย์” ห้องสมุดดิจิตอลด้านหลังจุดลงทะเบียน ซึ่งสามารถใช้คอมพิวเตอร์ภายในห้องนี้เพื่อสืบค้นข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับในหลวง ร.9 โดยมีการติดตั้งโปรแกรมเอาไว้เรียบร้อย แยกเป็นหมวดหมู่ที่ค้นหาได้ง่ายค่ะ

เมื่อถึงเวลา เจ้าหน้าที่ก็จะมาตามให้ไปเข้าชมนิทรรศการ โดยเริ่มอธิบายเกี่ยวกับโครงสร้างของอาคารให้ฟังก่อน ซึ่งจะเห็นว่าอาคารนี้ถูกออกแบบมาให้สอดคล้องกับโครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริของในหลวง ร.9

ถัดไปเป็นห้อง “สถิตในใจราษฎร์” ซึ่งมีจอภาพขนาดใหญ่มุมกว้าง 180 องศา ฉายวีดีทัศน์โดยใช้เทคโนโลยี 4D Virtual Mapping เจ้าหน้าที่จะปล่อยให้เราชมตามอัธยาศัย

วีดีทัศน์พระราชประวัติ พระอัจฉริยะภาพ พระราชกรณียกิจ และโครงการพระราชดำริต่างๆ ของในหลวง ร.9 ฉายแบบไม่มีเสียงบรรยาย แต่เคล้าด้วยเสียงเพลงต่างๆ เป็นห้องฉายแบบ 4D คือมีทั้งลมและฝนโปรยปรายจริงๆ ตามท้องเรื่อง

ออนเซนชอบฉากทำฝนหลวงมากค่ะ มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย ทำไมฝนถึงตก เครื่องบินทำน้ำฝนได้อย่างไร  แม่ก็ตอบให้ฟังแบบคร่าวๆ ก่อนเพราะเห็นว่ายังเล็ก

หลังจากชมวีดีทัศน์จนจบ เราก็ไปยังห้อง “บรมราชปรีชาญาณ” ซึ่งใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดียต่างๆ เพื่ออธิบายโครงการในพระราชดำริให้ประชาชนได้เข้าถึงและเข้าใจโดยง่าย เริ่มจากพระราชประวัติที่เกี่ยวข้องกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โซน VR เรียนรู้โครงการในพระราชดำริ ใครสนใจเรื่องใดก็ใช้รีโมทสั่งการได้เลย

โซน ส.ค.ส.พระราชทาน เมื่อนำไปสแกนจะเห็นเป็นพระบรมราโชวาทประจำปีต่างๆ

เรียนรู้ไร่นาสวนผสมจากเกมส์เลี้ยงปลา ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง

หญ้าแฝกมีคุณอย่างไร เรียนรู้ได้โดยใช้นิ้วมือระบายบนจอและอ่านด้วยความรวดเร็วค่ะ

มาทำฝนหลวงกันเถอะ ด้วยทั้ง 2 มือของเรา โบกไปมาตามคำสั่งในจอใหญ่

ปิดท้ายด้วยการคิดค้นไบโอดีเซล พลังงานรักษ์โลก ออนเซนติดใจเกมส์ไร่นาสวนผสมมากค่ะ ขอเล่นซ้ำอีกรอบ

จากนั้นเราก็ไปเดินเล่นในสวนกันค่ะ สนามหญ้ากว้างมาก มีทางเดินลาดที่ใช้รถเข็นได้สบายๆ ตรงลานด้านข้างบ่อหน่วงน้ำ สามารถนำโรลเลอร์เบลดมาเล่นได้ค่ะ ด้านหน้าอุทยานมีสนามเด็กเล่นอยู่ มีทั้งสไลเดอร์ ม้าโยก และบ่อทราย ใครจะเดินออกกำลังกายก็ได้เพราะมีสวนกังหันน้ำสวยๆ อีกด้วย บางบ้านพาเด็กมาวิ่งเล่นในสนาม พร้อมของเล่นและอุปกรณ์ปิกนิก เพลินเลยค่ะ ส่วนนักปั่นก็มีเลนจักรยานรองรับรอบอุทยานค่ะ ดีใจจังที่จุฬาฯ สร้างพื้นที่สีเขียวแบบนี้

จากการชมนิทรรศการครั้งนี้ ออนเซนรู้จักและจดจำเจ้านายได้หลายพระองค์มากขึ้น ได้เห็นพระราชกรณียกิจต่างๆ ที่เป็นคุณต่อราษฎรและแผ่นดินไทยของเรา และพูดได้เต็มปากว่า “เรารักในหลวง”

ออนเซนเข็นกระเป๋า