จะเป็นหุ้นส่วนกับ “มังกร” ต้อง “ระวัง” และ “รอบคอบ”

การประชุมผู้นำประเทศในเส้นทางสายไหมใหม่ หรือ New Silk Road ครั้งที่ 2 ที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าภาพที่กรุงปักกิ่งผ่านไปหลายวันแล้ว และบรรดาผู้นำของประเทศ 36 ประเทศ ที่ไปร่วมประชุมต่างก็เดินทางกลับภูมิลำเนากันหมดแล้ว รวมทั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย

จากข่าวและภาพของทุกสำนักข่าวทำให้ทราบว่าท่านนายกฯ ของเราและคณะมีโอกาสได้ประชุมแบบทวิภาคีกับ ท่านประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และคณะ ด้วยบรรยากาศที่ชื่นมื่นอย่างยิ่ง

โฆษกของฝ่ายไทยเราแถลงแก่ผู้สื่อข่าวว่า ในการหารือครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างย้ำเจตนารมณ์ที่จะผลักดันความสัมพันธ์ไทย-จีน และความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์รอบด้านให้เป็นรูปธรรม

โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงที่สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 และนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ของรัฐบาลจีน

ทั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายเชื่อมั่นว่า ความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดระหว่างไทยและจีน จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคให้ก้าวหน้าต่อไป โดยพร้อมที่จะร่วมมือกันผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการค้าไทย-จีน ที่ตั้งไว้ใหม่ที่ 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2564

นอกจากนี้ ทางฝ่ายจีนยังพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ และให้ความร่วมมือในสาขาที่จีนมีความเชี่ยวชาญ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในด้านยานยนต์แห่งอนาคต เมืองอัจฉริยะปัญญาประดิษฐ์ ฯลฯ

อ่านแล้วก็น่าปลื้มใจในความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนกับรัฐบาลไทย

โดยส่วนตัวแล้วผมขอขอบคุณท่านประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่พร้อมจะเป็นหุ้นส่วนกับประเทศไทยในหลายๆ เรื่อง

ผมอ่านหนังสือและบทความที่เกี่ยวกับประวัติ และแนวคิดของท่านมาพอสมควรค่อนข้าง “เชื่อ” ว่า ท่านมีความจริงใจกับประเทศไทยและทุกๆ ประเทศ บนเส้นทางสายไหมใหม่ของท่าน

หวังจะให้เส้นทางสายไหมใหม่นี้เป็นเส้นทางที่จะใช้ประโยชน์ร่วมกันในทุกๆ ด้านระหว่างมวลสมาชิก

แต่ผม ไม่ค่อยเชื่อ และ ไม่ค่อยไว้วางใจ ภาคเอกชนของประเทศจีนครับ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ภาคเอกชนของจีนหลายๆ ส่วนมักไม่ถือว่าประเทศคู่ค้าเป็น หุ้นส่วน แต่กลับถือว่าเป็น ลูกค้า ที่เขาจะเก็บเกี่ยวผลกำไรให้มากที่สุดที่จะมากได้

เราจึงเห็นการขายแต่ฝ่ายเดียว และซื้อจากอีกฝ่ายค่อนข้างน้อย ของพ่อค้าจีนกับหลายๆ ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่เขาขาดดุลเสียจนคุณทรัมป์ต้องออกมาประกาศสงครามการค้า กับไทยเราก็มีตัวอย่างที่น่าห่วงใยเกิดขึ้นให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ไม่ว่ากรณีเข้ามากว้านซื้อสินค้าการเกษตรของเรา เข้ามากำหนดราคาเข้ามาครอบงำทุกสิ่งทุกอย่างจนการค้าขายด้านสินค้าเกษตรโดยเฉพาะผลไม้อยู่ในมือของเขาหมด

การท่องเที่ยวที่ผ่านมาก็เป็นอีกตัวอย่างที่ชัดเจนมาก ว่าเขาเข้ามาอย่างไร? ตักตวงผลประโยชน์ไปแค่ไหน? กว่าไทยจะแก้ปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญได้ต้องใช้ความพยายามอย่างหนักหนาสาหัสเพียงใด?

ภาคเอกชนจีนประกอบด้วยพ่อค้าจำนวนมากที่ถ้าจะใช้คำเปรียบเปรยที่รุนแรงหน่อยก็ต้องบอกว่า “ร้อยพ่อพันแม่” แต่ถ้าจะให้ไพเราะหน่อยก็คงต้องใช้คำว่า “ร้อยแซ่ พยัคฆ์มังกร” มีทั้งคนดีคนไม่ดีปะปนกัน

การค้าขายกับภาคเอกชนจีนจึงต้องระมัดระวังมาก จะต้องรู้เท่าทัน จึงจะไม่เสียเปรียบ

ที่สำคัญรัฐบาลจีนก็ใช่ว่าจะคุมภาคเอกชนได้หมด และที่ผ่านมาก็พิสูจน์ว่าไม่สามารถคุมได้มากเท่าไรนัก

ดังนั้นแม้ท่านประธานาธิบดีจะจริงใจ แต่ในภาคปฏิบัติท่านไม่ได้ลงมาเอง ในทางเศรษฐกิจในทางการค้าและอะไรหลายอย่างจะอยู่ในมือของเหล่า “ร้อยแซ่ พยัคฆ์มังกร” ทั้งสิ้น

ผมก็ฝากผู้หลักผู้ใหญ่ฝ่ายไทยเราที่นำพาประเทศไทยเข้าไปอยู่ในเส้นทางสายไหมกับเขาด้วย ได้โปรดตระหนักไว้

แน่ใจนะครับว่าเราพร้อมที่จะรับมือกับ “ร้อยแซ่ พยัคฆ์มังกร” ที่จะมาทุกกระบวนท่าและทุกรูปแบบในอนาคต?

เผอิญผมไม่ค่อยแน่ใจครับ…จึงต้องกราบเรียนฝากไว้ด้วยความห่วงใยอีกครั้งหนึ่งในวันนี้.

“ซูม”