รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน “ซีพี” โอเค…ซิกาแร็ต?

เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์หลายฉบับลงข่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) จะมีการเจรจาขั้นสุดท้ายกับกลุ่มซีพีในวันอังคารที่ 23 เมษายนนี้

คาดว่าจะตกลงกันได้ด้วยดี เพราะตลอดเวลาได้มีการเจรจากับฝ่ายกฎหมายของซีพีมาตลอด และเมื่อผ่าน 23 เมษายนไปแล้ว ก็คงจะเสนอร่างสัญญาและรายงานผลการเจรจาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบความถูกต้องได้ในวันที่ 26 เมษายนนี้

แปลความตามเนื้อข่าวข้างต้นนี้ได้ว่า กลุ่มซีพีซึ่งต่อรองเงื่อนไขต่างๆ มามากมายหลายเงื่อนไข คงจะยอมอ่อนข้อและรับที่จะทำสัญญาร่วมลงทุนกับรัฐบาลใน “มหาโครงการ” นี้ในเวลาไม่นานนัก

ผมใช้คำว่า “มหาโครงการ” เพราะโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “อภิมหาโครงการ” ที่รัฐบาลบิ๊กตู่ท่านรังสรรค์ไว้ คือ โครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC นั่นเอง

ในอภิมหาโครงการ EEC ระบุว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเพื่อเติมเต็มโครงการ EEC ให้สมบูรณ์แบบ อันจะเป็นการจูงใจให้มีการมาลงทุนใน EEC และเป็นส่วนหนึ่งของการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาลงทุนและผู้ทำงานใน EEC

มองในภาพใหญ่ ถ้า EEC ไม่มีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ก็จะทำให้ดูขาดพลังไปเหมือนต่อจิ๊กซอว์ไม่ครบ อาจจะทำให้ความสนใจของนักลงทุนทั่วโลกที่จะมา EEC ลดลง

แต่ถ้ามองเฉพาะตัวโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินดังกล่าว ซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรีระบุว่า ให้รัฐร่วมทุนด้วยประมาณ 120,000 ล้านบาทนั้น เท่าที่ผมจำได้ สภาพัฒน์ ซึ่งแม้จะเห็นด้วยกับโครงการนี้ แต่ก็ฝากข้อสังเกตไว้หลายเรื่อง

เพราะโดยตัวโครงการเองจะเป็นโครงการที่ไม่คุ้มค่าทางการเงิน และมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั่วไปที่กำหนดไว้

โดยเฉพาะผู้โดยสารจะมาจากประชาชนในท้องถิ่นเองเป็นส่วนใหญ่ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และจากนักท่องเที่ยวที่จะใช้ข้ามสนามบินเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ถ้าโครงการ EEC ไม่สำเร็จไม่มีคนมาลงทุนตามเป้า ไม่มีผู้คนเดินทางไปมาทำธุรกิจหรือทำงานต่างๆ มากที่ควร ผู้โดยสารจะโหรงเหรงทันที

จะให้ผู้โดยสารเต็มก็ต้องไปทำให้ EEC โดยรวมประสบความสำเร็จควบคู่ไปกับการพัฒนาการท่องเที่ยวทางภาคตะวันออกเพื่อให้คนเดินทางเยอะๆ อีกทางหนึ่งด้วย

แต่เผอิญว่ามีโครงการย่อยที่อยู่ในโครงการนี้รวม 2 โครงการที่อาจจะทำให้ภาคเอกชนพอมองเห็นกำรี้กำไรอยู่บ้าง

คือโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณ สถานีมักกะสันและ สถานีศรีราชา ซึ่งอาจจะเป็นศูนย์การค้าหรืออาคารที่อยู่อาศัยอย่างไรคงต้องไปดูในรายละเอียด

ผมก็เดาว่าตรงจุดนี้กระมังที่ทางซีพีและพันธมิตรคงจะพอเห็นหนทางได้ทุนคืน ดังนั้นแม้จะต่อรองโน่นนี่แล้ว ซึ่งก็ไม่น่าจะได้อะไรมากนัก ทางซีพีก็พร้อมจะทำสัญญาตามเนื้อข่าวข้างต้น

โดยความเห็นส่วนตัวของผมแล้ว ผมไม่เห็นด้วยกับโครงการนี้ตั้งแต่ต้น เพราะผมมองไม่เห็นความจำเป็นจะต้องเชื่อม 3 สนามบินทั้ง 3 เข้าด้วยกัน เพราะผมเชื่อว่านักท่องเที่ยวที่มาเมืองไทยนั้น หากเขาเลือกลงสนามบินไหน ก็แปลว่าเขาตั้งใจจะมาเที่ยวในบริเวณใกล้ๆ สนามบินนั้นอยู่แล้ว เขาก็จะมาและกลับที่สนามบินนั้น

คงไม่มีใครมาลงดอนเมืองแล้วอยากกลับที่สุวรรณภูมิ หรือหากจะกลับก็ให้ไปทางเส้นทางคมนาคมปกติได้ ไม่จำเป็นต้องใช้รถไฟความเร็วสูงราคาแพง เช่นเดียวกับสุวรรณภูมิไปอู่ตะเภาก็ไม่มีเหตุผล และความจำเป็นที่จะต้องอำนวยความสะดวกถึงขั้นใช้รถไฟความเร็วสูง

ในที่สุดแล้วก็จะเป็นอย่างที่สภาพัฒน์วิเคราะห์ คือผู้โดยสารส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนที่อยู่ในประเทศ คือคนท้องถิ่นหรือคนทำงานใน EEC นี่แหละ

ถ้า EEC ไม่ขึ้น คนไม่ไปอยู่โครงการนี้ก็เรียบร้อย กลายเป็นรถไฟ ความเร็วสูงสายเปลี่ยวแน่นอน

ผมจึงเดาว่า เหตุที่ซีพีโอเคซิกาแร็ตตัดสินใจร่วมทุน จึงน่าจะเป็นโอกาสจากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ดังกล่าวมากกว่าอะไรทั้งหมด

พอดีพรุ่งนี้จะเป็นวันที่ซีพีจะไปเจรจายกสุดท้ายกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ผมขออนุญาตเขียนเรื่องนี้ต่ออีกวันนะครับ.

“ซูม”