สงกรานต์ “คึกคัก” ทั่วไทย ประทับใจวัดโพธิ์–วัดแจ้ง

ผมเขียนต้นฉบับวันนี้ในช่วงสายๆของวันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน ซึ่งเป็น “วันมหาสงกรานต์” ของปี 2562 และผ่านวันสงกรานต์ วันแรก 13 เมษายนไปเรียบร้อย

ข้างหน้าผมมีหนังสือพิมพ์รายวันที่ยังมีลมหายใจและยังวางจำหน่ายอยู่บนแผงทั้ง 6 ฉบับ วางเป็นตั้งอยู่ครบทุกฉบับ

พาดหัวใหญ่บ้าง เล็กบ้าง แต่ข้อความตรงกันเป๊ะว่า สงกรานต์วันแรกทั่วประเทศไทยเราเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนานคึกคัก

รวมทั้ง ถนนข้าวสาร และ ถนนสีลม ที่มีข่าวสับสนมาตลอดว่าอาจจะห้ามเล่นสาดน้ำสงกรานต์ในปีนี้ แต่ล่าสุดก็เปิดถนนให้เล่นน้ำอย่างเต็มที่ เพียงแต่ไม่มีการจัดงานอย่างเป็นทางการเท่านั้นเอง

ผมอ่านข่าวแล้วก็ดีใจและต้องขอขอบคุณ กทม. ที่อนุญาตให้เล่นน้ำใน 2 ถนนนี้อีกครั้ง และนักท่องเที่ยวก็ยังไปเล่นกันอย่างล้นหลามไม่แพ้ปีที่ผ่านมา

ขอฝากข้อคิดข้ามปีไว้เลยนะครับว่า ปีหน้า ปีโน้น และปีไหนๆ อีกสิบปี ร้อยปี ในอนาคตอย่าปิดถนนสองสายนี้เป็นอันขาด จะควบคุมการดื่มเหล้าหรือการเล่นลามกจกเปรตที่ไม่สมควรนั้น เป็นเรื่องสมควรที่จะทำอยู่แล้ว แต่ต้องอย่าห้ามเล่นน้ำ

เพราะถนน 2 สายนี้คือ “ห่านทองคำ” ของการท่องเที่ยวในเทศกาลสงกรานต์ที่ดังไปทั่วโลก…เป็นห่านที่จะไข่ออกมาเป็นทองคำให้ประเทศไทยของเราเก็บกินได้ตลอดไป จนถึงอนาคตอันยาวไกลข้างหน้า

อย่าฆ่าห่านตัวนี้ไปเสียก่อนก็แล้วกัน

นอกจาก 2 ถนน ใน กทม.ที่ว่านี้แล้ว ผมก็ดีใจที่ถนนของจังหวัดดังๆ ก็สนุกและผู้คนคึกคักทั่วทั้งประเทศ เช่น ที่ ถนนข้าวเหนียว จังหวัดขอนแก่น, ถนนข้าวตอก จังหวัดสุโขทัย, ถนนข้าวดอกข่า (อุโมงค์น้ำ) จังหวัดพังงา, หาดใหญ่มิดไนต์สงกรานต์ ที่ ถนนนิพัทธ์อุทิศ และ ถนนเสน่หานุสรณ์ กลางเมืองหาดใหญ่

รวมทั้งที่ถนน ข้าวยำ กลางเมือง ปัตตานี ด้วยครับ มีอุโมงค์น้ำพุที่ยาวที่สุดในประเทศไทย 650 เมตร และปาร์ตี้โฟมให้เล่นด้วย…ปรากฏว่าพี่น้องชาวปัตตานีไปเล่นน้ำเล่นโฟมกันแน่นขนัดเช่นเดียวกัน

ผมอยู่ใน กทม. อย่างที่กราบเรียนไว้แล้ว และตั้งใจไว้ก่อนล่วงหน้าว่าอยากจะชวนหลานสาววัย 5 ขวบ ล่องเรือไปตามลำน้ำเจ้าพระยาในโครงการ “วิถีน้ำ วิถีไทย” ของไทยเบฟฯ ที่จัดมาแล้ว 5 ปีติดต่อกัน

นั่งเรือไปตามท่าต่างๆ ของแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งท่าวัดอีกหลายวัด…ซึ่งจะมี วัดโพธิ์ (วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม) และ วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม อยู่ด้วย)

ซึ่งผมก็ได้ไปตามแผนที่วางไว้ ได้สรงน้ำพระทั้ง 2 วัด เป็นสิริมงคลสมความปรารถนา และก็ปลาบปลื้มมากๆ ที่เห็นผู้คนทั้งนั่งเรือไปกับโครงการของไทยเบฟฯ และไปกันเองด้วยวิธีต่างๆ แน่นขนัดทั้ง 2 วัด

ที่วัดโพธิ์ผมประทับใจมาก เพราะมีโอกาสได้ ก่อพระเจดีย์ทราย อีกครั้งหนึ่งในวัย 78 กับหลานวัย 5 ขวบ ในบริเวณที่วัดโพธิ์ท่านจัดให้

ใช้วิธีขนทรายไปตุนไว้ที่บริเวณที่ว่างหน้าองค์พระเจดีย์ของรัชกาลต่างๆ ที่อยู่กลางๆ วัดโพธิ์และเลยพระอุโบสถหลังใหญ่ไปเล็กน้อย โดยแยกใส่ถังขนาดเขื่องพอสมควรเป็นร้อยๆถังรอเอาไว้เลย

แล้วก็ให้พี่น้องประชาชนทำบุญตามแต่ศรัทธา หิ้วถังทรายและธงกระดาษเล็กๆ ไปก่อบนพื้นหน้าองค์พระเจดีย์โดยจะมีกรวยสังกะสีแถมให้หิ้วคู่ไปด้วย

เป็นการก่อพระเจดีย์ทรายแบบโตแล้ว เรียนลัดน่ะครับ คือเททรายจากถังมาอัดให้แน่นในกรวย พอคว่ำกรวยก็เป็นองค์พระเจดีย์น้อยๆ หนึ่งองค์ และเมื่อปักธง ปักธูปเทียนเสร็จก็เป็นเจดีย์ทรายที่สมบูรณ์แบบ

แม้จะไม่เหมือนสมัยผมเด็กๆ เสียทีเดียว แต่ก็เหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะก่อได้เร็วกว่ามาก จะมามัวนั่งก่ออย่างสมัยก่อนคงไม่ได้แล้วละ เพราะผู้คนยืนเข้าคิวยาวเหยียดตลอดทั้งวันอาจจะหลายพันคน

ขอขอบพระคุณคณะกรรมการวัดโพธิ์เป็นอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้ ที่ยังช่วยรักษาประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายเอาไว้

ก็ไม่รู้เหมือนกัน อีก 20 ปี 30 ปีข้างหน้า เมื่อหลานสาวผมโตเป็นสาวเต็มตัว และผมกับคนรุ่นนี้จำนวนมากไม่อยู่ในโลกนี้แล้ว ประเพณีขนทรายเข้าวัดจะเป็นอย่างไร?

อาจจะเหลือแค่ใช้ทรายประมาณ 1 ถ้วยตะไล (แบบขนมถ้วย) แล้วก็ใช้ธงขนาดจิ๋วเสียบไม้จิ้มฟันแบบเวลาเราไปกินอาหารจิ้มๆ ในงานเลี้ยงค็อกเทลตามโรงแรมก็ได้ใครจะรู้?

“ซูม”