“วาทกรรม” ในอดีต ที่ไม่อยากให้เกิดยุคนี้

คำว่า “วาทกรรม” น่าจะมีความหมายว่าการประดิษฐ์ถ้อยคำหรือคำเรียกขานเพื่อใช้อธิบายเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง

อาจจะสะท้อนเหตุการณ์ได้ทั้งหมดหรือสะท้อนแต่เพียงบางส่วน และบางครั้งก็อาจเกินเลยความจริงไปบ้าง แต่ทุกๆ วาทกรรมที่มีการประดิษฐ์ขึ้น จะต้องมีที่มาที่ไป คือเกิดเหตุการณ์เช่นว่านั้นไม่มากก็น้อย

มี “วาทกรรม” ทางการเมืองในประวัติศาสตร์อยู่ 2 วาทกรรม ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเมืองไทย ซึ่งผมไม่อยากให้เกิดขึ้นอีกในยุคนี้ เพราะทั้ง 2 วาทกรรมที่ว่านี้ มักนำไปสู่การเผชิญหน้าหรือไปสู่เหตุการณ์ที่ล่อแหลมต่อความวิกฤติของประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง

เผอิญว่าโชคดีที่ประเทศไทยเรามีพระสยามเทวาธิราชคุ้มครองอย่างที่ผมเคยเขียนเอาไว้บ่อยๆ ทำให้เรื่องร้ายๆ จากวาทกรรมทั้ง 2 ประการนั้น กลายเป็นดีพอสมควรในเวลาต่อมา

วาทกรรมแรกที่ผมจะเขียนถึงก่อนในวันนี้ได้แก่คำว่า “เลือกตั้งสกปรก” ที่นิสิตนักศึกษาและประชาชน รวมถึงสื่อมวลชนประดิษฐ์คิดค้นขึ้น หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500

พรรค เสรีมนังคศิลา ของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นฝ่ายชนะ ในการเลือกตั้งดังกล่าว แต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการเลือกตั้งที่สกปรกที่สุดนับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งกันมา

พ.ศ.นั้นผมยังเรียนมัธยม 6 แต่ก็อายุ 16-17 ปีแล้ว นั่งอ่านข่าวนี้ จากหนังสือพิมพ์ต่างๆ อยู่ที่ปากน้ำโพ

จำได้ดีว่านิสิตจุฬาฯ ได้ลดธงลงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยการเลือกตั้ง และนิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอื่น เช่น ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ศิลปากร ฯลฯ ต่างไปรวมตัวกันที่จุฬาฯ

รัฐบาลของ จอมพล ป. ออกมาขู่และคาดโทษการชุมนุม และการเดินขบวนต่างๆ นานา รวมถึงส่ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผบ.ทบ. ขณะนั้นไป “ปราม” นิสิตนักศึกษาที่กำลังชุมนุมกันอยู่

จำได้ว่า จอมพลสฤษดิ์ไปพูดอย่างชายชาติทหารเป็นที่ถูกใจนิสิตนักศึกษา ซึ่งขอร้องว่าจะเดินขบวนเพื่อแสดงความคิดเห็นประท้วงการเลือกตั้งโดยสงบไปยังกระทรวงมหาดไทยผู้รับผิดชอบในการจัดเลือกตั้งใน พ.ศ.ดังกล่าวเท่านั้น

จอมพลสฤษดิ์ยอมให้ขบวนออกจากจุฬาฯ ได้ และขบวนนิสิตนักศึกษาก็เดินไปที่กระทรวงมหาดไทยเมื่อ 2 มีนาคม 2500 ก่อนจะเปลี่ยนใจมุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีประชาชนจำนวนมากเข้ามาสมทบ

มาถึงสะพานมัฆวานเกิดเหตุการณ์ตึงเครียด เพราะมีกองกำลังทหารกั้นขวางอยู่ แต่หลังจากเจรจาก็ยอมให้เดินต่อได้ ขบวนของนิสิตนักศึกษาชุดประท้วงเลือกตั้งสกปรกเคลื่อนไปถึงหน้าทำเนียบ ขอพบจอมพล ป. แต่ไม่ได้พบ ในที่สุดก็ได้พบจอมพลสฤษดิ์อีกครั้งหนึ่ง จอมพลสฤษดิ์รับปากจะไปไต่สวนดูแลการจัดการเลือกตั้งตามคำขอ นิสิตนักศึกษาจึงสลายตัวไป

เหตุการณ์สงบลงชั่วขณะหนึ่ง และรัฐบาลจอมพล ป. ได้เข้าบริหารประเทศต่อไป แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนมาโดยตลอด

ต่อมาอีกระยะหนึ่งจอมพลสฤษดิ์ก็ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 16 กันยายนปีเดียวกัน หลังการประท้วง “เลือกตั้งสกปรก” ประมาณ 8 เดือน

ที่ผมบอกว่าเหตุที่เกือบวิกฤติกลับแปรเป็นผลดีพอสมควร เพราะหลังการปฏิวัติแล้ว แม้โดยส่วนตัวจอมพลสฤษดิ์จะถูกตำหนิอย่างรุนแรงว่าเป็นเผด็จการ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ และเป็นจอมคอร์รัปชันคนหนึ่งเท่าที่ประเทศไทยเราเคยมี

แต่ก็ยังมีผลงานด้านการพัฒนาประเทศหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการให้กำเนิด “แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1” และมีการปฏิบัติตามแผนอย่างจริงจัง ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากการเป็นประเทศยากจนได้สำเร็จในอีกไม่กี่ปีให้หลัง

กระนั้นผมก็ยังไม่อยากให้วาทกรรม “เลือกตั้งสกปรก” เกิดขึ้นในยุคนี้อยู่ดีละครับ และหวังว่าคงจะไม่มีใครหยิบขึ้นมาใช้ เพราะกลัวว่าจะมีผลหลายอย่างที่ควบคุมไม่ได้ตามมา

ขณะเดียวกัน ก็หวังว่า กกต. จะชี้แจงได้ จนไม่มีวาทกรรมนี้เกิดขึ้น และไม่มีใครไปลดธงครึ่งเสาในมหาวิทยาลัยต่างๆ

เท่าที่ดูก็เห็นแค่นิสิตนักศึกษาตั้งโต๊ะให้ประชาชนลงชื่อปลด กกต.เท่านั้นเอง อ่านข่าวแล้วก็สบายใจกว่าตอนผมนั่งอ่านข่าวเลือกตั้งสกปรกเมื่อปี 2500 อยู่ที่ปากน้ำโพเยอะเลยครับ.

ซูม”