1 ปี “น่านแซนด์บ็อกซ์” กับความหวังฟื้นฟูป่าน่าน

ผมเขียนต้นฉบับวันนี้ในวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันสุกดิบของการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 และบรรยากาศการหาเสียงได้ยุติลงแล้ว ในขณะที่ประชาชนชาวไทยก็อยู่ระหว่างการตัดสินใจและเตรียมตัวที่จะไปใช้สิทธิใช้เสียงในวันรุ่งขึ้น

ขออนุญาตพักเรื่องการเมืองเอาไว้สักวันนะครับ รอให้ผลการเลือกตั้งออกมาเสียก่อน เราค่อยหยิบมาเขียนดังที่เคยปฏิบัติมา

เผอิญผมมีเรื่องติดค้างจากเรื่องที่เขียนไว้ในคอลัมน์ซอกแซก เมื่อวานนี้ว่าด้วยภาพสัตว์ป่าและผืนป่าที่ปรากฏบนผนังตึกอาคารสำนักงานใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นการสื่อถึงโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” ที่ คุณบัณฑูร ล่ำซำ ประธานธนาคารแห่งนี้ริเริ่มไว้

โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะหยุดยั้งการทำลายป่าเมืองน่าน และฟื้นฟูป่าที่ถูกทำลายให้กลับคืนมาสู่สภาพที่ใกล้เคียงกับของเดิม เพื่อให้จังหวัด ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำน่านมีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

เมื่อปีที่แล้วนี่เอง นายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความเห็นชอบกับโครงการ รักษ์ป่าน่าน และได้แต่งตั้งกรรมการทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติขึ้น 2 ชุด เพื่อลงไปทดลองในภาคปฏิบัติที่เรียกว่า “โครงการน่านแซนด์บ็อกซ์” (NAN SANDBOX) และได้ลงมือปฏิบัติมาแล้ว 1 ปีเต็มๆ

ข้อเขียนซอกแซกของผมจบลงตรงนี้และวันนี้เราจะมาว่ากันต่อถึงความคืบหน้าของ น่านแซนด์บ็อกซ์ ว่าไปถึงไหนแล้ว?

คำว่า “แซนด์บ็อกซ์” คงจะทราบกันแล้วว่าเป็นคำที่มาจาก “กล่องทราย” หรือ “กระบะทราย” ที่ฝรั่งเขามักจะมีไว้ให้เด็กๆ ใช้เป็นของเล่นโกยทรายมาสร้างเป็นโน่นเป็นนี่ตามประสาเด็กๆ

ต่อมาคำว่า แซนด์บ็อกซ์ ก็กลายเป็นศัพท์แสงทางวิชาการหมายถึงการกำหนดกรอบอะไรสักอย่างแล้วก็ให้ไปทดลองทำทดลองปฏิบัติโน่นนี่นั่นตามกรอบที่กำหนดไว้

โครงการน่านแซนด์บ็อกซ์จึงเป็นโครงการทดลอง เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ที่ดินและป่าเพื่อให้ประชาชนในจังหวัดน่านที่เข้าร่วมทดลองมีโอกาส มีสิทธิ์ในการดำเนินชีวิตคู่ไปกับป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ในการประกอบอาชีพ ซึ่งคงหนีไม่พ้นการเกษตรที่พึ่งพิงอยู่กับป่าในช่วงเปลี่ยนผ่าน คงต้องการเงินทุนมาสนับสนุนบ้าง โครงการนี้ก็จะจัดสำรองไว้ให้ส่วนหนึ่ง

ขณะเดียวกัน ระบบการเกษตรที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัญหา เพราะเป็นระบบเกษตรที่ใช้พื้นที่มาก ทำลายป่ามาก ผลผลิตราคาไม่สูง ไม่คุ้มกับป่าที่ถูกทำลายก็ให้เปลี่ยนมาเป็นระบบการเกษตรที่มีมูลค่าสูง เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่พอเพียงและต้องเป็นการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย

เมื่อไม่นานมานี้เอง คุณบัณฑูรให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลายสำนักที่ตามไปสัมภาษณ์ถึงน่านว่าโครงการน่านแซนด์บ็อกซ์ก้าวหน้าไปมาก

ณ วันนี้ ผู้นำชุมชนรวม 99 ตำบลของจังหวัดน่าน เข้ามาร่วมโครงการแล้ว ด้วยความกระตือรือร้นอย่างยิ่ง

คุณบัณฑูรตั้งเป้าไว้ว่า ในปี 2562 หรือปีนี้จะดำเนินการหาทุนมาสนับสนุนการหยุดตัดป่า ชะลอการปลูกข้าวโพด เตรียมพืชทางเลือก ฟื้นฟูสภาพดิน ฟื้นฟูแหล่งน้ำและฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม

ปีหน้า 2563 จะเดินหน้าด้านแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าสูงสร้างแบรนด์สินค้าสำหรับน่าน พัฒนาตลาดใหม่ๆ และสร้างความเข้มแข็งในทุกมิติให้แก่ชุมชนที่มาร่วมโครงการ

ประธานกรรมการบริหารกสิกรไทยมั่นใจว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นนายกฯ ต่อ โครงการนี้ก็คงจะเดินต่ออย่างแน่นอนอยู่แล้ว…แต่ถึง พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ได้กลับมา เขาก็คิดว่าอย่างไรเสียโครงการนี้ก็จะต้องเดินหน้า เพราะรัฐบาลใหม่ไม่ว่าใครก็ตามคงไม่กล้าเลิกโครงการที่ประชาชนถึง 99 ตำบล พร้อมใจกันดำเนินงาน

นี่คือบางส่วนของ “น่านแซนด์บ็อกซ์” ที่กำลังก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ซึ่งผมหวังว่าใครก็ตามที่จะมาเป็นรัฐบาลคงจะต้องดำเนินการต่อ

ประสาคนที่อาศัยแม่นํ้าเจ้าพระยาดื่มกินอยู่ทุกวัน ผ่านการประปานครหลวง ผมเอาใจช่วยครับ…ขอให้น่านแซนด์บ็อกซ์ประสบความสำเร็จสมดังที่ทุกๆ ฝ่ายคาดหวังไว้ เพื่ออนาคตของแม่นํ้าน่าน และเพื่ออนาคตของแม่นํ้าเจ้าพระยาสายเลือดหลักของประเทศไทย.

“ซูม”