สำรวจนโยบายพรรค ใครบ้าง “ปฏิรูป” ทหาร?

ประเด็นใหญ่ในการหาเสียงของพรรคการเมืองที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในการเลือกตั้งครั้งนี้ เห็นจะหนีไม่พ้นนโยบายว่าด้วย การปฏิรูปทหาร หรือปฏิรูปกองทัพไทย

พรรคที่ประกาศนโยบายหาเสียงในเรื่องนี้มาแต่ต้น และได้รับการกล่าวขวัญถึงก่อนพรรคไหนทั้งหมด ก็คือ พรรคอนาคตใหม่ ที่เสนอชื่อ คุณ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นนายกรัฐมนตรีนั่นเอง

ผมหยิบคู่มือเลือกตั้งของเขตเลือกตั้งที่ 13 กทม. (บางกะปิ+แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง) ที่จัดพิมพ์โดย กกต. และมีผู้นำมาเสียบไว้ที่ประตูบ้านผมอย่างที่เขียนเล่าไว้วันก่อน–ขึ้นมาอ่านอีกครั้ง

โดยเจาะจงอ่านนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ก่อนใครทั้งหมดแล้วก็พบว่า พรรคอนาคตใหม่เขียนเอาไว้อย่างชัดเจนว่า

“ปฏิรูปกองทัพ ปรับลดงบประมาณกลาโหม เลิกระบบเกณฑ์ทหาร ล้มล้างมรดก-คสช. คืนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน”

อีกพรรคที่เขียนเอาไว้ชัดเจนตั้งแต่ต้น ก็คือ พรรคเสรีรวมไทย ซึ่งเสนอชื่อ พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เป็นนายกรัฐมนตรี

นโยบายของพรรคนี้เขียนไว้ 6 ข้อ โดยมีประเด็นเกี่ยวกับปฏิรูปทหาร เป็นนโยบายข้อที่ 4 เขียนไว้อย่างสั้นๆ ว่า “4. หยุดเผด็จการ ปฏิรูปทหาร”

เขียนไว้ตั้งแต่ต้นแบบนี้เอง ท่านหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทยถึงได้ไม่เกรงใจนายทหารที่ไปสังเกตการณ์การหาเสียงของท่าน มีการต่อว่า ต่อขานจนกลายเป็นเรื่องใหญ่โต ถูกฟ้องว่าหมิ่นทหารหมิ่นกองทัพ ไปจนถึงเหล่านายทหารคุมกำลังทั้งหมดต้องออกมาปฏิญาณตนพร้อมกัน ที่จะรักษาเกียรติของกองทัพอย่างที่เป็นข่าว

สำหรับพรรคที่เขียนไว้ในนโยบายชัดเจนกว่าเพื่อน ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องปฏิรูปกองทัพ ถึงขั้นลงลึกในรายละเอียดเป็นตัวเลขเลยทีเดียว ได้แก่ พรรคประชานิยม ซึ่งมีการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 3 ราย ได้แก่ พันตำรวจเอกรวมนคร ทับทิมธงไชย, พลตำรวจเอก ยงยุทธ เทพจำนงค์ และ นายปฐมฤกษ์ มณีเนตร

นโยบายปฏิรูปกองทัพของพรรคนี้เขียนไว้ดังนี้ครับ

“หยุดกองทัพซื้ออาวุธ 10 ปี นำเงิน 400,000 ล้านบาท ไปพัฒนาประเทศ เปลี่ยนงบซื้อรถถังไปซื้อรถโดยสารปรับอากาศ 10,000 คัน ไปซื้อรถไถนา, รถดำนา, รถเกี่ยวนวดข้าวประจำหมู่บ้าน และรถตัดอ้อยให้ชาวนาใช้ฟรี”

น่าจะมีเพียง 3 พรรคนี้เท่านั้นที่มีนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูปทหารโดยตรง และเขียนเอาไว้ยาวบ้างสั้นบ้างในนโยบายที่เสนอ กกต.

พรรค ประชาธิปัตย์ ที่ท่านหัวหน้าพรรค อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาประกาศไม่สนับสนุน “บิ๊กตู่” ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจนั้น ไม่ได้พูดถึงการปฏิรูปกองทัพแต่อย่างใด

เพียงแต่เน้นไว้ในนโยบายพรรคว่า “ยึดมั่น” แนวทางประชาธิปไตยเสรี ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ

ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ที่เสนอชื่อ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ เป็นนายกรัฐมนตรี หมายเลข 1 และในการหาเสียง คุณหญิงได้ปราศรัยไว้ว่าจะนำงบประมาณกองทัพ 10 เปอร์เซ็นต์ มาพัฒนา นักธุรกิจ SMEs รุ่นใหม่นั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีนโยบายว่าด้วยการปฏิรูปกองทัพเท่าที่อ่านจากเอกสารของ กกต. เล่มดังกล่าว

อาจจะเป็นนโยบายที่เพิ่มเติมขึ้นใหม่ก็ได้ ซึ่งก็คงไม่ผิดหลักเกณฑ์ใดๆ เพราะในระหว่างหาเสียงนั้น เหตุการณ์บางอย่างอาจเปลี่ยนไป จึงต้องมีการปรับนโยบาย หรือเพิ่มเติมเรื่องโน้นเรื่องนี้กันบ้าง

ในขณะที่ พรรคภูมิใจไทย ของ “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล ที่ออกมาประกาศไม่สนับสนุน “บิ๊กตู่” เช่นกันนั้น ไม่ได้เขียนถึงเรื่องปฏิรูปทหาร หรือปฏิรูปกองทัพเอาไว้

แต่เขียนอย่างชัดเจนมากในนโยบายเกี่ยวกับ “กัญชา” ว่าจะนำมาใช้ทางการแพทย์ โดยจะแก้กฎหมายให้ปลูกได้ เสพได้ในอนาคต

ครับ! ผมก็ขออนุญาตทำหน้าที่สำรวจนโยบายปฏิรูปกองทัพของพรรคการเมือง “ใจเด็ด” ต่างๆ มาฝากดังรายละเอียดข้างต้น…ขอย้ำอีกทีนะครับว่า ลอกมาจากเอกสารคู่มือของ กกต.ทั้งดุ้น มิได้แต่งเติมเสริมต่อแต่ประการใด!

ท่านผู้อ่านมีความเห็นอย่างไร? เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับพรรคไหน โปรดใช้วิจารณญาณกันเอาเองนะครับ.

“ซูม”