จากผู้เสนอตัว 68 ราย อยากได้ใครเป็นนายกฯ?

ข้อดีอย่างหนึ่งของการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมที่จะถึงนี้ก็คือ ก่อนที่เราจะไปเข้าคูหากาบัตรนั้น เราพอจะรู้กันอยู่แล้วว่า ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยเรา หลังเลือกตั้ง

เนื่องจากรัฐธรรมนูญระบุ ให้แต่ละพรรคการเมืองต้องเสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีเอาไว้ด้วย ไม่เกิน 3 ชื่อ และผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย จากการลงคะแนนเสียงของสมาชิกทั้ง 2 สภารวมกัน

ดังนั้น ณ นาทีนี้ เราจึงมีบุคคลที่มีสิทธิ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งครั้งนี้เพียง 68 ท่าน

เป็นรายชื่อจากผู้ที่พรรคการเมือง 46 พรรค เสนอมาทั้งสิ้น 71 รายชื่อ แต่ กกต.พิจารณาแล้ว รับรองว่ามีสิทธิ์ครบถ้วนทุกประการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้รวม 68 รายชื่อดังกล่าว

ผมคงไม่สามารถนำรายชื่อทั้งหมดมาลงได้ในคอลัมน์นี้…ท่านที่สนใจว่ามีไผเป็นไผบ้างโปรดเข้ากูเกิลดูนะครับ เพราะมีเว็บไซต์หลายๆ เว็บเขาลงชื่อลงพรรคที่สังกัดเอาไว้ให้แล้วอย่างครบถ้วน

แต่เท่าที่ผมติดตามจากข่าวคราวโดยดูจากการพูดถึงเขียนถึง

ทั้งในข่าวหนังสือพิมพ์ ข่าวออนไลน์ ข่าวโทรทัศน์บ้างบางโอกาส รวมไปถึงจากโซเชียลมีเดียต่างๆ ผมพบว่า ผู้ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงบ่อยๆ ว่าจะมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งมีอยู่ 4 ท่าน

ได้แก่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, คุณ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคุณ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

โดยเฉพาะรายหลังสุดนี้ค่อนข้างมาแรงในโซเชียลมีเดีย…จนแซงคนอื่นๆ เข้ามาอยู่ในกลุ่ม 4 คนได้สำเร็จ

ล่าสุด จากการสำรวจของกรุงเทพโพลล์ที่เพิ่งประกาศผลการสำรวจเมื่อ 2 วันที่แล้ว แม้จะพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่สำรวจจะยังไม่ตัดสินใจสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรีสูงถึง 59.4 เปอร์เซ็นต์

แต่ที่ตัดสินใจแล้วประมาณร้อยละ 12 จะสนับสนุน พลเอกประยุทธ์และร้อยละ 8.1 สนับสนุนคุณหญิง สุดารัตน์ ตามมาด้วยร้อยละ 6.6 สนับสนุนคุณ ธนาธร และ ร้อยละ 6.1 สนับสนุนคุณ อภิสิทธิ์

ซึ่งจากโพลล์นี้คุณธนาธรขยับมาเป็นที่ 3 เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยังมีผู้ที่ไม่ตัดสินใจสนับสนุนใครอีกมาก เพราะฉะนั้นเมื่อกาลเวลาผ่านไปผลการสำรวจก็อาจจะพลิกผันไปอีกก็ได้

นอกจาก 4-5 คนดังข้างต้นนี้แล้ว ยังมีนักการเมืองเก่าๆ หลายๆ คน ที่เสนอตัวมาเป็นนายกรัฐมนตรีคราวนี้เช่น คุณ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ, คุณ วันมูหะมัดนอร์ มะทา, น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา, สุมิตร สุนทรเวช, อนุทิน ชาญวีรกูล, มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ฯลฯ เป็นต้น

จริงๆ แล้วประเทศไทยเราน่าจะมีคนที่เหมาะสมจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีมากกว่านี้ แต่ท่านไม่เสนอตัวมาให้เลือกเราก็เลยมีคนที่จะเลือกเพียงแค่ 68 คน อย่างที่กล่าวไว้ตอนแรก

กลับไปที่ผลสำรวจของกรุงเทพโพลล์อีกครั้ง เขาบอกว่าในการสำรวจครั้งนี้มีประชาชนตั้งใจจะไปใช้สิทธิ์ถึง 95 เปอร์เซ็นต์

หากผลจริงๆ ออกมาด้วยตัวเลขนี้จะเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจอย่างมาก ซึ่งผมคิดว่าคงไม่ถึงหรอกครับ ได้สัก 80 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิ์ผมก็ดีใจแล้ว

จากการที่เราต้องรอคอยกันมานานถึง 5 ปี ประกอบกับการนำเสนอของสื่อต่างๆ อย่างครึกโครม ขึ้นหัวยักษ์หน้า 1 ทุกวัน ในขณะที่โทรทัศนก็เสนอข่าวอย่างละเอียด แถมจัดรายการดีเบตให้หลายๆ ครั้ง

รวมไปถึงการแชร์ การวิจารณ์ การแสดงความคิดเห็นในโซเชียลมีเดียอย่างคึกคัก แรงบ้าง เบาบ้างอย่างทุกวันนี้ ผมว่าจะมีส่วนทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้ไปใช้สิทธิ์ใช้เสียงในอัตราสูงที่น่าพอใจ

ทางพรรคการเมืองเองก็ลงพื้นที่กันทุกวัน สู้กันยิบตา ในทุกพื้นที่ อาจมีการแขวะ การแซวบ้าง ถือว่าเป็นสีสันทางการเมืองก็แล้วกัน

เหลือเวลาอีกแค่เดือนเศษๆเท่านั้น เร่งมือกันหน่อยนะครับ

ผมเองก็จะช่วยเขียนเชิญชวนไปเรื่อยๆ…อาจจะหันไปเขียนเรื่องโน้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง พอไม่ให้เบื่อ เสร็จแล้วก็จะกลับมาเขียนกระตุ้นเชิญชวนให้ไปเลือกตั้ง สลับไปสลับมาจนถึงวันที่ 24 มีนาคม

สรุปอีกทีว่าท่านอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี อย่าลืมไปพลิกปูมดู 68 ชื่ออีกทีนะครับ โดนใจท่านไหนก็เลือก ส.ส.พรรคนั้นได้เลย.

“ซูม”