“44 ปี” แห่งความทรงจำ เลือกตั้งครั้งแรกในชีวิต

เนื่องจากข้อเขียนวันนี้ต่อเนื่องมาจากฉบับเมื่อวานนี้ จึงขออนุญาตที่จะใช้สรรพนามแทนตัวผู้เขียนว่า “ข้าพเจ้า” แทนคำว่า “ผม” อีกหนึ่งวัน

ส่วนเหตุผลที่หันมาใช้คำว่า “ข้าพเจ้า” ในข้อเขียนชุดนี้ โปรดกรุณาย้อนกลับไปอ่านคอลัมน์นี้ในไทยรัฐฉบับเมื่อวานอีกครั้งนะครับ

ข้าพเจ้าเรียนท่านผู้อ่านไว้แล้วว่า ข้าพเจ้าเป็นคนอาภัพนัก ทั้งๆ ที่รักและชื่นชอบในระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่เด็กๆ ใฝ่ฝันที่จะไปออกเสียงเลือกตั้งมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยม

แต่พออายุได้เกณฑ์เลือกตั้ง บ้านเมืองของเราก็เข้าสู่ระบอบเผด็จการจากการปฏิวัติของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และสืบทอดอำนาจกันมาเรื่อยๆ จนถึง จอมพลถนอม กิตติขจร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 ปี

ต้องรอมาจนถึงปี 2518 หลังจากเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ขับไล่จอมพลถนอม และได้ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครา

มีการจัดตั้ง “สภาสนามม้า” หรือ “สมัชชาแห่งชาติ พ.ศ.2516” ประกอบด้วยบุคคลอาชีพต่างๆ รวม 2,347 คน มาเลือกตั้ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวม 299 คน เพื่อทำหน้าที่รัฐสภาของประเทศไทย และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สำหรับประเทศไทย

ต่อมาก็มีการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 และได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น ในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2518 อันเป็นวันที่ข้าพเจ้าอายุย่างเข้า 34 ปี ขาดไปเพียงไม่กี่เดือนดังกล่าว

ณ วันนั้น ข้าพเจ้าแต่งงานมีครอบครัวแล้ว และมีบุตรแล้ว 1 คน แต่เพิ่งจะมีโอกาสไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกจึงรู้สึกตื่นเต้นดีใจ และปลาบปลื้มสุดจะพรรณนาได้

จะใช้คำว่า “เห่อ” ก็คงไม่ผิดแต่ประการใด

จำได้ดีว่าบรรยากาศการเลือกตั้งในปี 2518 เต็มไปด้วยความคึกคักอันสืบเนื่องมาจากการประชาสัมพันธ์อย่างหนักของทางราชการ

มีการแต่งเพลงเชียร์และเชิญชวนให้ไปเลือกตั้ง ในวันที่ 26 มกราคม 2518 ถึง 7 เพลงด้วยกัน มีทั้งลำตัด รำวง และเพลงมาร์ช โดยลำตัดนั้นประพันธ์และขับร้องโดย “หวังเต๊ะ” ครูลำตัดที่ดังที่สุดในยุคนั้นด้วยตนเอง

ส่วนเพลงรำวงและเพลงมาร์ช ส่วนใหญ่ประพันธ์และขับร้องโดยข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งก็คือ วง “สุนทราภรณ์” นั่นเอง

ขับร้องโดย เลิศ ประสมทรัพย์, ศรีสุดา รัชตะวรรณ และ มาริษา อมาตยกุล เป็นต้น โดยมีเพลงลูกทุ่ง “เห่เลือกตั้ง” อีกเพลงหนึ่ง แต่งโดยครู พยงค์ มุกดา

ข้าพเจ้าไปใช้เสียงตั้งแต่ไก่โห่ที่เขตเลือกตั้งหน้าอาคารเรือนไทยใกล้ๆ บ้านพักของข้าพเจ้า ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นที่ทำการของ การเคหะแห่งชาติ ที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้

ดังได้กล่าวไว้แล้วว่าข้าพเจ้าปลื้มมากและเห่อมาก อุตส่าห์เก็บหัวแม่มือเปื้อนหมึกสีน้ำเงินไว้ถึง 3 วัน

ขออนุญาตไม่สรุปนะครับว่า ผลการเลือกตั้งออกมาอย่างไร

พรรคไหนชนะ พรรคไหนแพ้ และใครได้มาเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะตั้งใจจะเขียนเพียงการเลือกตั้งแห่งความทรงจำเท่านั้น

วันเวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก แพล็บเดียว 44 ปี ตัวละครที่มีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้ง 2518 ต่างก็ล่วงลับไปสู่สวรรค์เป็นส่วนใหญ่

เช่น ท่านอาจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์, ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ฯลฯ และคุณ บุญชู โรจนเสถียร เป็นต้น

รวมทั้ง “หวังเต๊ะ” หรือพ่อ หวังดี นิมา คนร้องลำตัดชวนไปเลือกตั้งครั้งนั้น (ต่อมาได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็น ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ.2531) ก็ได้ลาจากไปเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2555 สิริอายุ 87 ปี

แต่เสียงเพลงลำตัดของครูหวังเต๊ะยังคงกึกก้องอยู่ถึงทุกวันนี้ ใครอยากฟังโปรดเข้ายูทูบพิมพ์คำว่า “เพลงเชิญชวนเลือกตั้ง 26 มกราคม พ.ศ.2518” นอกจากจะได้ฟังเสียงครูหวังเต๊ะแล้ว ยังจะได้ฟังเสียงเพลงอื่นๆ ทั้งชุดครบถ้วน

ขอบคุณ Studio Yimlamai นะครับที่กรุณามาพับลิชไว้ ทำให้ข้าพเจ้าระลึกถึงวันแห่งความทรงจำของข้าพเจ้าด้วยความสุขอย่างยิ่ง (บางครั้งก็เผลอรำวงไปด้วย) ขณะเขียนต้นฉบับวันนี้

ไม่ทราบว่าการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 16 ของข้าพเจ้าจะสนุกเช่นนี้หรือไม่หนอ?

“ซูม”