คุมค่ารักษา “รพ.เอกชน” ชัยชนะยกแรกของคนป่วย

ผมขอขอบคุณและปรบมือให้แก่ท่านรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี ให้เพิ่มรายการสินค้าและบริการที่จะต้องควบคุมราคาอีก 2 รายการ และได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 22 มกราคม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ได้แก่ รายการ ยาและเวชภัณฑ์ (หมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์) และ บริการรักษาพยาบาล บริการการแพทย์ รวมทั้งบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรคของโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากคำร้องเรียนของหลายๆ ฝ่ายว่า โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ายาและค่ารักษาพยาบาลที่แพงเกินไป

แม้ต่อมาจะมีคำชี้แจงเพิ่มเติมจากรัฐบาลว่ามติดังกล่าวนี้เป็นเพียงการขึ้นบัญชีไว้ก่อนเท่านั้น ในการปฏิบัติยังจะต้องมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่ประกอบด้วยผู้แทนของผู้เกี่ยวข้องหลายๆ ฝ่าย เพื่อมาประชุมหารือแนวทางในการปฏิบัติร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง

เพื่อให้การกำหนดราคาก็ดี หรือมาตรการควบคุมต่างๆ ก็ดี บังเกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งประชาชนที่เข้าไปใช้บริการ และโรงพยาบาลเอกชนที่มีการลงทุนค่อนข้างสูงควบคู่กันไป

ทำให้ต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่าผลในทางปฏิบัติจริงๆ คือ ค่ายา ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนจะถูกลงมาแค่ไหน? เพียงใด?

หรือเผลอๆ อาจจะไม่ลดลง หรือลดนิดๆ หน่อยๆ เท่านั้น เพราะโรงพยาบาลเอกชนอาจจะมีเหตุผล มีข้ออ้างจนคณะอนุกรรมการชุดที่ว่าไม่สามารถลดค่ายา หรือค่ารักษาพยาบาลลงมาได้มากนัก

แต่ผมก็เห็นว่าสำหรับยกนี้ ซึ่งเป็นยกแรกนั้น มติ ครม.ดังกล่าวถือเป็นชัยชนะของ ประชาชนคนเจ็บป่วย ทุกคนครับ

จึงต้องขอขอบคุณ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองภาคประชาชน (คอบช.) ที่เป็นผู้จุดประเด็นและผลักดัน ตลอดจนนำเสนอเรื่องนี้ไปยังกระทรวงพาณิชย์มาตั้งแต่ต้นไว้ด้วยอีกแรงหนึ่ง

ขณะเดียวกัน ก็หวังว่าในยกต่อๆ ไป จนกระทั่งถึงยกสุดท้ายซึ่งไม่ทราบว่าจะยังอีกนานแค่ไหน ชัยชนะจะเป็นของคนไทยโดยส่วนรวมที่จะได้รับประโยชน์จากการที่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนอยู่ในอัตราที่สมเหตุสมผล และไม่สูงจนเกินไปอย่างทุกวันนี้

ผมเข้าใจดีว่าเครื่องมือแพทย์สมัยใหม่ราคาแพง ค่ายาบางอย่างก็แพงมากๆ รวมถึงในการพัฒนาโรงพยาบาลเอกชนให้ก้าวหน้าทันสมัยรักษาได้ครบทุกโรค อย่างมีประสิทธิภาพสูงต้องลงทุนสูงมาก

จำเป็นที่โรงพยาบาลเอกชนจะต้องคิดค่าบริการแพงๆ เพื่อการมีเครื่องมือที่ดีหรือมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ครบถ้วนมาประจำโรงพยาบาล

ซึ่งถ้าเป็นธุรกิจอื่นๆ คงไม่มีใครต่อว่าอะไรมากนัก เพราะในระบบทุนนิยมนั้นใครจะใช้ของดีของมีคุณภาพก็ต้องจ่ายแพงอยู่แล้ว ถือเป็นเรื่องที่ทราบกันอยู่โดยทั่วไป

แต่เผอิญธุรกิจโรงพยาบาลเป็นธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนธุรกิจประเภทอื่น เพราะมีเรื่องของมนุษยธรรมและเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคมเข้ามาเกี่ยวด้วยอย่างมาก หากไปใช้สูตรในการบริหารธุรกิจอย่างเต็มที่ก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการโดนตำหนิติติง

การบริหารอย่างกลางๆ อย่างพอดีๆ ทำกำไรให้แก่โรงพยาบาลด้วย แต่ก็ไม่ทำให้สังคมเสียความรู้สึก หรือวิจารณ์ว่าขูดรีด หรือตั้งราคาแพงเกินไป จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย

ยิ่งที่ผ่านมามีการขยายโรงพยาบาลเอกชนอย่างรวดเร็ว เป็นธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ที่มีกำไรดี ราคาหุ้นสูง สังคมไทยจึงตั้งข้อสงสัยและเคลือบแคลงใจในโรงพยาบาลเอกชนมากขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น เมื่อเริ่มมีมาตรการหรือมีกลไกที่จะควบคุมราคาหรือดูแลไม่ให้ค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนแพงเว่อร์เหมือนที่ผ่านมาตามที่ ครม.มีมติ จึงเป็นมติที่ถูกใจประชาชนทั่วไป

เสียดายอย่างเดียวท่านรัฐมนตรีพาณิชย์ปัจจุบันท่านคงต้องลาออกไปหาเสียงเต็มตัวในเร็วๆ นี้ เพราะพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกมาแล้ว

ผมก็ได้แต่หวังว่าใครที่จะมารักษาการแทนท่าน รวมไปถึงฝ่ายข้าราชการประจำของกระทรวงพาณิชย์ทุกท่านที่เกี่ยวข้องจะทำหน้าที่รับไม้ต่อ ผลักดันให้มติ ครม.ดังกล่าวเดินหน้าไปสู่การปฏิบัติโดยไม่ชักช้า

หมายถึงว่าจะต้องมียก 2 ยก 3 ตามมาอย่างรวดเร็วว่างั้นเถอะ และอย่าเป็นมวยล้มต้มคนดูอย่างเด็ดขาดเชียว เพราะมวยคู่นี้คนไทยดูทั้งประเทศ เสียงโห่ดังมากนะครับจะบอกให้.

“ซูม”